info@icons.co.th 02 810 8892-6 52.23.203.254

เคาะ “ยูนิค” คว้างานไฮสปีดไทยจีนหมื่นล้าน รถไฟรับไทม์ไลน์โครงการเลื่อนอีก 1 ปี

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

บอร์ดรถไฟเคาะ “ยูนิค” คว้างานโยธาสัญญา 4-2 ไทยจีน วงเงินหมื่นล้านแล้ว จ่อเซ็นสัญญาเดือน ก.ค. 64 ก่อนรับไทม์ไลน์ไฮสปีดไทยจีนจ่อเลื่อนอีกปี หลัง “โควิด-สารพัดปัญหางานประมูลโยธา” รุมเร้าแผนงาน อัพเดต 3 งานโยธาที่เซ็นสัญญายังไม่ส่ง NTP เหตุติดปัญหาคลัสเตอร์แรงงาน เผยจ่อถกร่วม JC กับประเทศจีน 24-25 มิ.ย.นี้ แจงยิบทุกเหตุผลที่ขอเลื่อนไทม์ไลน์-กล่อมลดสเป๊กโครงสร้างร่วม “บางซื่อ-ดอนเมือง”

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)? เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ?ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2564 เห็นชอบผลการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-?นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท? สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. ราคากลาง 10,917 ล้านบาทแล้ว โดยผู้ที่ได้รับการคักเลือกคือ บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)? โดยเสนอราคาที่ 10,590 ล้านบาท

หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการลงนามในสัญญา โดยหลังจากบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบ ก็จะพิจารณาร่างสัญญาเพื่อลงนามต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 เดือนจึงจะลงนามกันได้

NTP ติดเวนคืน-รื้อท่อน้ำมัน ปตท.

ส่วนการส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed : NTP) ยังติดปัญหาการเวนคืนและรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันเก่าของ บมจ.ปตท. ซึ่งขวางแนวเส้นทางอยู่ ซึ่ง ปตท.ยืนยันว่าท่อดังกล่าวไม่ได้ใช้งานแล้ว และการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันไม่กระทบกับตัวรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)? โดยผู้รับจ้างจะลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจในรายละเอียดและกำหนดจุดที่จะรื้อย้ายต่อไป เบื้องต้นทาง ปตท.จะเป็นผู้รื้อย้ายท่อดังกล่าว

3 สัญญาโยธาติดหล่ม “โยกย้ายแรงงานไม่ได้”

ขณะที่ความคืบหน้าหลังจากลงนามในสัญญางานโยธา 3 โครงการเมื่อเดือน มี.ค. 2564 ประกอบด้วย 1.งานสัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ มีกลุ่มกิจการร่วมค้า CAN ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่นฯ, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 11,525.36 ล้านบาท

2.งานสัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 6,573 ล้านบาท

และ 3.งานสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งฯ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 9,429 ล้านบาท?

ขณะนี้ทางผู้รับเหมาในสัญญาที่ 4-3 และ 4-6 ได้ขอเลื่อนการส่งมอบหนังสือ NTP ในวันที่ 17 มิ.ย. 2564 นี้ ออกไปเป็นวันที่ 31 ก.ค. 2564 เนื่องจากปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานยังทำไม่ได้ในตอนนี้ เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังรุนแรงอยู่ และในหลายจังหวัดคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างก็ถูกจับตาเป็นอย่างมาก จึงยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้ในขณะนี้ ส่วนสัญญาที่ 4-4 มีกำหนดส่งมอบ NTP ในช่วงปลายปี 2564 นี้ จึงยังไม่มีปัญหาอะไร

ไทม์ไลน์ขยับอีก 1 ปี

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า จากสภาวะดังกล่าวอาจทำให้ไทม์ไลน์ของโครงการต้องเลื่อนออกไปอีก 1 ปี จากปี 2568 เป็นปี 2569 เพราะนอกจากปัญหาแรงงานแล้ว ยังมีปัญหาของหลาย ๆ สัญญาของงานโยธาที่ยังติดชะงัก ทั้งสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. ราคากลาง 11,063 ล้านบาท ที่ยังเป็นคดีอยู่ในศาลปกครอง ทำให้การพิจารณาผลการประมูลยังไม่สามารถทำได้

“บางซื่อ-ดอนเมือง” ให้ไทยจีนสร้าง

หรือสัญญา 4-1 งานโยธาสำหรับช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะต้องมีการหารือกับประเทศจีนถึงการปรับแบบก่อสร้างโครงสร้างร่วมใหม่ เพราะจากนโยบายตอนนี้จะให้ทางรถไฟความเร็วสูงไทยจีนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะมองว่าการออกแบบสเป๊กงานมีมาตรฐานสูงกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งจะต้องรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคอีก 5 ปี จึงจะเริ่มงานในช่วงดังกล่าวได้

จ่อขอลดสเป๊กจีน

อย่างไรก็ตาม ในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ยังมีปัญหาด้านการออกแบบโครงสร้างร่วมที่แบบก่อสร้างตอนนี้ออกแบบไว้รองรับการใช้ความเร็วของรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กม./ชม. แต่ทางอีอีซีมองว่า ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่วิ่งผ่านเมือง การออกแบบโครงสร้างร่วมควรใช้อัตราความเร็วที่ 160 กม./ชม. ซึ่งเป็นอัตราความเร็วสูงสุดของรถไฟฟ้าในเมืองในการออกแบบ แต่ทางการจีนไม่ยินยอม เพราะถือว่าแบบที่วางไว้เป็นมาตรฐานทางวิศวกรรมของจีนที่จะต้องออกแบบให้เป็นไปตามเดิม ประเมินงานก่อสร้างโครงสร้างร่วมเบื้องต้นที่ 18,000 ล้านบาท

ไทม์ไลน์ขยับ กระทบงานระบบ

โดยการขอเลื่อนไทม์ไลน์นี้จะมีผลกับงานสัญญา 2.3 ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ด้วย เพราะ NTP ของงานระบบมี 3 ฉบับ ขณะนี้ส่งมอบให้ทางการจีนไปแล้ว 1 ฉบับ คือ NTP 1 งานออกแบบระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า และขบวนรถ วงเงิน 700 ล้านบาท

ส่วนอีก 2 ฉบับ คือ NTP 2 งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า และผลิตขบวนรถ 48,933 ล้านบาท และ NTP 3 งานฝึกอบรมบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี 1,000 ล้านบาท จะยังออกให้ประเทศจีนไม่ได้ เพราะงานโยธาในภาพรวมยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

จ่อถกเครียดกับจีน 24-25 มิ.ย.นี้

โดยจะมีการนำประเด็นทั้งหมดข้างต้น หารือกับทางการจีนในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 24-25 มิ.ย. 2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ซึ่งในส่วนงานระบบนี้ สิ่งที่กังวลคือเมื่อมีการขอเลื่อนส่งมอบ NTP อาจจะกระทบกับการยืนราคาที่เคยตกลงกับทางการจีนไว้ อาจจะมีการขอเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น ในการประชุมในช่วงวันที่ 24-25 มิ.ย. 2564 จะเจรจากันในประเด็นนี้ด้วย

21/6/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (21 มิถุนายน 2564)

Youtube Channel