info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.206.12.31

“อนันดา” กางแผนลงทุนปี’65 ผนึกดุสิตธานีเปิดโมเดลใหม่

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

“อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ขานรับเปิดเมือง ตุนพอร์ต 8.3 หมื่นล้านสู้ศึกอสังหาฯหลังยุคโควิด กางแผนปี 2565 ลงทุนใหม่ 7 โครงการ 2.8 หมื่นล้าน ผนึก “ดุสิตธานี” ลอนช์นิวบิสซิเนสโมเดลขายคอนโดฯ สร้างเสร็จพร้อมอยู่ นำร่องแบรนด์ใหม่ “Coco Parc” พ่วงบริการโรงแรม 5 ดาว เปิดแบรนด์บ้านหรู “อาร์เทล พระราม 9” วิลล่ากลางเมือง 30-50 ล้านเจาะลูกค้าคนไทย-นักลงทุนต่างชาติ

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/64 ไปแล้ว ขณะที่นโยบายเปิดประเทศเริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 จนถึงปัจจุบันนับเป็นสัญญาณบวกมาโดยตลอด มองว่าเป็นจังหวะของการ rebound กลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติรองรับโอกาสการเติบโตที่กำลังจะมาถึง

“สถานการณ์ปัจจุบัน โควิดจบแล้ว ประเทศไทย นักธุรกิจนักลงทุนต้อง think beyond COVID คำว่าจบคือเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เป็นโรคประจำถิ่น ติดโควิดก็กินยารักษาหายได้ แต่ถ้าจะมาล็อกดาวน์อีกผมไม่เห็นด้วยเลย”

ฟื้นแลนด์แบงก์ภูเก็ต 600 ไร่

ทั้งนี้ อนันดาฯประเมินทิศทางประเทศไทยในช่วง 12 เดือนหน้า (ปี 2565) การพลิกฟื้นเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อเทียบกับยุคโควิด 2 ปี (2563-2564) จุดโฟกัสอยู่ที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มมีสัญญาณนำเงินต่างประเทศเข้ามาลงทุนรอบใหม่ รวมทั้งการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนคาดว่าต้องรอถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าไทยได้มากนัก กำลังซื้อจึงต้องพึ่งลูกค้าคนไทยเป็นหลัก จุดโฟกัสของบริษัทเน้นตลาดกลาง-บน จนถึงไฮเอนด์ และลักเซอรี่

“ในภูเก็ตเซ็กเมนต์ไฮเอนด์ระดับ 4-5 ดาว ยอดจองห้องพักเดือนธันวาคม 2564 กลับมาสูงที่ 60% แล้ว ผมมีคอนซัลต์อยู่ที่ภูเก็ต ให้เขาจับชีพจรอสังหาฯ เรามีแลนด์แบงก์ของครอบครัว 600 ไร่อยู่กลางเกาะ รอให้แผนลงทุนนิ่งคาดว่าอีกไม่นานจะประกาศเปิดตัวโครงการได้ เพราะเดี๋ยวนี้คนอยากไปอยู่ต่างจังหวัด เป็นเทรนด์การทำงานของผู้บริหารแบบ work from anywhere กำลังซื้อลูกค้าคนไทยที่ขายดีคือยูนิตละ 30-50 ล้านบาท”

กางแผนลงทุนใหม่ 7 โครงการ

อัพเดตพอร์ตของอนันดาฯ เป็นเจ้าตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า สร้างแล้ว 40,355 ยูนิต มูลค่ารวม 153,617 ล้านบาท โมเดลการเติบโตเกาะติดสถานีรถไฟฟ้ามาโดยตลอด ณ ปี 2564 เปิดบริการแล้ว 128 สถานี และภายในปี 2573 จะเปิดบริการ 300-320 สถานี หรือเท่ากับอัตราการก่อสร้างสถานีใหม่เฉลี่ย 2 สถานี/เดือน

จากแผนลงทุนภาครัฐเป็นเมกะเทรนด์และคอร์บิสซิเนสที่บริษัทต้องการรักษาสถานะการแข่งขันเอาไว้ให้ได้

“ผมมั่นใจว่าตลาดคอนโดฯติดรถไฟฟ้าจะกลับมาแน่นอน ลูกค้าเป้าหมายเป็นคนหนุ่มสาววัยทำงานระดับ upper middle เป็น young generation ซึ่งมีสัดส่วน 70-80% ของฐานลูกค้า อย่างพนักงานบิตคับ 1,000 คน ถ้ามองหาห้องชุดเราก็เป็น first choice”

โดยแผนลงทุนในปี 2565 เตรียมเปิดตัวใหม่ 7 โครงการ มูลค่ารวม 28,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 คอนโดฯกับ 2 บ้านแนวราบ ในจำนวนนี้มีคอนโดฯแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์ คือ โคโค่ พาร์ก กับคัลเจอร์ (คัลเจอร์ ทองหล่อ มูลค่าโครงการ 3,383 ล้านบาท กับคัลเจอร์ จุฬา มูลค่าโครงการ 6,031 ล้านบาท) และแบรนด์หลักคือ IDEO 2 ทำเลสะพานควายกับลำสาลี

