info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.116.8.110

“สิงห์ เอสเตท” เร่งเครื่องโตก้าวกระโดด รุกนิคมอุตฯ-โรงไฟฟ้าเสริมแกร่งอสังหา

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

ล่าสุดเป็นคิวความเคลื่อนไหวคอร์ปอเรตอสังหาฯของ “ตระกูลภิรมย์ภักดี” ค่ายสิงห์ เอสเตท หรือ S ออกตัวแรงด้วยการประกาศเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวภายในเวลา 3 ปีนับจากนี้ (2564-2566)

“ภิรมย์ภักดี” พร้อมผงาดเวทีโลก

โดย “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดฟลอร์การลงทุนบริษัทว่า ปีนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญและกำลังเข้าสู่เฟสต่อไปของการพัฒนาธุรกิจของสิงห์ เอสเตท โดยวางแผนและเตรียมความพร้อมเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อมาต่อยอดและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เป้าหมายใหญ่เพื่อนำ “สิงห์ เอสเตท” ก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำองค์กรธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทย ด้วยการผนึกกำลังธุรกิจ “อสังหาริมทรัพย์-ผลิตกระแสไฟฟ้า-บริการที่เกี่ยวเนื่อง” สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด และสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

นั่นหมายความว่า สิงห์ เอสเตทหนึ่งในบิ๊กแบรนด์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย กำลังเดินหน้าแผนเชิงกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ เพื่อเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอสังหาฯของบริษัท โดยเตรียมรุกเข้าสู่ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ

“ในช่วงที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการนำบริษัทออกเดินทางจากจุดเริ่มต้นในฐานะบริษัทของครอบครัว มีการจัดระเบียบโครงสร้างการบริหารจัดการสินทรัพย์และดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล มาสู่การเป็นบริษัทมหาชนที่มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ มีสินทรัพย์อยู่ในธุรกิจอสังหาฯหลากหลายประเภท กระจายพอร์ตการลงทุนอยู่ในหลายภูมิภาค สำหรับตอนนี้เมื่อเรามองไปที่เส้นทางข้างหน้า เราเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทยซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจของสิงห์ เอสเตท ในขณะเดียวกัน เรายังเดินหน้ามองหาโอกาสที่จะสร้างการเติบโตใหม่ ๆ ในระดับโลกไปพร้อมกันด้วย”

3 ปีเร่งเครื่องโตกระฉูด 3 เท่า

คีย์แมนผู้ที่จะทำให้เป้าหมายองค์กรเกิดขึ้นได้จริง “ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตทกล่าวเพิ่มเติมว่า สิงห์ เอสเตทตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จากรายได้ตัวเลขกลม ๆ 6,500 ล้านบาทในปี 2563 มุ่งสู่เป้ารายได้ 20,000 ล้านบาท/ปี ภายในระยะเวลา 3 ปี (2564-2566)

เป้าทางธุรกิจที่ท้าทายยังรวมถึงสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 65,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 เพิ่มทวีเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 80,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 และแน่นอนว่าเมื่อเพิ่มทั้งรายได้และมูลค่าทรัพย์สินให้กับองค์กรแล้ว บริษัทมีการตั้งเป้าเพิ่มอัตราผลกำไรในการทำธุรกิจด้วย

“บิสซิเนสโมเดลของสิงห์ เอสเตทเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งจากการพัฒนาโครงการขนาดยักษ์หลากหลายโครงการในประเทศไทย และการเดินหน้าบูรณาการธุรกิจต่าง ๆ เข้าด้วยกันภายใต้วิสัยทัศน์อย่างมืออาชีพ โดยผนึกกำลังธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม เข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจให้บริการด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ซึ่งจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ภายใต้โมเดลการลงทุนนี้จึงมั่นใจว่าสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจให้บริษัทได้อย่างมหาศาล ที่สำคัญเพิ่มความสามารถในการคว้าโอกาสทางธุรกิจใหญ่ ๆ ที่กำลังจะมีเข้ามาในอนาคต”

4 กลุ่มธุรกิจลงทุนเติบโตยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นบทพิสูจน์และยืนยันการตัดสินใจที่ถูกต้องของบริษัทในการวางโครงสร้างธุรกิจเป็น 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างสอดคล้องลงตัว โดยมีคีย์คอนเซ็ปต์ที่บริษัทยึดมั่นเป็นเสมือนเข็มทิศในการลงทุนที่ว่า “…ทุก ๆ เป้าหมายการลงทุนเพื่อจะทำให้บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดาทั้งในประเทศและทั่วโลก”

สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา บนสถานการณ์โควิดครั้งแรกพบว่า ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตทประกอบด้วย 1.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 2.ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และ 3.ธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วน 96% ของรายได้บริษัททั้งหมด

“เราคาดหวังว่าจากนี้เป็นต้นไปกลุ่มธุรกิจที่ 4 จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและต่อยอดธุรกิจอสังหาฯที่เป็นแกนหลักมาแต่เดิม และจะสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทได้ในระยะยาว” นางฐิติมากล่าว

