info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.204.218.79

เร่งเปิดสนามบินเบตง กระบี่เนื้อหอม จีน-มาเลย์-สิงคโปร์ ขอบินเข้า

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

“วีรศักดิ์” เยือน “กรมท่าอากาศยาน” สแกนยิบเร่งเบิกจ่ายปี 64 เซ็นอีก 4 โครงการลงทุนปีนี้ เติมยอดเบิกจ่ายได้อีก 15% พร้อมเร่งทุกหน่วยเปิดสนามบินเบตงให้ได้ใน 1 เดือน ด้านอธิบดีรับบัญชา โฟกัสพัฒนาแดนอีสานใต้ พร้อมเผย “จีน-มาลย์-สิงคโปร์ “ขอบินเข้า” กระบี่” ตุลา 64

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมาตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยเปิดเผยภายหลังว่า ได้กำชับให้ ทย.เตรียมความพร้อมท่าอากาศยานในการรับนักท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับแผนเปิดประเทศของรัฐบาล ในเดือนต.ค. 2564 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาประเทศไทย

เนื่องจากมีความมั่นใจในระบบสาธารณสุขและ มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของไทย โดยขณะนี้ทย.อยู่ระหว่างปรับปรุงขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานหลายแห่งทั้งเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น และรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งท่าอากาศยานหลักที่รับนักท่องเที่ยว เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี เป็นต้น

จ่อเซ็น 4 โครงการ 4.05 พันล้าน

นอกจากนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2564 ซึ่งได้รับประมาณ 5,186.9 ล้านบาท ทย.รายงานว่าปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ประมาณ 24% ขณะที่ในเดือน มิ.ย.นี้ จะมีการลงนามสัญญาโครงการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยาน 4 แห่ง วงเงินรวม 4,050 ล้านบาท(งบผูกพัน) ซึ่งจะเพิ่มการเบิกจ่ายงบได้อีก 15% รวมเป็น 40% ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ก่อสร้างทางขับขนานพร้อมระบบไฟฟ้า ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี วงเงิน 800 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานตรัง จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 1,800 ล้านบาท 3.โครงการขยายความยาวทางวิ่ง ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร วงเงิน 950 ล้านบาท 4. โครงการ ขยายลานจอดอากาศยาน ท่าอากาศยานขอนแก่น วงเงิน 500 ล้านบาท

จี้เปิด “เบตง” ใน 30 วัน

สำหรับท่าอากาศยานเบตงนั้น ให้ ทย.ดำเนินการความพร้อมในการเปิดใช้ภายใน 30 วัน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการดำเนินงาน เร่งแก้ไขข้อบกพร่องตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบ มาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของท่าอากาศยาน (Demonstration and audit) เพื่อออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ เปิดใช้เป็นสนามบินพาณิชย์

เน้นพัฒนา “อีสานใต้”

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ได้รับนโยบายในการเร่งพัฒนาท่าอากาศยานเพิ่มขีดความสามารถแล้ว รมช.คมนาคม ยังได้สั่งการให้ ทย.ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินพาณิชย์ในการบินข้ามภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นเขตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวของจังหวัดทางอีสานใต้ “นครชัยบุรินทร์” ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งขณะนี้ มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา

รวมไปถึงการส่งเสริมเส้นทางบินข้ามภาค เช่น นครราชสีมา-เชียงใหม่ นครราชสีมา-กระบี่ นครราชสีมา -สุราษฎร์ธานี เนื่องจากจังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพทั้งสถานีท่องเที่ยวและเป็นเมืองใหญ่ และการบินข้ามภาคยังช่วยลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองอีกด้วย

“จีน-มาเลเซีย-สิงคโปร์” จ่อบิน “กระบี่” ช่วง ต.ค. นี้

นายอภิรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดระลอก 3 ทำให้เที่ยวบินภายในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับโควิดระลอก 2 โดยมีเที่ยวบินเหลือประมาณ 30เที่ยวบิน/วัน จากปกติมี 200เที่ยวบิน/วัน มีผู้โดยสารประมาณ 2,000-3,000 คน/วัน จาก ปกติมี 40,000-50,000 คน/วัน โดยท่าอากาศยานของทย.ที่มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ยังคงมีสายการบินทำการบินแต่ปรับลดความถี่ตามปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางจริง

สำหรับท่าอากาศยานกระบี่ ขณะนี้ได้มีสายการบินต่างประเทศ แจ้งการบินเข้ามาในช่วงตารางบินฤดูหนาว (Winter TPI) ช่วงเดือน ต.ค. 2564 – มี.ค. 2565 ประมาณ 64 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ซึ่งเป็นสายการบินเดิมที่เคยทำการบินก่อนเกิดโควิดอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นสายการบินจีน เช่น สปริง แอร์ไลน์ ,แอร์เอเชียเบอร์ฮัด (มาเลเซีย) ,ไทเกอร์ แอร์เวย์ (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นลักษณะของการแจ้งจอง Slot ที่เคยทำการบิน ทั้งนี้ การทำการบินจริงนั้น ต้องดูความพร้อมละมาตรการในด้านสาธารณสุขของประเทศต้นทางของแต่ละสายการบินด้วย

17/6/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (17 มิถุนายน 2564)

Youtube Channel