info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.16.76.43

ผุด “เดอะ เมกะวัตต์” MILL แตกไลน์สู่โรงไฟฟ้าขยะ

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

การกลับมาในครั้งนี้ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับ “สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล” ประธานคณะกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กครบวงจร ที่หายหน้าจากวงการเหล็กจากคดีความเรื่องหุ้นนานถึง 3 ปี

โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแผนยุทธศาสตร์กลุ่มมิลล์คอนปี 2565 ซึ่งตั้งเป้าหมายรายได้จะเติบโตเท่าตัวจาก 10,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท จากธุรกิจหลักเหล็กที่จะมียอดขายประมาณ 1.2 ล้านตัน

ตามแนวโน้มความต้องการใช้และราคาเหล็กยังอยู่ระดับสูงขึ้นทั่วโลก นับจาก “จีน” เบอร์ 1 อุตสาหกรรมเหล็กโลกมีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ยกเลิกนโยบายคืนภาษีส่งออกและความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศไทยน่าจะมีประมาณ 18-19 ล้านตันจากการลงทุนก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมียอดการผลิตรถยนต์จาก 1.6 ล้านคันจากปีนี้เป็น 1.8 ล้านคัน

อนาคต MILL เตรียมแผนจะขยายการลงทุนพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ “เหล็กคุณภาพสูง” ที่มีมูลค่าสูงใน 3-5 ปีข้างหน้า

แต่ที่น่าสนใจ คือ “MILL” เตรียมขยับไปลงทุนธุรกิจใหม่โรงไฟฟ้าขยะ โดยได้ร่วมลงทุนถือหุ้น 26% ในบริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จำกัด และอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่าปี 2565 จะเห็นภาพรายละเอียดชัดเจน

และขณะนี้ MILL ได้เริ่มต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจใหม่กับธุรกิจเดิมด้วยการดึงวัตถุดิบเหลือใช้จากโรงงานเหล็กมาเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้า โดยผ่านบริษัทลูก “ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน” มีปริมาณ 150-250 ตัน/วัน และในอนาคตหากโรงไฟฟ้าเริ่มขยับ MILL จะขยายการรับซื้อวัตถุดิบไปยังโรงงานอุตสาหกรรมอื่นในพื้นที่

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อป ขนาด 60 เมกะวัตต์ด้วย

นายสิทธิชัยย้ำว่า เทรนด์การทำธุรกิจด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก ซึ่งที่ผ่านมากลุ่ม MILL ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน จากเดิมที่บริษัทมีธุรกิจบริหารจัดการเศษเหล็กและซื้อขายเศษเหล็ก แต่เป้าหมายหลักคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก decarbonization มุ่งสู่การเป็นคาร์บอนนิวทรัล

โดยได้มีการปรับเปลี่ยนไปหานวัตกรรมใหม่มาบริหารจัดการเศษเหล็ก บดย่อยเศษเหล็กให้เล็กลงก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการหลอมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานการหลอม (recycle process) ปรุงแต่งให้มีความบริสุทธิ์ก่อนจะนำกลับมาใช้ใหม่

และคัดแยกชิ้นส่วนอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ลดการสูญเสียและสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่คือการเป็น green steel ในที่สุด

11/12/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (11 ธันวาคม 2564)

Youtube Channel