ถอดรหัสการลงทุนภายใต้โมเดล 4 กลุ่มธุรกิจหลักจากอสังหาฯเพื่อขาย คือ ที่อยู่อาศัย, อสังหาฯ คอมเมอร์เชียลที่ประกอบด้วยพื้นที่รีเทลกับออฟฟิศบิลดิ้ง และอสังหาฯเพื่อการพักผ่อนที่มีโรงแรมและรีสอร์ต มีมูลค่าทรัพย์สิน 65,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

การแตกไลน์เพิ่มพอร์ตลงทุนอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรมและพลังงานซึ่งเป็นเทรนด์การลงทุนในโลกยุคใหม่ ทำให้สิงห์ เอสเตทมี selling point ที่โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งขัน นอกจากจะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจเกี่ยวเนื่องใหม่ ๆ ในโลกการทำธุรกิจหลังยุคโควิดที่ต้องเซตซีโร่กันตั้งแต่การลงทุนต้นน้ำ-กลางน้ำไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำ

ไฮไลต์สำคัญยังรวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้รอบด้าน เพราะบริษัทสามารถใช้ทรัพยากรภายในองค์กรร่วมกัน เพื่อบูรณาการธุรกิจให้เติบโตไปพร้อม ๆ กัน และเมื่อบริษัทสามารถเติมเต็ม “หลังบ้าน” ใน 4 กลุ่มธุรกิจหลักให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผลลัพธ์ปลายทางย่อมคาดหมายความสำเร็จของ “หน้าบ้าน” ได้ว่าสิงห์ เอสเตทมีโมเดลการลงทุนที่สามารถสร้างรายได้ประจำสม่ำเสมอและตลอดไป

“ด้วยความแข็งแกร่งทางการเงินของเราจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำมากในอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.96 เท่า ประกอบกับสิงห์ฯมีเครดิตดี สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีก 25,000 ล้านบาท ทำให้นาทีนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะเดินหน้ากลุ่มธุรกิจที่ 4 ของเรา” คำกล่าวของ CEO “ฐิติมา”

โมเดล Resilient Business

การประกาศความพร้อมในการก้าวขึ้นเป็นองค์กรธุรกิจระดับโลก มาพร้อมกับการวางแผนยุทธศาสตร์การลงทุนในสไตล์บริษัทข้ามชาติอย่างเต็มรูปแบบ “ฐิติมา” ระบุว่า สิงห์ เอสเตทกำลังศึกษาแนวคิดและวิธีใหม่ ๆ ระดับโลกสำหรับนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของบริษัท

มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ (resilient business)

“ปี 2564 เป็นต้นไป สิงห์ เอสเตทมีเป้าหมายที่จะแสวงหาความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น” คำกล่าวของ CEO ฐิติมาที่เป็นทั้งการประกาศนโยบายและคำเชิญชวนพันธมิตรธุรกิจในอนาคต

เปิดพอร์ตทรัพย์สิน 65,000 ล้าน

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สิงห์ เอสเตทสร้างการเติบโตด้วยพอร์ตการลงทุนที่กล่าวได้ว่าสร้างสีสันให้กับวงการอสังหาฯในมหานครกรุงเทพ ซึ่งเป็นเมืองหลวงชั้นนำอีกเมืองหนึ่งของโลก เน้นให้มีความหลากหลายทั้งพื้นที่ค้าปลีก สำนักงานให้เช่า โรงแรม และธุรกิจที่พักอาศัย วางกลยุทธ์การแข่งขันเน้นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทลงทุนและโฮลดิ้งระดับโลก

ล่าสุด ณ สิ้นปี 2563 พอร์ตทรัพย์สินของสิงห์ เอสเตท มูลค่ารวม 65,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ได้แก่ พื้นที่อาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกรวม 140,000 ตารางเมตร สร้างรายได้ให้กับบริษัทในสัดส่วน 15% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563

นอกจากนั้น บริษัทยังมีโรงแรมและรีสอร์ต 39 แห่งกระจายอยู่ใน 5 ประเทศ มีห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง สร้างรายได้ในสัดส่วน 24% และมีโครงการที่พักอาศัย 23 โครงการ ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยแนวราบและคอนโดมิเนียม เช่น บ้านระดับซูเปอร์ลักเซอรี่แบรนด์สันติบุรี, คอนโดฯลักเซอรี่แบรนด์ The ESSE และแบรนด์อื่น ๆ ซึ่งสร้างรายได้สัดส่วนมากที่สุด 57% ของรายได้ทั้งหมด (ดูกราฟิกประกอบ)

ปี 2564 บริษัท kick off แผนธุรกิจแตกไลน์การลงทุนสู่ new investment ตั้งเป้าพอร์ตทรัพย์สินรวมเพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท ภายในปี 2566

5/3/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (5 มีนาคม 2564)

Youtube Channel