info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.197.114.92

จัดคิวประมูล 1 ล้านล้านปั๊มเศรษฐกิจ สภาพัฒน์เบรกทางคู่เฟส 2-โยกงบเยียวยาโควิด

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เปิดโพยเมกะโปรเจ็กต์ มูลค่า 1.1 ล้านล้าน คมนาคมจัดทัพประมูล รถไฟฟ้า กทม. ต่างจังหวัด ทางคู่สายใหม่ มอเตอร์เวย์ โทลล์เวย์ ทางด่วน สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูมิภาค เร่งปั๊มงบประมาณปี 2564 วงเงิน 2.2 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ “ศักดิ์สยาม” เผยทางคู่เฟส 2 รอสภาพัฒน์อนุมัติ หลังรัฐต้องดึงงบประมาณไปเยียวยาโควิด ผุดไอเดียดึงเอกชน PPP ประเดิมเส้นทางแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณปี 2564 จำนวน 227,894 ล้านบาท มีโครงการใหม่ที่ต้องเซ็นสัญญา จำนวน 9,526 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 98,265 ล้านบาท เร่งเซ็นสัญญารถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-โคราช ยังเหลือ 6 สัญญา วงเงิน 56,488 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนโครงการลงทุนเร่งด่วนประจำปี 2564 จำนวน 41 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 1.49 ล้านล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานเร่งเปิดประมูลและเริ่มงานก่อสร้าง ดึงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ดันมอเตอร์เวย์ 2.3 แสนล้าน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 กรมได้รับจัดสรรงบประมาณ 125,946 ล้านบาท โดยมีงบฯเป็นรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 120,258 ล้านบาท มีโครงการก่อสร้างสายทางใหม่ 73 โครงการ รวมระยะทาง 1,016 กม. วงเงิน 53,405 ล้านบาท เริ่มทยอยเปิดประมูลก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2564 มี 7 โครงการสำคัญที่ต้องผลักดัน วงเงิน 235,197 ล้านบาท ที่ประกอบด้วย 1.มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 109 กม. วงเงิน 79,008 ล้านบาท 2.ต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน 18 กม. วงเงิน 39,956 ล้านบาท 3.มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 26 กม. วงเงิน 33,492 ล้านบาท 4.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ 19 กม. วงเงิน 37,500 ล้านบาท

5.เร่งเซ็นสัญญางานติดตั้งและบริหารระบบเก็บเงิน (O&M) มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 39,138 ล้านบาท 6.โครงการ Rest Area 2 จุด บริเวณมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด ได้แก่ บริเวณทางแยกไป อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พื้นที่ 100 ไร่ แบ่ง 2 ฝั่งขาเข้า-ขาออก ฝั่งละ 50 ไร่ วงเงิน 1,000 ล้านบาท และบริเวณด่านบางละมุง พื้นที่ 50 ไร่ ฝั่งขาเข้า-ขาออก ฝั่งละ 25 ไร่ วงเงิน 900 ล้านบาท และ 7.ต่อขยายมอเตอร์เวย์ช่วงพัทยา-มาบตาพุด เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 3.5 กม. วงเงิน 4,200 ล้านบาท ในปีนี้จะเริ่มศึกษาและออกแบบรายละเอียด เริ่มสร้างในปี 2565 เสร็จปี 2568

ลงทุนถนนชนบท 4.4 พันล้าน

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมมีโครงการลงทุนปี 2564 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 4,403 ล้านบาท ได้แก่ 1.ขยายถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี เป็น 10 ช่องจราจร 6.8 กม. วงเงิน 903 ล้านบาท 2.เพิ่มโครงข่ายด้านโลจิสติกส์ใน จ.ปราจีนบุรี วงเงิน 1,600 ล้านบาท สร้างถนนสายแยก ทล.3452-สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ตอนที่ 1-2 ระยะทาง 25.6 กม. 3.ถนนเชื่อมอีอีซีในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ วงเงิน 1,000 ล้านบาท และ 4.ถนนผังเมืองรวม จ.มุกดาหาร วงเงิน 900 ล้านบาท จะเปิดประมูลก่อสร้างกลางปีนี้

เร่ง 2 ทางด่วน 2.8 หมื่นล้าน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.มีแผนลงทุนทางด่วน 2 โครงการ วงเงิน 28,146.22 ล้านบาท ได้แก่ 1.ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต 3.98 กม. วงเงิน 14,177.22 ล้านบาท ล่าสุดผ่านการพิจารณาการขอใช้เขานาคเกิด ในการก่อสร้างจากคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ในต้นปี 2564 จะเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่พิจารณารูปแบบ PPP จะประมูลในปีนี้

อีกโครงการเปิดประมูลใหม่ 2 สัญญา ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก คือ สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางยกระดับ จากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. ราคากลาง 6,979 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. ราคากลาง 6,990 ล้านบาท จะออกทีโออาร์ฉบับใหม่ในเดือน เม.ย. 2564

เปิดประมูลทางคู่ 2 สายใหม่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การผลักดันรถไฟทางคู่ในปี 2564 จะเริ่มต้นประมูล 2 สาย เป็นเส้นทางใหม่ ประกอบด้วย ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดประกาศทีโออาร์แล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่ง 3 สัญญา 1.เด่นชัย-งาว 103 กม. ราคากลาง 26,599.28 ล้านบาท 2.งาว-เชียงราย 132 กม. ราคากลาง 26,913.78 ล้านบาท 3.เชียงราย-เชียงของ 87 กม. ราคากลาง 19,406.43 ล้านบาท ส่วนสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม แบ่ง 2 สัญญา คือ 1.บ้านไผ่-หนองพอก 180 กม. ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท และ 2.หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท

