info@icons.co.th 02 810 8892-6 100.26.140.179

ทะลวงเพิ่ม เส้นทางรถไฟฟ้า

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

รัฐบาลเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางอย่างต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า3แสนล้านบาทหลังเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ และสายสีทองไปเมื่อปีที่ผ่านมาเริ่มจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มีความพร้อมเปิดประมูล สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 101,100 ล้าน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แม้จะติดปัญหาอุปสรรคเจรจาเวนคืนพื้นที่ในบางทำเล แต่ มองว่า มีความพร้อม ขณะสายสีส้ม ช่วง บางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.2แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ร้อนแห่งปี2563 และมีแนวโน้ม ลากยาวมาถึงปีนี้ มองว่า ต้องรอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด เข็นม่วงใต้ประมูล ด้านความคืบหน้า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่าสายสีม่วงใต้ หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2563 แล้ว ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดและเตรียมจัดทำเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) จะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และได้ตัวผู้รับจ้างระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในธันวาคม 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 6 ปี โดยก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2570

ล่าสุดคณะกรรมการรฟม.(บอร์ดรฟม.)พิจารณาปรับลดวงเงินลงทุนในส่วนค่างานโยธาของสายสีม่วงใต้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปการขอใช้พื้นที่ของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ แต่รฟม.คาดว่าจะเปิดประมูลงานได้ทันตามแผนที่วางไว้สำหรับรูปแบบการลงทุน จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) PPP Gross cost ระยะเวลา 30 ปี รูปแบบเดียวกับสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ วงเงิน 1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น งานโยธาราว 77,385 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 15,913 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาทสายสีส้มรอศาล ขณะความคืบหน้าสายสีส้ม ที่อยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดนัดไต่สวน ระหว่างบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี และคณะกรรมการมาตรา 36 กับพวกรวม 2 คน นั้น ล่าสุด รฟม.ยืนยันตามคำอุทธรณ์ว่าคำคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลางส่งผลกระทบต่อภาพรวมโครงการ ทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากขณะนี้ รฟม. เปิดรับซองข้อเสนอเอกชนมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่ยังไม่สามารถดำเนินการเปิดซองเพื่อพิจารณาข้อเสนอได้ ดังนั้นหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การเปิดพิจารณาข้อเสนอก็จะล่าช้าออกไป เป็นเหตุกระทบต่อโครงการ กระทบต่อการเปิดให้บริการประชาชน และสร้างความเสียหาย**สีน้ำเงินไปสาย4-สีน้ำตาลอีกนาน อย่างไรก็ตาม รฟม.ยังมี โครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงบางแค – พุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ตามแผนเดิม จะเปิดประมูลในปี2564 แต่ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานต้องการดูตัวเลขผู้โดยสารที่มาใช้บริการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ที่เชื่อมกับสายสีน้ำเงินเดิมว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นจะพิจารณาอีกครั้ง มาที่สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) วงเงินลงทุน 4.8 หมื่นล้านบาท โดยใช้ตอม่อของรถไฟฟ้าร่วมกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1 และ N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ปัจจุบันคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบให้รฟม.จ้างที่ปรึกษาออกแบบฐานรากตอม่อสายสีน้ำตาลเรียบร้อยแล้ว ขณะรฟม. มีความพร้อมออกแบบฐานรากตอม่อเพื่อก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวบริเวณตอน N2 (ช่วงแยกเกษตร-นวมินทร์ ) ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) ช่วงที่มีการทับซ้อนทางด่วนขั้นที่ 3 ทั้งนี้การออกแบบฐานรากตอม่อร่วมกับกทพ.ในครั้งนี้ติดปัญหากรณีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ค้านการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 หากการเจรจาระหว่างกทพ.และมก.ไม่จบจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการฯล่าช้าออกไปอีก ซึ่งรฟม.ต้องการที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลควบคู่ไปกับทางด่วนขั้นที่ 3 เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการก่อสร้างโครงการฯ หากท้ายที่สุดแล้วเจรจาไม่สำเร็จรฟม.อาจจะต้องดำเนินการบางส่วนไปก่อน ถ้ากทพ.ได้ข้อสรุปแล้วก็สามารถดำเนินการร่วมกับรฟม.ได้ ส่วนจะกระทบต่อภาระต้นทุนโครงการฯ ของรฟม.หรือไม่ ยังสรุปไม่ได้ ซึ่งจะต้องรอผู้ที่เกี่ยวข้องสรุปข้อมูลด้วย ด้านการศึกษาทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เบื้องต้นอยู่ระหว่างดำเนินการต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ***ต่อขยายสีเหลืองหินสำหรับความคืบหน้าส่วนต่อขยายสายสีเหลืองช่วงรัชดาฯ-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 3,779 ล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ให้รฟม.ประสานข้อมูลเจรจาร่วมกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยอมรับเงื่อนไขเพิ่มเติมในกรณีที่ทบทวนขอให้ใส่เงื่อนไขเพิ่มเติมในสัญญา เรื่องการชดเชยรายได้ หาก BEM สามารถพิสูจน์ได้ว่าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินที่มีจุดเชื่อมต่อกันที่สถานีลาดพร้าว ทางบีทีเอสปฏิเสธยังไม่รับเงื่อนไขในเรื่องนี้ แต่เราคาดว่าจะสามารถดำเนินโครงการฯ ในเฟส 2 ได้เนื่องจากยังพอมีระยะเวลาดำเนินการ หากก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเส้นหลักแล้วเสร็จ ด้านมุมสะท้อนนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอสซี ย้ำความคืบหน้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ปัจจุบัน รฟม.ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสายสีชมพูล่าช้า เนื่องจากมีการปรับตำแหน่งก่อสร้างสถานีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี และสถานีนพรัตนราชธานี ทำให้บีทีเอสต้องแก้ไขรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)ใหม่โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปรับตำแหน่งสถานีดังกล่าว ขณะนี้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะทยอยเปิดเดินรถไฟฟ้าเป็นช่วงๆ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่วนสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่ผ่านมาติดปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า 2 จุด ประกอบด้วย 1.จุดตัดสะพานข้ามแยกบางกะปิ ถนนลาดพร้าว ซึ่งจุดดังกล่าวไม่มีสถานีมีแต่ทางวิ่งรถไฟฟ้าสามารถเร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จตามแผนได้ 2.บริเวณสถานีรัชดา-ลาดพร้าว เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เจ้าของพื้นที่ได้ให้เอกชนเช่าใช้ประโยชน์ต้องใช้เวลาในการเคลียร์พื้นที่ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว ส่งผลทำให้การก่อสร้างสถานีดังกล่าวล่าช้าทะลวงเพิ่ม เส้นทางรถไฟฟ้า

