info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.90.242.249

แสนสิริ for Net Zero พัฒนาบ้าน-คอนโด เศรษฐา ชวนแข่งรักษ์โลก-ทำความดี

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

สถานการณ์โควิด ทำให้มีเวลากลับมาตั้งหลักทบทวน business model

ยุคนี้ “ทำมาก” อย่างเดียวไม่พอ ต้อง “อธิบายเก่งมาก” อีกด้วย จึงจะเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อม

ล่าสุด แสนสิริยกแผงผู้บริหารขึ้นมานำเสนอโมเดลการทำธุรกิจในท่วงทำนองอสังหาริมทรัพย์รักษ์โลก

จุดโฟกัสอยู่ที่วันนี้ แสนสิริบอกว่าทุกคนรักษ์โลกด้วยคำพูดอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องรักษ์โลกด้วยการลงมือกระทำหรือภาคปฏิบัติอีกด้วย

เนตซีโร่-เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

นายใหญ่ค่ายแสนสิริ “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ทุกวันนี้ในการทำธุรกิจ บริษัทต่าง ๆ มีการพูดถึงโมเดล 4 เสาหลักอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย “ลูกค้า-พนักงาน-ผู้ถือหุ้น-สังคม”

ถอดรหัสออกมาก็คือพูดเรื่อง people, profit และ planet

สิ่งที่มองเห็นลึกลงไปอีกคือ นักธุรกิจโฟกัสทั้งพูดและทำอยู่ 2 เรื่องหลักคือ “people” กับ “profit” ในขณะที่ “planet” หรือโลกของเรา มีการดูแลอย่างจริงจังน้อยมาก ในขณะที่สหประชาชาติมีการพูดถึง code RED ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยระดับสูงสุดของปัญหาโลกร้อน หรือ climate change

“คำว่าโค้ดเรดเป็นไฮไลต์สำคัญ ซึ่งกระตุกและจุดประกายทำให้เราได้คิด เพราะโค้ดเรดเป็นสัญญาณเตือนภัยสูงสุด ถ้ายังไม่ทำอะไร แนวโน้มหลายเมืองต้องจมใต้บาดาล สัตว์หลายพันธุ์ต้องสูญหายไป

ในขณะที่บทบาทนักธุรกิจ เราให้ความสำคัญกับการทำกำไรสูงสุด แต่คำถามคือเราอยู่บนโลกใบนี้หรือเปล่า โค้ดเรดจึงเป็นการเตือนที่ดีมาก ทำให้ฉุกใจ ทำให้ได้คิดถึงมุมนี้”

อาการฉุกใจคิดที่เกิดขึ้นของผู้นำแสนสิริ นำไปสู่วิสัยทัศน์องค์กรในระยะสั้น-ระยะกลาง และระยะยาวโดยอัตโนมัติ และเป็นที่มาของกิจกรรม “แสนสิริ ฟอร์ เนตซีโร่”

“net zero แสนสิริต้องการเซตทาร์เก็ตตอนจบ ซึ่งอาจจะเป็นเนตซีโร่ในอีก 50 ปีหน้า ตอนนั้นผมอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ ที่แน่ ๆ ในช่วง 3-5 ปีหน้า เราต้องไปให้ถึง net zero สำหรับคนทำงาน ถ้าไปไม่ถึงไม่ใช่ความผิด แต่ความพยายามที่จะไปให้ถึงจุดนั้นได้ ผมมองว่าสำคัญกว่า”

4 แก่นหลัก-คิดใหม่ ลงทุนใหม่

โดย “เศรษฐา” ประกาศเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกในเมืองไทยที่ตั้งเป้าหมาย net zero เพื่อเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ มีการขับเคลื่อนองค์กรด้วย 4 แก่นหลัก “process-product-partner-investment” ครอบคลุมการลดคาร์บอนทุกมิติ

net zero จัดเต็มด้วยแผนระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว เป้าหมายชัดเจนว่าทุกโครงการต้องลดการเป็นภาระสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ลงมือแล้วตั้งแต่วันนี้คือรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร เปลี่ยนมาใช้รถ EV และไฟฟ้าส่องสว่างในสวนพื้นที่ส่วนกลางทุกโครงการเปลี่ยนเป็นไฟพลังงานแสงอาทิตย์หมดแล้วในปี 2564