ชะลอทางคู่เฟส 2 อีก 7 สาย

นายศักดิ์สยามยังกล่าวถึงรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ รวม 1,483 กม. วงเงิน 272,219 ล้านบาท รอการพิจารณาอนุมัติจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หลังให้คมนาคมกลับไปปรับโครงการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีจำกัด และต้องนำไปใช้ในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. 62,859.74 ล้านบาท, เด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. 56,837.78 ล้านบาท, จิระ-อุบลราชธานี 308 กม. 37,527.10 ล้านบาท, ขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. 26,663 ล้านบาท, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. 24,294.39 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา 321 กม. 57,375.43 ล้านบาท และหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. 6,661.37 ล้านบาท

“ทางคู่เฟส 2 อาจจะให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP จึงให้รถไฟไปศึกษาเพิ่มให้เสร็จในไตรมาส 1 นี้ กำชับให้เอาเส้นทางที่เอกชนสนใจมาประมูลก่อน เช่น เส้นทางแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร หรือเส้นทางที่เข้าถึงเขตเศรษฐกิจอีอีซี ซึ่งอาจจะเอาแผนแม่บทโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับมอเตอร์เวย์ด้วยก็ได้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า สิ่งที่สภาพัฒน์กังวลและเป็นที่มาที่ไม่ให้ผ่าน คือ สลอตเส้นทางรถไฟต่าง ๆ ในขณะนี้มีปัญหาด้านการใช้งานที่ไม่ค่อยเต็มประสิทธิภาพ ยังเหลือทางรถไฟที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกมาก ประกอบกับเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว มีการอนุมัติก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 1 แม้จะมีทางยาวขึ้น แต่ ร.ฟ.ท.ไม่มีแผนหลังสร้างเสร็จจะใช้ประโยชน์ทางรถไฟที่เพิ่มขึ้นอย่างไร หรือมีการนำพื้นที่สองข้างทางรถไฟ มีบางส่วนอยู่ในเขตทางของ ร.ฟ.ท.มาทำประโยชน์ พัฒนาเป็น TOD หรือไม่ สภาพัฒน์จึงให้คมนาคมกลับมาทำการบ้านต่อ

กดปุ่มประมูลรถไฟฟ้า

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า ในปีนี้จะเห็นการเปิดประมูลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง 4 เส้นทาง รวม 67,575.37 ล้านบาท (ดูตาราง) อยู่ระหว่างศึกษา PPP ที่ให้ ร.ฟ.ท.ศึกษารวมกับการเดินทางและรูปแบบการบริหารสถานีให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP และจะผลักดันสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 3,379 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และปลายปีนี้ประมูลโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. วงเงินลงทุน 35,201 ล้านบาท จะปรับแบบจากรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) เป็นแบบรถเมล์ไฟฟ้า BRT

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ปีนี้จะเร่งประมูล PPP สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 128,128 ล้านบาท ให้ได้เอกชนผู้ลงทุน และจะเริ่มสำรวจเวนคืนสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม และสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เพื่อเตรียมเปิดประมูล วงเงิน 77,358 ล้านบาท แบ่ง 6 สัญญา ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างปี 2564

ดันอาคารหลังใหม่สุวรรณภูมิ

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ด้านทางอากาศจะผลักดันโครงการ North Expansion สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,000 ล้านบาท ให้ได้รับการอนุมัติจากสภาพัฒน์ และให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) รวมขยายอาคารผู้โดยสารเดิมด้านตะวันออกและตะวันตก รวม 6,600 ล้านบาทด้วย จะรองรับผู้โดยสารได้ 120 ล้านคน/ปี

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง ทอท. เปิดเผยว่า ปี 2564 จะลงทุน 3 โครงการ รวม 55,000 ล้านบาท จะใช้เงินของ ทอท.ลงทุน ได้แก่ 1.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 สนามบินดอนเมือง พื้นที่ 155,000 ตร.ม. วงเงิน 30,000 ล้านบาท เริ่มสร้างในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ 2.อาคาร JUNCTION BUILDING พื้นที่ร้านค้าและร้านอาหาร และงานก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ช่วงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ถึงที่จอดรถด้านใต้สนามบินดอนเมือง วงเงิน 10,000 ล้านบาท จะศึกษา PPP เสร็จในปีนี้ และประมูลปี 2565 และ 3.อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 สนามบินเชียงใหม่ วงเงิน 15,000 ล้านบาท รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเดิมรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ เริ่มออกแบบรายละเอียดเดือน ก.พ. ใช้เวลา 1 ปี คาดว่าประมูลในปี 2565

ยกเครื่องสนามบินภูธร

แหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยานกล่าวว่า มีโครงการลงทุนรวม 6 โครงการ วงเงิน 4,312 ล้านบาท ได้แก่ 1.ขยายลานจอดเครื่องบิน สนามบินขอนแก่น วงเงิน 500 ล้านบาท รองรับเครื่องบินขนาด B737 จาก 5 เป็น 11 ลำ 2.ขยายรันเวย์ สนามบินตรัง วงเงิน 1,800 ล้านบาท 3.ขยายความยาวรันเวย์ แท็กซี่เวย์ และลานจอดเครื่องบิน สนามบินบุรีรัมย์ วงเงิน 950 ล้านบาท 4.เสริมความแข็งแรงรันเวย์ ก่อสร้างแท็กซี่เวย์ สนามบินสุราษฎร์ธานี วงเงิน 800 ล้านบาท 5.สร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์ สนามบินสุราษฎร์ธานี วงเงิน 131 ล้านบาท และ 6.สร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์ สนามบินอุบลราชธานี วงเงิน 131 ล้านบาท

7/1/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (7 มกราคม 2564)

Youtube Channel