info@icons.co.th 02 810 8892-6 54.152.5.73

ไนท์แฟรงค์เผย Q1/64 โควิดกระทบคอนโดเปิดใหม่ทำเลชานเมืองราคาร่วง -15%

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 นายณัฎฐา คหาปนะ รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานไนท์แฟรงค์ ภูเก็ต บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของตลาดคอนโดมิเนียมในไตรมาส 1/64 ยังคงติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 สาเหตุสำคัญจากความกังวลและผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้กำลังซื้อคอนโดมิเนียมของผู้ซื้อชาวไทยและชาวต่างชาติลดลง ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เลื่อนหรือชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไป หันไปเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบจับกลุ่มผู้ซื้ออยู่อาศัยจริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก การจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญที่จะสามารถลดและควบคุมการแพร่ระบาดในอนาคตและส่งผลให้เศรษฐกิจรวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

จากผลวิจัยของไนท์แฟรงค์ประเทศไทย พบว่า ตลาดคอนโดไตรมาส 1/64 ซัพพลายใหม่ค่อนข้างชะลอตัว เปิดขายใหม่ทั้งสิ้น 3,634 หน่วย ลดลง -41.8% เทียบกับไตรมาส 1/63 ส่วนใหญ่เป็นคอนโดเกรดบี ราคาตารางเมตรละ 80,000-150,000 บาท สัดส่วน 41% รองลงมาราคาต่ำกว่าตารางเมตรละ 80,000 บาท 31% ขณะที่คอนโดเกรดเอ ราคาเกินตารางเมตรละ 150,000 บาท สัดส่วน 24% และคอนโดระดับซุปเปอร์ไพร์ม 4%

ทำเลเปิดใหม่อยู่บริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ 50% ตามมาด้วยโซนรอบเขตศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe) 46% และคอนโดในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) 4%

ในด้านดีมานด์มีหน่วยขายได้ใหม่ 1,340 หน่วย จากซัพพลายเปิดขายใหม่ในไตรมาส 1/64 จำนวน 3,634 หน่วย คิดเป็นอัตราการขาย 37% อัตราการขายเพิ่มขึ้น 7% เปรียบเทียบกับไตรมาส 1/63 และมีอัตราการขายเพิ่มขึ้น 4% เทียบกับไตรมาส 4/63 สาเหตุจากในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาความต้องการคอนโดเริ่มมีการเคลื่อนไหวบ้างเล็กน้อย มีผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการอย่างต่อเนื่อง ซัพพลายใหม่ราคาขายไม่สูงมาก ทำให้บางโครงบางทำเลทำยอดขายได้สูงถึง 80%

ในด้านราคาขายใหม่ของไตรมาส 1/64 ค่อนข้างทรงตัวหรือปรับลงเล็กน้อย แบ่งเป็นทำเลย่านศูนย์กลางธุรกิจเฉลี่ย 251,158 บาท/ตารางเมตร ปรับตัวลดลง -6.3% เทียบกับไตรมาส 1/63 และลดลง -0.1% เทียบกับไตรมาส 4/63, ทำเลรอบเขตศูนย์กลางธุรกิจ (City Fringe) เฉลี่ย 123,250 บาท/ตารางเมตร ลดลง -17.6% เทียบกับไตรมาส 1/63 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63

ทำเลชานเมืองกรุงเทพฯ เฉลี่ย 68,683 บาท/ตารางเมตร ลดลงร้อยละ -15.3% เทียบกับไตรมาส 1/63 ปรับตัวลง 0.3% เทียบกับไตรมาส 4/63 โดยราคาขายไตรมาส 1/64 ปรับตัวลงเล็กน้อย คาดว่าราคาขายยังคงไม่ปรับตัวขึ้นในไตรมาส 2/64 เพราะหน่วยเหลือขายมีเหลืออยู่มาก นายณัฎฐากล่าวถึงแนวโน้มไตรมาส 2/64 ตลาดคอนโดยังคงชะลอตัวทั้งในแง่ดีมานด์และซัพพลายเกิดใหม่ โครงการเปิดขายใหม่คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 3,000-4,000 หน่วย พัฒนาโดยผู้ประกอบการอสังหาฯ รายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กอาจพัฒนาโครงการใหม่น้อยลงเนื่องจากมีความเสี่ยงในด้านการลงทุนมากกว่ารายใหญ่

โครงการเปิดตัวใหม่คาดว่ามีราคาขายต่ำกว่า 100,000 บาท/ตารางเมตร การเดินทางสะดวก มีขนาดห้องที่ใหญ่ขึ้น เพิ่มสัดส่วนพื้นที่ทำงานที่บ้านเพื่อให้ตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 2564 ตั้งราคาขายจับต้องง่ายขึ้น เน้นกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ และกลุ่มลูกค้าที่มีฐานเงินเดือนไม่สูง ราคาขาย 1-3 ล้านบาท/ยูนิต กระจายทำเลบริเวณชานเมืองเป็นส่วนใหญ่

“สิ่งที่น่ากังวลของคอนโดฯ สร้างเสร็จคือ แม้ผู้ประกอบการปรับแผนแข่งขันโปรโมชั่นให้น่าสนใจ แต่ก็ไม่สามารถระบายสต็อกเหลือขายที่มีอยู่ได้เร็วขึ้นเพราะกำลังซื้อเริ่มเบาบางลง คาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าตลาดคอนโดจะกลับมาอยู่ในภาวะสมดุล เนื่องจากคอนโดในกรุงเทพฯ เหลือขายเกือบ 70,000 หน่วย”

อย่างไรก็ดี ปัจจัยกระตุ้นตลาดที่สำคัญคือการกระจายการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด ซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่โอกาสที่จะสามารถเปิดประเทศให้มีการเดินทางเข้า-ออก โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องของโรคระบาด รวมไปถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมกลับฟื้นตัวได้

9/6/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (9 มิถุนายน 2564)

Youtube Channel