สำหรับปี 2565 solar roof และ EV charger ในส่วนกลางทุกโครงการใหม่ พร้อม waste จากโรงงานพรีแคสต์ไม่เกิน 2% ภายในปี 2565 โดยโจทย์หลักของโรงงานพรีแคสต์ ณ วันนี้ มีเวสต์เพียง 10% ของกระบวนการผลิตในโรงงาน การมุ่งหน้าสู่เป้าหมายลดเหลือ 2% จึงอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

เป้าหมายต่อไปในปี 2573 สัดส่วน 70% ของโครงการเปิดตัวใหม่จะต้องเป็นที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน รวมทั้ง solar roof พร้อมกับ EV charger ในบ้านทุกหลัง และไฟถนนโครงการ

แก่นอีกเรื่องคือ investment แสนสิริเตรียมทุ่มงบฯลงทุน 500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี ในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน-สุขภาพ-เกษตร-อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกต่างหาก

On Going 5 ด้านหลัก

ผู้บริหารคนถัดมา “อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการของแสนสิริ ขยายความว่า ก่อนมองอนาคตอยากชวนมาดูว่าปัจจุบันแสนสิริทำอะไรไปแล้วบ้าง

พบว่า ปี 2563 ทั้ง 148 โครงการที่ขายและโอน มีแคมเปญ “เวสต์แมเนจเมนต์” บริหารจัดการขยะภายใต้แนวคิด waste to worth ทุกวันนี้ขยะในโลกเยอะขึ้นเรื่อย ๆ วิธีการทำได้คือ

เรื่องแรก reduce, reuse, recycle โดยแสนสิริมีแคมเปญที่มีผลงานในปีที่แล้วจัดเก็บขยะได้ 200 กว่าตัน หรือ 2 แสนกว่า กก. เป็นขยะที่สามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้

2.เรื่องการใช้พลังงานสะอาด จากวิสัยทัศน์ “เศรษฐา” ทำให้แสนสิริมีการติดตั้งอีวีชาร์จเจอร์ในคอนโดมิเนียมของแสนสิริแห่งแรกเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ขณะที่ปี 2563 กับรอยต่อปี 2564 มีการติดตั้งอีวีชาร์จเจอร์ให้กับบ้านเดี่ยวแบรนด์เศรษฐสิริทุกหลัง

3.“โซลาร์เซลล์” ทางเลือกใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ประหยัดมาก ปัจจุบันการติดตั้งมีจุดคุ้มทุนต่ำกว่า 10 ปีแล้ว (จากเดิมแพงมาก จุดคุ้มทุนยาว 20 ปีอัพ) จุดสาธิตพลังงานสะอาดของแสนสิริมีให้ชมที่สิริฮับ 77 ในซอยอ่อนนุช ซึ่งติดตั้งโซลาร์รูฟบนหลังคาบนพื้นที่ 70 ไร่ ซึ่งมีบล็อกเชนให้มีการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้

แสนสิริมีการขยายผลโดยนำโซลาร์เซลล์ติดตั้งในพื้นที่ส่วนกลางหมู่บ้านและคอนโดฯในเครือ

4.“ปลูกต้นไม้-กรีนแอ็กชั่น” ทั้งนี้ จากการที่แสนสิริ แคมปัส 77 ซื้อที่ดินเผื่อทำโครงการในอนาคต ทำให้มีผืนดินว่างเปล่ารอการพัฒนา เป็นที่มาของการทำโครงการใหญ่ซึ่งมีการนำไปทำในพื้นที่ส่วนกลางหลายแปลงในหมู่บ้าน ด้วยการนำ (ที่) ดินมาปลูกผักปลูกพืช เป็นประโยชน์กับลูกค้า นอกเหนือจากการเก็บการอนุรักษ์ต้นไม้ไว้ได้

