info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.119.139.59

เล็งปรับเส้นทางใหม่มอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ 7.9 หมื่นล้าน จ่อสะดุด

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

ทล.เตรียมปรับแนวเส้นทางใหม่ หลังบอร์ดPPPตีกลับ สั่งทบทวน-แก้ปัญหาสร้างมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ เหตุประชาชนในพื้นที่เพชบุรี-ชะอำ ค้านหนักรุกที่ดิน เร่งเปิดประมูลงานโยธาปลายปี 65

“มอเตอร์เวย์สายสายนครปฐม-ชะอำ” ถือเป็น 1 ในเมกะโปรเจคต์ของกระทรวงคมนาคมที่เร่งผลักดันให้ กรมทางหลวงก่อสร้างโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันเป็นเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่น หากดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้จะทำให้โครงการฯนี้สามารถเชื่อมต่อแนวเส้นทางลงสู่ภาคใต้และเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ได้ในอนาคต

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) ได้ส่งหนังสือตอบกลับให้กรมฯทบทวนศึกษาผลกระทบรูปแบบการก่อสร้างโครงการฯ ที่ผ่านมาคณะกรรมการพีพีพีเคยมีมติอนุมัติโครงการฯเมื่อปี 2561 แต่ปัจจุบันพื้นที่บริเวณโครงการฯมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งยังพบว่ามีปัญหาบริเวณพื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับแนวเส้นทางโครงการฯ ที่อาจส่งผลกระทบพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัย เบื้องต้นชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอให้กรมฯดำเนินการเปลี่ยนแนวเส้นทางช่วงเพชรบุรี-ชะอำ เพื่อก่อสร้างโครงการดังกล่าว

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนโครงการฯ อีกครั้ง หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในต้นปี 2565 เพื่อดำเนินการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ช่วงแรกก่อน เพราะไม่ได้ติดปัญหาอุปสรรคแต่อย่างใด หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อรายงานให้คณะกรรมการพีพีพีเห็นชอบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2565 หลังจากนั้นจะเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธาในรูปแบบ PPP ภายในช่วงปลายปี 2565 เริ่มก่อสร้างปลายปี 2565 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2568 ส่วนช่วงปากท่อ-ชะอำ จะดำเนินการหลังจากจากดำเนินการก่อสร้างช่วงนครปฐม-ปากท่อ เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่ผ่านจังหวัดเพชรบุรีและชะอำ ทำให้กรมฯต้องทบทวนรูปแบบการก่อสร้างแนวเส้นทางใหม่เพื่อลดผลกระทบการเกิดน้ำท่วมให้กับประชาชนในพื้นที่ที่กังวลจากการก่อสร้างโครงการฯ

ขณะเดียวกันโครงการฯ จะมีการเวนคืนที่ดินบริเวณแนวเส้นทางใหม่ เนื่องจากการก่อสร้างโครงการฯเป็นเส้นทางที่เป็นพื้นที่แนวใหม่ อีกทั้งยังมีประชาชนในพื้นที่หลายชุมชนที่คัดค้านการก่อสร้างแนวเส้นทางโครงการฯ เบื้องต้นกรมฯจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบและหาแนวทางการก่อสร้างโครงการฯ หากประชาชนเห็นด้วยกับแนวเส้นทาง กรมฯจะเดินหน้าตามแนวเส้นทางที่ได้ดำเนินการออกแบบไว้ แต่ถ้าประชาชนคัดค้านกับแนวเส้นทางนั้นๆ กรมฯจะเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ดำเนินการแนวเส้นทางใดเพื่อก่อสร้างโครงการฯ

“หากท้ายที่สุดแล้วไม่สามารถก่อสร้างตามแนวเส้นทางที่กรมฯออกแบบไว้ได้อาจต้องเปลี่ยนแนวเส้นทางโครงการฯ เบื้องต้นพบว่าประชาชนบางส่วนต้องการให้กรมฯใช้แนวเส้นทางบริเวณทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงถนนเพชรเกษม แต่ทางกรมฯเล็งเห็นว่า หากต้องการให้แนวเส้นทางโครงการฯมีความมั่นคงควรมีทางเลือกในกรณีที่เส้นทางช่วงถนนเพชรเกษมเกิดปัญหา ก็ควรต้องมีเส้นทางที่เป็นทางเลือกลงสู่ภาคใต้ได้ ทำให้กรมฯต้องดำเนินการก่อสร้างในแนวส้นทางใหม่”

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงการมอเตอร์เวย์สายดังกล่าว เนื่องจากโครงการยังไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธา หากถึงช่วงเวลาการก่อสร้างยังมีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางกรมฯจะต้องมีมาตรการป้องกันในการดำเนินการก่อสร้างอย่างรัดกุม

ที่ผ่านมากรมฯได้สำรวจและประเมินพื้นที่เวนคืนที่ดิน ได้ดำเนินการแล้ว ปัจจุบันทล.ได้จ้างที่ปรึกษาสำรวจประเมินอสังหาริมทรัพย์แล้วเสร็จ เบื้องต้นวงเงินเวนคืน 18,291 ล้านบาท ที่ดิน 3,416 ล้านบาท สิ่งปลูกสร้าง 1,700 หลังคาเรือน ต้นไม้ 735 ต้น ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย ราชบุรี,สมุทรสงคราม,นครปฐม,เพชรบุรี

สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงิน 79,006 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง 1.ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 63 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 51,760 ล้านบาท 2.ช่วงปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง 46 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 27,246 ล้านบาท ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเชื่อมมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่อำเภอนครชัยศรี ผ่านจังหวัดราชบุรีและจังหวัดสมุทรสงคราม สิ้นสุดที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ขนาด 4 ช่องจราจร ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 41 ตำบล 31 อำเภอ โดยมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง 1.ด่านนครชัยศรี 2.ด่านตลาดจินดา 3.ด่านบางแพ 4.ด่านราชบุรี 5.ด่านวัดเพลง 6.ด่านปากท่อ1 7.ด่านปากท่อ2 8.ด่านเขาย้อย และ 9.ด่านท่ายาง

10/12/2564  ฐานเศรษฐกิจ (10 ธันวาคม 2564)

Youtube Channel