info@icons.co.th 02 810 8892-6 54.198.37.250

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู ก่อสร้าง 74-78% สีส้มตะวันออกเจาะอุโมงค์เสร็จ

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เดินไปตามเดดไลน์เปิดบริการในปี 2565 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีชมพู ส่วนสายสีส้มตะวันออก งานโยธามีความก้าวหน้า 80%

“กิตติกร ตันเปาว์” รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย อัพเดตผลงานจากไซต์ก่อสร้าง ณ 30 เมษายน 2564 ดังนี้

โครงการรถไฟฟ้า “สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง” เป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลแบบคร่อมรางบนทางวิ่งยกระดับ ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของ “สถานีลาดพร้าว” ถนนรัชดาภิเษก กำลังเก็บรายละเอียดงานสถาปัตยกรรมของสถานี เช่น งานเทพื้น ปูพื้น ก่อผนังห้อง งานคอนกรีต เป็นต้น อยู่ใกล้อาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ในอนาคตจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าทั้งสองสาย

และ “สถานีศรีกรีฑา” ถนนศรีนครินทร์ อยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคาร งานติดตั้งผนัง ปูพื้น ฯลฯ จัดเป็นสถานีสูงที่สุดของโครงการอยู่ที่ 17.87 เมตร (จากระดับพื้นถนนถึงชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร)

โดยรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีความก้าวหน้างานโยธา 82.46% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 72.45% คิดเป็นความก้าวหน้าโดยรวม 78.11% กำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2565

ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของ “สถานีรามอินทรา กม.9” ถนนรามอินทรา กำลังติดตั้งหลังคาสถานีและงานสถาปัตยกรรมหลังคา

กับ “สถานีมีนบุรี” ถนนรามคำแหง โฟกัสงานชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร เช่น ห้องขายตั๋ว ประตูทางเข้า ลิฟต์ บันไดทางขึ้น-ลง และงานสถาปัตยกรรมภายในสถานี ฯลฯ ตั้งอยู่ใกล้ทางแยกร่มเกล้า ในอนาคตเป็นจุดเชื่อมต่อกับสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และเชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจร (park & ride) บริเวณเดียวกันกับศูนย์ซ่อมบำรุง (depot)

รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีความก้าวหน้างานโยธา 77.57% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 70.32% คิดเป็นโดยรวม 74.35% กำหนดเปิดบริการในปี 2565

โครงการรถไฟฟ้า “สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” เส้นทางนี้ออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (heavy transit system) มีโครงสร้างทางวิ่งแบบอุโมงค์ใต้ดินผสมกับทางวิ่งยกระดับ

ปัจจุบันขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างติดตั้งระบบรางรถไฟฟ้า ควบคู่กับก่อสร้างสถานีใต้ดินและปล่องระบายอากาศ ความคืบหน้าที่สำคัญอยู่ที่ “สถานีวัดพระราม 9” ถนนรัชดาภิเษก กำลังรันงานติดตั้งกระเบื้องพื้นและผนัง ราวบันได ลิฟต์และบันไดเลื่อน ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เป็นต้น

ในส่วนของทางวิ่งยกระดับ (ทางวิ่งลอยฟ้า) ดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างก่อสร้างสถานียกระดับ มีความคืบหน้าสำคัญที่ “สถานีแยกร่มเกล้า” โดยติดตั้งโครงหลังคาเหล็กและช่องแสง งานมุงหลังคาอะลูมิเนียมชีต ฉาบห้อง plant room ติดตั้งงานระบบ ท่อดับเพลิงใต้ท้องพื้น เชื่อมท่อรองรับน้ำฝน เป็นต้น

คิวต่อไปเตรียมติดตั้งระบบรางในส่วนของทางวิ่งรถไฟฟ้าบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างสถานีใต้ดินกับสถานียกระดับ หรือ transition structure จาก “สถานีคลองบ้านม้า” ไต่ระดับขึ้นสู่ “สถานีสัมมากร” ในเร็ว ๆ นี้

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) มีความก้าวหน้างานโยธา 81.03% กำหนดเปิดให้บริการในปี 2567

สืบเนื่องจากเป็นไซต์ก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ รฟม.จึงตระหนักถึงความปลอดภัยสูงสุดทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน-ชุมชนรอบข้าง-ผู้สัญจรใช้ทาง มีการนำระบบการสื่อสารเพื่อความปลอดภัยมาใช้อย่างเข้มข้น อาทิ safety talk, tool box talk เป็นต้น

รวมทั้งภายใต้สถานการณ์โควิด รฟม.ได้กำชับเป็นพิเศษสำหรับแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาสุขอนามัย โดยให้บุคลากรทุกภาคส่วนสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดระยะเวลาทำงาน หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และรักษาระยะห่างทางสังคม

20/5/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (20 พฤษภาคม 2564)

Youtube Channel