info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.201.99.133

กทม.เร่งสรุปแผนแม่บทรถไฟฟ้า LRT “บางนา-สุวรรณภูมิ” ต้นปี 2565

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

คืบทีละกระดึ๊บ กทม.เร่งสรุปมาสเตอร์แพลนรถไฟฟ้า “LRT บางนา-สุวรรณภูมิ” 2.78 หมื่นล้านต้นปี 2565 ชงประมูลสร้างปี 2566

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กลางเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กทม.ได้จัดสัมมนาทดสอบความสนใจของภาคเอกชนในการลงทุน (market sounding seminar) โครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (light rail transit) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงินลงทุน 27,892 ล้านบาท

โดยที่ปรึกษาโครงการนำเสนอผลศึกษาข้อมูลโครงการและรูปแบบการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ดังนี้ โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มี 14 สถานี เชื่อมต่อการเดินทางกรุงเทพฯ กับ จ.สมุทรปราการ โดยเป็น 2 เฟส เริ่มจากเฟส 1 ช่วงแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กิโลเมตร, เฟส 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิใต้ 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร

รูปแบบสถานีแบ่ง 3 ประเภท คือ “ประเภท A” สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาเดี่ยว 9 สถานี ได้แก่ สถานีประภามนตรี สถานีบางนา-ตราด 7 สถานีศรีเอี่ยม สถานีบางนา-ตราด 6 สถานีบางแก้ว สถานีบางสลุด สถานีกิ่งแก้ว สถานีมหาวิทยาลัยเกริก สถานีสุวรรณภูมิใต้

“ประเภท B” สถานียกระดับที่รองรับด้วยเสาคู่ จะก่อสร้างในกรณีที่ไม่สามารถวางตำแหน่งเสาเดี่ยวได้ 4 สถานี ได้แก่ สถานีบางนา-ตราด 2 สถานีเปรมฤทัย สถานีกาญจนาภิเษก สถานีธนาซิตี้

“ประเภท C” สถานีระดับดิน ออกแบบตามข้อจำกัดด้านกายภาพของพื้นที่ โดยชั้นจำหน่ายตั๋วอยู่ระดับดิน มี 1 สถานีที่สถานีบางนา สามารถใช้สกายวอล์กเดินเชื่อมกับสถานีบางนาของโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้

รูปแบบเป็นรถไฟฟ้ารางเบา ขนาดราง 1.435 เมตร ความเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ 1 ชั่วโมง, 1 ขบวนสูงสุดมี 4 ตู้ รองรับผู้โดยสาร 15,000-30,000 คน/ชั่วโมง เมื่อเปิดให้บริการในปี 2572

คาดว่ามีประชาชนเข้ามาใช้บริการ 56,170 คน-เที่ยว/วัน ปี 2576 เพิ่มเป็น 113,979 คน-เที่ยว/วัน และในปี 2578 กรณี บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้านทิศใต้ คาดว่าผู้ใช้บริการเพิ่มเป็น 138,984 คน-เที่ยว/วัน

สำหรับการลงทุน เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมดำเนินงานใน 3 ลักษณะ 1.PPP net cost รัฐเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาโครงการทั้งหมด และเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ, ดำเนินการและบำรุงรักษาเอกชน โดยรัฐให้สิทธิ์แก่เอกชนเป็นผู้รับรายได้และเอกชนจ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้แก่รัฐ

2.PPP gross cost รัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด และเป็นผู้ซื้อรถไฟและก่อสร้างงานระบบ รัฐเป็นผู้รับรายได้ผ่านเอกชนและเป็นผู้กำหนดจ่ายผลประโยชน์แก่เอกชนในรูปแบบค่าจ้าง ตามระยะเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

3.PPP modified gross cost ลักษณะคล้ายกับ PPP gross cost มีเงื่อนไขแตกต่างในเรื่องเอกชนจะได้รับผลตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมภายใต้กลไกการแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ได้ตกลงกัน

นายประพาสกล่าวว่า ปัจจุบันโครงการมีความพร้อมในการดำเนินการสูง คาดว่าจะสรุปรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมได้ภายในต้นปี 2565 พร้อมเสนอขออนุมัติโครงการภายในปี 2566 ไทม์ไลน์จากนั้นเปิดให้เอกชนยื่นประมูลในปี 2567 ใช้เวลาเวนคืนที่ดินและก่อสร้าง 4 ปี (2568-2571) คาดว่าเปิดให้บริการปี 2572

ในอนาคต LRT บางนา-สุวรรณภูมิมีจุดเชื่อมต่อกับ 3 รถไฟฟ้า ได้แก่ สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีบางนา, สายสีเหลือง พัฒนาการ-สำโรง ที่สถานีศรีเอี่ยม และเชื่อมต่อเพื่อเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่สถานีสุวรรณภูมิใต้

28/12/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (28 ธันวาคม 2564)

Youtube Channel