กทม.ลุยทองเฟส2-สีเทา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังเปิดเดินรถสายสีเขียวเหนือเติมเต็มทั้งระบบ ส่งผลให้ บีทีเอสสามารถรองรับผู้โดยสารมากกว่า 1,500,000 เที่ยวคนต่อวันด้วยระยะทางยาว68.25กิโลเมตร59สถานี ส่วนแผน สร้างส่วนต่อขยาย จากสถานีคูคตออกไปถึงลำลูกกาอีก4สถานี ต้องรอดูปริมาณผู้โดยสารอีกครั้ง รถไฟฟ้าอีกเส้นทางที่เปิดเดินรถไปแล้วสายสีทองระยะทาง 1.8 กม. มีจุดเชื่อมต่อกับการเดินทางรูปแบบต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลมที่สถานีกรุงธนบุรี เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ที่สถานีประชาธิปก และสายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) ที่สถานีคลองสาน และยังเชื่อมต่อทางน้ำ สำหรับประชาชนที่ใช้บริการเรือด่วนและเรือข้ามฟาก ทั้งนี้ ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน จะให้บริการฟรี 1 เดือน ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2563-15 มกราคม 2564 จะเริ่มเก็บค่าโดยสารคงที่ 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2564 เป็นต้นไป และคาดว่ากลางปี2564 กทม.มีแผนก่อสร้าง สายสีทองเฟส2 อีก900เมตร1สถานีที่ประชาธิปก วงเงิน1,300 ล้านบาท

ขณะสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ กทม.เตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะที่ 1 ระยะทาง 19 กม. เพื่อนำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯในรูปแบบการลงทุนพีพีพี โดยใช้งบว่าจ้างที่ปรึกษา จำนวน 29 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน นับจากลงนามสัญญาจ้าง โดยปัจจุบันจัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์)แล้ว คาดว่าจะเริ่มประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาได้ ภายในเดือนมกราคม 2564 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา แบ่งออกเป็น 3 เฟส ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะที่ 2 จากพระโขนง-ลุมพินี และระยะที่ 3 ช่วงลุมพินี-ท่าพระ รฟท.ยืดสายสีแดงนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 13 สถานี รวมสถานีกลางบางซื่อ ขณะนี้เหลืองานระบบและจัดเตรียมอบรมบุคลากรในการบริหารและซ่อมบำรุงมีความก้าวหน้า 89.10% คาดว่าจะทดสอบเดินรถเสมือนจริงเดือน มีนาคม 2564 จากนั้นเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการเดือนกรกฎาคม 2564 และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 คาดว่ามีผู้ใช้บริการ 86,000 เที่ยวคนต่อวัน เบื้องต้นให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกเป็นผู้เดินรถ ส่วนการบริหารสถานีกลางบางซื่อ ในระยะแรกทาง ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้บริหารไปก่อน สำหรับส่วนต่อขยายสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาแผนพัฒนา ให้ครอบคลุมเชื่อมต่อการเดินทางจากจังหวัดปริมณฑลด้านทิศเหนือ เข้ามายังกทม. บริเวณพื้นที่ ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี และอยุธยา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีแผนที่จะพัฒนาต่อขยายอีก 2 โครงการ ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 42,610 ล้านบาทแยกเป็นสายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.48 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,570 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

ประเมินว่าจะสามารถจัดหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนได้ในเดือนธันวาคม 2565 เริ่มก่อสร้างใช้เวลา 3 ปี สามารถเปิดให้บริการ ในเดือนธันวาคม ปี 2568 คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารราว 28,150 คน/วัน และในอนาคตจะมีการสร้างต่อขยายจาก สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ไปยังสถานีบ้านภาชี จ.อยุธยาด้วย โดยมีสถานีจำนวน 4 แห่ง คือ สถานีคลอง 1 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชียงราก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต”ส่วนรถไฟทางไกลสายใหม่เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ซึ่งจะดำเนินการ จำนวน 2 เส้นทาง ช่วง คือ 1.ช่วง อยุธยา-บ้านภาชี ระยะทาง 19.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 13,069 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับเปลี่ยนแปลง โดยมีจำนวน 4 สถานี คือ บ้านม้า มาบพระจันทร์ พระแก้ว และบ้านภาชี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงเดือนตุลาคม 2577 2. ช่วงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อยุธยา ระยะทาง 31.2 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 22,971 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายงานรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับเปลี่ยนแปลง โดยจะมี 4 สถานี เรียกว่าอนาคตกทม.กำลังกลายเป็นเมืองแห่งการเดินทางด้วยระบบราง

11/1/2564  ฐานเศรษฐกิจ (11 มกราคม 2564)

Youtube Channel