info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.222.117.109

ซีอีโอ “วินด์ เอนเนอร์ยี่” กางแผนลงทุน 1.5 หมื่นล้าน

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

พลังงานไฟฟ้าลม หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (renewable) ซึ่งเป็นเทรนด์พลังงานอนาคตที่ยังมีโอกาสสูง ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจเติบโตด้วยอัตราการทำกำไรกว่า 40% คู่แข่งหน้าใหม่น้อย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ” ที่ก้าวจากตำแหน่งรองประธานขึ้นรับไม้ต่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เบอร์หนึ่งในธุรกิจพลังงานลมถึงแผนการลงทุน 15,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ไม่ค่อยดี ถ้าเรามองปี 2562 (2019) รายได้ 12,000 ล้านบาท กำไรเกือบ 6,000 ล้านบาท ส่วนปี 2563 รายได้ 9,900 ล้านบาท กำไร 4,200 ล้านบาท หายไปจากหลัก ๆ เป็นเรื่องของ “ลม” ที่ลดลง 10-20%

แต่มาในปีนี้ได้เข้าไปปรับโครงสร้างต้นทุน เพราะแบ็กกราวนด์ก่อนจะมารับตำแหน่งเคยเป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มพลังงาน เคยอยู่ในทีม EGAT ช่วยทำ PDP ปี 2018 และเคยไปช่วยบริษัทที่มาเลเซีย ดังนั้น สิ่งที่มองว่าทำได้เร็ว คือ ปรับโครงสร้างต้นทุน ซึ่งไม่ใช่เป็นการลดคน แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยไม่ได้มองว่าต้นทุนจะมากน้อยอย่างไร แต่มองว่าผลที่ได้จากต้นทุนนั้นเหมาะสมหรือไม่ ตรงกันข้ามมีรีครูตคนเพิ่มด้วย

“คอสต์อาจจะไม่ได้ดีมาก เพราะว่าเราจ้างคนเพิ่ม แต่รีเวนิวดีขึ้นแน่นอน พอปรับแล้ว ทำให้ Q1 มีโปรฟิตมาร์จิ้น สูง 52-53% ไม่เคยมีมาก่อน ปกติจะ 44-45 บวกกับลมปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว จึงคาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้น่าจะใกล้กับปี 2562 ประมาณ 12,000 ล้านบาท”

สเต็ปลงทุน 3 ปี สู่พันเมกะวัตต์

ปัจจุบันได้มีการขายไฟเข้าสู่ระบบ (COD) ครบ 717 เมกะวัตต์แล้ว เราจะลงทุนต่อให้ครบ 1,000 เมกะวัตต์ใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยงบประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมองหาสถานที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ

ในประเทศหลักสำคัญอยู่ที่รอ PPA รอไฟเขียวจากภาครัฐ ความชัดเจนหลังปรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ดังนั้น จึงไม่โฟกัสที่ประเทศไทย แต่โฟกัสที่ต่างประเทศที่ดูไว้ทั้งเวียดนาม และเมียนมา รวมถึงนอกอาเซียน เพื่อกระจายความเสี่ยงแหล่ง “ลม” โดยจะเน้นลงทุนแบบกรีนฟีลด์ คือเริ่มเข้าไปตั้งแต่สำรวจ ตามไทม์ไลน์ต้นปีหน้าอาจมีโครงการใหม่

“อีกมุมหนึ่งก็ดูว่าจะซื้อโครงการ (M&A) ดีหรือไม่ เพราะมีคนมาขายเรื่อย ๆ เหมือนกัน แต่ต้องมาดูว่าผลตอบแทนการลงทุนว่าคุ้มหรือไม่เป็นอีกโจทย์หนึ่ง”

เล็งปักหมุดเวียดนาม

ในภูมิภาคมีความสามารถในการผลิตลมอยู่แล้ว ถ้าลมพร้อม คำถามคือ ที่ดินและรัฐบาลเขาพร้อมหรือไม่ ถ้าที่ดินไม่พร้อม เทคโนโลยียังสามารถปรับลงไปในน้ำได้ แต่ถ้ารัฐไม่พร้อม ต่อให้มีที่ดิน หรือมีลมก็เข้าไปไม่ได้

“ในภูมิภาคเรา เวียดนามมีโอกาสมากที่สุด แอ็กทีฟมากเรื่องพลังงานทดแทน เป็นไปได้ที่เราอาจมีไพรออริตี้เพิ่มขึ้น รอเพียงแผน NPDP ฉบับที่ 8 ที่เลื่อนมาจากต้นปีว่าจะปรับหรือไม่ เพราะเราเป็นธุรกิจที่อ้างอิงกับภาครัฐ ตอนนี้เราดูทั้งพื้นที่บนบกและในน้ำ ซึ่งคงต้องมี strategic partner การมีโลคอลพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งสำคัญ”

ต่อยอดลงทุนธุรกิจใหม่

“ถ้าวิเคราะห์บริษัทข้างหนึ่งเราดูว่าเราเก่งอะไรก็ทำต่อ แต่อีกข้างหนึ่งที่ไหนรีเทิร์นสูงเราก็ไป เราเก่งตรงวินด์ก็จะไปต่อแน่นอน เป็นธุรกิจหลัก เพราะวินด์ตอนนี้ได้แอดเดอร์เยอะมาก โปรฟิตมาร์จิ้น 40% เชื่อว่าวินด์โครงการใหม่ ๆ IRR แค่ 10% กว่าก็เก่งแล้ว”

