info@icons.co.th 02 810 8892-6 100.26.135.252

กนอ.เร่งเครื่องนิคมฯอุดร ดึงเม็ดเงินลงทุนกว่า2.2หมื่นล้าน

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า?เมื่อเร็วๆนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี พื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการฯ ประมาณ 6,000 ล้านบาท

?กนอ.ได้รายงานว่ากำลังเร่งดำเนินการเฟสแรก ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค พื้นที่กว่า 1,300 ไร่ เช่น การพัฒนาถนนและองค์ประกอบถนน งานระบบระบายน้ำฝน งานระบบน้ำเสีย งานระบบประปา ของถนนสายต่างๆในพื้นที่นิคมฯ รวมระยะทาง 5.67 กิโลเมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 75%

ทั้งนี้ตามแผนจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 รวมถึงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ ปาร์ค พื้นที่ 600 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในส่วนของการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 1 (2564-2565) ล่าสุดอาคารคลังสินค้าทั้ง 3 หลัง รวมพื้นที่ 23,160 ตารางเมตร พร้อมเปิดให้เช่าแล้ว

จุดเด่นโครงการฯ คืออยู่ในทำเลที่เป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่อยู่ในแนวเส้นทาง One Belt One Road ที่เชื่อมโยงและเป็นประตูระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV และจีนตอนใต้ ผ่านเส้นทาง R3A R12 B9 และ B 8 ระบบรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย และล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 ที่จะขยายจากนครราชสีมาถึงหนองคาย เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวที่ขณะนี้ คืบหน้าไปมาก ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกที่ทำให้นิคมฯมีแรงดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น คือ การที่อุดรธานีได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(Northeastern Economic Corridor-NeEC) และทำให้โครงการนิคมฯ ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นโอกาสและศักยภาพที่ดีในการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น

“เชื่อว่าหลังโควิด-19 คลี่คลายและเปิดประเทศให้มีการเข้า-ออกได้ตามปกติ จะมี นักลงทุนเข้ามาลงทุนซึ่งนิคมฯแห่งนี้ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนในภูมิภาค ที่ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาทและเกิดการจ้างงาน( ในนิคมฯ) ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และ 60,000 คน (นอกนิคมฯ) และมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นประมาณ 100 โรงขณะเดียวกันจะสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย”นางสาวสมจิณณ์?กล่าว

6/4/2564  แนวหน้า (6 เมษายน 2564)

Youtube Channel