ส่วนโครงการแนวราบ วางแผนเปิดบ้านลักเซอรี่ “อาร์เทล” พระราม 9 มูลค่าโครงการ 3,538 ล้านบาท ราคาตลาดในทำเลเปิดขายหลังละ 100-200 ล้านบาท แต่อนันดาฯเลือกที่จะแตกต่างด้วยยูนิตเริ่มต้น 30-50 ล้านบาท โฟกัสลูกค้ากลุ่มวิชาชีพ อาทิ แพทย์ นักธุรกิจซึ่งมีดีมานด์สูง

New Model ผนึกดุสิตธานี

นายชานนท์กล่าวว่า การพัฒนาโครงการหลังยุคโควิดจะต้องเป็นแผนธุรกิจที่เป็น hybrid model กลยุทธ์อนันดาฯคือ Ananda New Blue การแข่งขันของตลาดบลูโอเชี่ยนจะเข้มข้นกว่าเดิมในเซ็กเมนต์ลักเซอรี่

โดยแบรนด์ “Coco Parc” มูลค่าโครงการ 4,622 ล้านบาท ทำเลพระราม 4 (คลองเตย) เป็นครั้งแรกในการจับมือเพื่อสร้างสรรค์แบรนด์ใหม่ระหว่าง Ananda X Dusit เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าในการพักอาศัยพร้อมบริการสุดพิเศษจากโรงแรมดุสิตธานี ด้วยมาตรฐานโรงแรมห้าดาว ภายใต้คอนเซ็ปต์ Coco Parc Managed by Dusit คอนโดฯสร้างเสร็จพร้อมอยู่ก่อนเปิดขายระดับไฮเอนด์ จำนวน 486 ครอบครัว ตามแผนจะเปิดตัวไตรมาส 3/65

“Coco Parc เป็นคอนโดฯไฮไรส์ โลเกชั่นตรงข้ามสวนเบญจกิติขนาด 800 ไร่ ถ้าพูดแบบสนุก ๆ เราก็คิดว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอน มีคำพูดจากหนังฟอเรสต์กัมป์ว่า Life was like a box of chocolates. You naver know what you’re gonna get. โครงการนี้เจาะลูกค้าลักเซอรี่ที่มีไลฟ์สไตล์เป็นคนเปรี้ยว ๆ หน่อย ๆ แฟชั่นนิด ๆ ลูกค้าที่ซื้อห้องชุดเราให้บริษัทกฎหมายเบเคอร์ฯ ดีไซน์สัญญาต้องจ้างดุสิตฯ บริหาร 10 ปีแรก เพื่อให้บรรยากาศการพักอาศัยเป็นมาตรฐานของดุสิตธานี ในอนาคตเราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นตัวอย่าง ถ้าหากตอบรับดีก็สามารถขยายไปคอนโดฯในเครือได้”

ตุน 83,000 ล้านสู้ศึกปี’65

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของอนันดาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2565 อนันดาฯมีแผนธุรกิจที่พร้อมจะ rebound อย่างแข็งแกร่ง โดยมีพอร์ตรวม 48 โครงการ มูลค่ารวม 83,019 ล้านบาท มาจาก 4 ก้อนรวมกันคือ 1.โครงการลงทุนใหม่ 7 โครงการ 28,2210 ล้านบาท

2.สต๊อกสร้างเสร็จพร้อมอยู่หรือ RTM-ready to move in 34 โครงการ มูลค่า 28,000 ล้านบาท 3.โครงการใหม่ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จอีก 3 โครงการ มูลค่า 14,7980 ล้านบาท และ 4.เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 5 โครงการที่จะแล้วเสร็จพร้อมกัน มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2564 เป้ารายได้ 10,000 ล้านบาท เหลือเวลา 2 เดือนกับเป้าที่ต้องทำเพิ่มอีก 1 พันกว่าล้าน เท่ากับใช้เวลาขายเพียง 1 เดือน จึงมั่นใจว่าทำได้ตามเป้า ส่วนปี 2565 ตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% อยู่ที่ 12,000 ล้านบาท

“แผนธุรกิจอนันดาฯปีหน้า ธีม Stay Strong and Never Give up บริษัทวางแผนเติมอินเวนทอรี่ใหม่ ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ใช่เซ็กเมนต์เดิม ๆ นอกจากคอนโดฯแบรนด์ใหม่โคโค่ พาร์ก กับคัลเจอร์แล้ว มีอีกหนึ่งโครงการที่เป็นไฮไลต์ทำเลสวนลุมพินี ซึ่งพิเศษจริง ๆ เพราะมีแค่ 20 ยูนิต ราคา 100-200 ล้านบาท เปิดตัวแล้วรับรองว้าวแน่นอน”

นายประเสริฐกล่าวตอนท้ายว่า ในด้านงบการเงิน อนันดาฯปิดงบฯ ณ ไตรมาส 3/64 มีกระแสเงินสด 5,900 ล้านบาท เดือนธันวาคมนี้อยู่ระหว่างเพิ่มทุน 1,300 ล้านบาท ขณะที่เดือนมกราคม 2565 เตรียมออกหุ้นกู้ 5,000 ล้านบาท เท่ากับกระแสเงินสดรวมกันไม่ต่ำกว่า 10,900 ล้านบาท เป็นความแข็งแกร่งทั้งแผนธุรกิจ Anada New Blue และความแข็งแกร่งด้านการเงิน

24/11/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (24 พฤศจิกายน 2564)

Youtube Channel