5.“พรีแคสต์” โรงงานผลิตแผ่นพรีแคสต์มีองค์ประกอบที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ภาคการผลิตในโรงงานขยะจะน้อยลง จากเดิมระบบก่อสร้างจะเป็นคัสตอมเมด หรือก่อสร้างในไซต์ ทุกวันนี้ผลิตในโรงงานแทน ทำให้ลดขยะได้มหาศาล การใช้วัสดุมีการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้มีเวสต์น้อยลง โดยโรงงานของเราได้รับมาตรฐาน ISO 14001 เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ 9001 เกี่ยวกับระบบคุณภาพ

แอ็กชั่นแพลนปี 2564-2573

แก่นในเรื่อง product ที่มุ่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมื่อจัดเรียงตามลำดับเวลา มีดังนี้

2564 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการใช้รถยนต์พลังงานสะอาดด้วยการเปลี่ยนรถผู้บริหารทุกคันของบริษัทเป็นรถ EV

2565 ตั้งเป้าทุกโครงการของแสนสิริต้องใช้พลังงานสะอาด อย่างน้อยที่สุด พื้นที่ส่วนกลางของทุกโครงการใหม่จะเป็นโซลาร์รูฟ และกระบวนการผลิตของโรงงานพรีแคสต์ควบคุมขยะไม่เกิน 2%

2565 ยังเป็นปีคิกออฟในเรื่องการใช้วัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้ามีสัดส่วน 50% และเพิ่มเป็นสัดส่วน 70% ในปี 2568 ของวัสดุที่แสนสิริจะจัดซื้อในภาพรวม

2568 ตั้งเป้าติดตั้ง EV charger ในทุกโครงการ และในปีเดียวกันนี้ตั้งเป้าการก่อสร้างในทุกโครงการต้องลดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขยะจากการก่อสร้างจะนำมารีไซเคิลและรียูสได้ 70%

นอกจากนี้ การมุ่งสู่บ้านประหยัดพลังงาน โดยบ้านโครงการใหม่ของแสนสิริ 50% จะเป็นบ้านเย็นและประหยัดพลังงาน (cooliving designed home) และเพิ่มขึ้นเป็น 70% ในปี 2573 ตลอดจนบ้านแสนสิริทุกหลังต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 ทุกชิ้น และใช้หลอดไฟ LED ประหยัดพลังงานทุกดวง

รวมทั้งบ้านของแสนสิริที่เปิดตัวใหม่จะเป็นโซลาร์รูฟเกิน 50% จากนั้นปี 2573 ตั้งเป้าติดตั้งครบ 100% ทุกหลัง

ไฮไลต์ยังรวมถึงทุกโครงการแสนสิริ ต้องมีระบบ waste management เพื่อลดคาร์บอนและขยะสู่โลก โดยทุกโครงการต้องมีถังแยกขยะ (waste to worth) และมีเป้าหมายจับมือพันธมิตรเพื่อให้การแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ภาคีก๊าซเรือนกระจก-ลดคาร์บอน

ผู้บริหารมาดสมาร์ทคนสุดท้าย “สมัชชา พรหมศิริ” Chief of Staff ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม คีย์แมนโปรเจ็กต์ net zero ของแสนสิริ บอกเล่าถึงเบื้องหลังการต่อจิ๊กซอว์การทำงานกว่าจะมีวันนี้ได้ หัวใจหลักคือกระบวนการทำงานจะต้องมีตัวประเมิน ตัวชี้วัดที่ชัดเจน และเป็นมาตรการที่ถูกต้องตามมาตรฐานโลก

เรื่องแรก ต้องหาองค์ความรู้จากองค์กรทางตรง ซึ่งก็คือ “องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก” จากนั้นจะเข้าร่วม “โครงการขยายผลกิจกรรมชดเชยคาร์บอน” เพื่อสนับสนุนตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจภายในประเทศ จัดเป็นปีที่ 9 แล้วในปี 2564 หรือ TCOP9