“แต่ถ้าอยากจะเมนเทนอัตรากำไรอย่างนี้ แค่วินด์อย่างเดียวไม่พอต้องคิดต่อไป ต้องอินโนเวทีฟมากกว่านี้ ตั้งใจว่าต้นปีหน้าอยากให้เห็นโครงสร้างแล้วว่าจะโตไปในทางไหน ถ้าวินด์เป็นแคชคลาวด์ที่ผลิตเงินขึ้นมาให้โฮลดิ้ง เอาไปรีอินเวสต์ต่อในโครงการหรือในบริษัทอื่น ๆ เพื่อสร้างผลกำไรให้โฮลดิ้ง อันนี้เป็นภาพที่อยากจะสปีดให้ชัด”

เน็กต์สเต็ปต้องไปดูโอกาสในอุตสาหกรรมอื่น ไม่อยากจำกัดตัวเองอยู่ในกลุ่มพลังงาน อาจออกไปนอกกลุ่มพลังงานก็ได้ เทคนิคอลอาจจะทรานส์เฟอร์ยาก แต่โอเปอเรชั่นอาจจะได้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจ

ลม คือ ตัวรายได้หลัก ซึ่งปกติลมจะดีเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เราบังคับลมไม่ได้ สิ่งที่ทำได้มากที่สุด คือ ถ้ามีซ่อมหรือต้องหยุดก็ดึงมาทำช่วงที่ไม่มีลม ทำให้รายได้ขาดน้อยลง มีแผนฟอร์แคสต์ทุกปี

“สถานการณ์ลมปีนี้กลับมาดีกว่าปีที่แล้ว ความเร็วลม คือ 6.5-6.6 เมตรต่อวินาที ระดับนี้ถือว่าดี ซึ่งกังหันเรารองรับได้ 12 เมตรต่อวินาที แต่ลมในประเทศไทยได้แค่ 6.5 เมตรต่อวินาทีก็เก่งแล้ว ปีที่แล้วเป็นปีที่ค่อนข้างแย่ที่สุดในรอบ 20 ปี เกี่ยวกับภาวะเอลนิโญ ลานิญา แต่เริ่มกลับมาตั้งแต่ Q4 ปีที่แล้วต่อถึง Q1 ปีนี้”

บริหารความเสี่ยง-ต้นทุน

การที่ลมแรงถึงขั้นถอนเสาขึ้นมาได้ต้องเกิน 12 เมตรต่อวินาที “คงไม่เกิด” เราบังคับกังหันลมโดยซอฟต์แวร์ พอระดับลมสูงจะหยุดหมุน ส่วนฝุ่น PM 2.5 ไม่มีผลกับลม อาจจะมีไปเกาะฟิลเตอร์บ้างแต่สัดส่วนน้อยไม่มีผลอะไร

“ธุรกิจนี้จะมีการบริหารความเสี่ยงภายในเชิงโครงสร้าง โดยทำสัญญาเหมารวมการบริการหลังจากการขาย โครงการไหนใช้บริการเจ้าไหนเจ้านั้นก็รับไปเลย เราจ่ายฟิกซ์คอสต์ต่อปี ผู้ให้บริการมีหน้าที่มาซ่อมบำรุงรักษา โดยมีหลักว่ากังหันต่อต้นต้องมีความพร้อมหมุน 97-98% หากกังหันหยุด รายได้หยุดหายไปต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้ที่หายไป คือ โยนความเสี่ยงไปเลย ไม่แบกรับอินเวนทอรี่ แต่ถ้าสมมุติเราสามารถผลิตได้เกิน 97-98% เราแชร์โบนัสให้ผู้ให้บริการด้วย”

ใบอนุญาต ส.ป.ก.ฉลุย 20 ปี

หลังเพิกถอนสัญญาตามที่ศาลปกครองมีคำสั่ง แล้วก็มีมาตรา 44 มาครอบให้ทุกคนทำธุรกิจ ต่อมามีนโยบายใหม่ว่า ส.ป.ก.ไม่สามารถทำสัญญาเช่าได้ แต่ว่าสามารถออกใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินได้ซึ่งหลักเกณฑ์คล้ายกัน เพียงแต่ต้องมานั่งเวิร์กกับโลคอล และ ส.ป.ก.จังหวัด

“เพิ่งลุยทำกันจริงจังเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้ทั้ง 8 โครงการได้ใบอนุญาตให้ใช้ที่ดิน 9 ใบ มีโครงการหนึ่งคร่อม จ.ชัยภูมิและโคราชจึงได้ 2 ใบ สัญญาให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้ 22-24 ปี แล้วแต่โครงการ ค่าเช่าแพงขึ้นนิดหน่อย จากเดิม 35,000 บาท เป็น 40,000 บาทต่อไร่ต่อปี ปรับเพิ่มทุก ๆ 3 ปีตามเรตราคาขั้นบันได และไม่สามารถเปลี่ยนมือได้”

โควิดไม่สะเทือนรายได้

ส่วนโควิดกระทบเชิงโครงสร้างดีมานด์-ซัพพลายการใช้ไฟฟ้า แต่ไม่กระทบรายได้ และต้นทุนของบริษัท เพราะด้วยสัญญา PPA กับภาครัฐ “ผลิตได้เท่าไร เราขายได้เท่านั้น”

ดังนั้น ธุรกิจนี้เหมือนเราสู้กับตัวเอง และค่อนข้างมั่นใจว่าการปรับ PDP รัฐน่าจะบาลานซ์ซับเซ็กเตอร์ ทั้งลมและโซลาร์เพราะมีจุดที่แตกต่างกัน

9/5/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (09 พฤษภาคม 2564)

Youtube Channel