“ปีนี้แสนสิริแสดงเจตจำนงเข้าร่วม TCOP9 โดยปี 2565 จะขยายผลเนตซีโร่เข้าไปอยู่ในภาคีนี้ เพราะการทำกิจกรรมรักษ์โลกต้องจับโจทย์ให้ชัดเจน จากเดิมแสนสิริจับในมุมมองของเรา การแสวงหาพันธมิตรจะเพิ่มมุมมองที่อาจบอกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งคิดว่าเป็นสเต็ปสำคัญในการก้าวสู่การเป็นอสังหาฯเนตซีโร่ด้วย”

อยากเห็นสถาบันการเงินให้แต้มต่อ

“สมัชชา” มองไกลไปถึงห่วงโซ่อุปทานกับการมีส่วนร่วมของพันธมิตร-partner ภาพที่ชวนกันคิดคือ ต่อไปนี้ เมื่อแสนสิริเข้าไปจอยต์กับองค์การก๊าซเรือนกระจก องค์ความรู้ที่ได้จะนำมาแบ่งปันให้กับคู่ค้าที่อาจยังมองไม่เห็นความสำคัญเรื่องนี้มากเท่าไหร่

หรือกรณีพันธมิตรบางรายล้ำหน้าไปมากกว่าแสนสิริเอง เช่น เอสซีจี ที่ผลิตวัสดุทุกอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ความจริงจังในเรื่องนี้ แสนสิริมองไปถึงการดึงพันธมิตรให้มาอยู่ในอีโคซิสเต็มเดียวกัน อาจต้องมีการทำข้อตกลงร่วม หรือ MOU เพื่อให้กิจกรรมรักและถนอมโลกใบนี้มีความชัดเจน โปร่งใส ให้มากที่สุด

ไฮไลต์ยังรวมถึงบริษัทเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ให้กับดีเวลอปเปอร์และผู้บริโภคอสังหาฯ ในลักษณะให้แต้มต่อแพ็กเกจเงินกู้ เช่น ดอกเบี้ยอัตราพิเศษทั้งพรีไฟแนนซ์ (สินเชื่อผู้ประกอบการ) และโพสต์ไฟแนนซ์ (สินเชื่อผู้ซื้อ)

แข่งรักษ์โลก-แข่งทำความดี

ประเด็นแหล่งเงินกู้ “เศรษฐา” เสริมเพิ่มเติมว่า ดีเวลอปเปอร์ทุกบริษัทที่ทำสินค้ารักษ์โลก อาทิ สวนสีเขียว อีวีชาร์จเจอร์ โซลาร์รูฟ ฯลฯ น่าจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมทำให้โลกดีขึ้น

และมองไปไกลกว่านั้น going forward มีข้อเสนอถึงนโยบายรัฐบาลด้วยว่า องค์กรใดที่เกี่ยวข้องกรีนแอ็กชั่น และต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรมีข้อยกเว้นเพื่อให้สามารถเข้ามาจดทะเบียนได้สะดวกมากขึ้น เท่ากับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรและประเทศโดยตรง

“เศรษฐา” กล่าวถึงการรับรู้ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยด้วยว่า มีทิศทางที่เป็นสัญญาณบวกมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ เหตุผลอาจมาจากปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เทรนด์การใช้โซลาร์รูฟและรถยนต์อีวี ซึ่งทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นหน้าที่รัฐบาลที่ควรจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

“กิจกรรมเนตซีโร่เราไม่ได้แข่งขันกันสร้างกำไร แต่เป็นการแข่งขันกันสร้างความดี ผมยินดีถ้าบริษัทอื่นจะเป็นบริษัทแรกที่ทำก่อนแสนสิริ ผมถือว่าเรามาแข่งกันทำความดี”

ความหมายคือแข่งกันทำความดีให้กับสิ่งแวดล้อม ให้กับประเทศไทย และแข่งกันทำให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน

7/12/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (7 ธันวาคม 2564)

Youtube Channel