info@icons.co.th 02 810 8892-6 54.210.126.232

“คมนาคม” ลดระดับทางวิ่ง “สถานีไฮสปีดไทย-จีน-อยุธยา” เหลือ 15 เมตร

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

วงถกแบบสถานีไฮสปีดอยุธยา “รถไฟ-กรมราง” จ่อลดระดับทางวิ่งเหลือ 15 เมตร ลดกระทบยูเนสโก ยันทางวิ่งสร้างใหม่หมด ไม่ใช้สะพานเดิม งง “กรมศิลป์” ไม่มีรายละเอียดทำ HIA เผยการลดระดับทางวิ่งและขอก่อสร้างทางวิ่งก่อนกระทบสัญญา 4-5 ชงบอร์ดรถไฟแก้สัญญาก่อน และจะทำหนังสือรายงาน “ประวิตร” ทางเลือกลอดใต้ดิน-ย้ายที่สร้างใหม่ทำไม่ได้ งบฯสูง-เสร็จช้าอีก 5-7 ปี

วันที่ 21 มิ.ย. 2564 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมร่วมระหว่างกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกรมศิลปากร เพื่อหารือถึงการออกแบบสถานีอยุธยาในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1กรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2564

ลดระดับทางวิ่งเหลือ 15 เมตร

ร.ฟ.ท.และกรมรางมีความเห็นร่วมกันว่า จะลดระดับโครงสร้างทางวิ่งจากเดิมที่ยกสูง 20 กว่าเมตร มาเหลือประมาณ 15 เมตรแทน พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า ทางวิ่งเข้าสู่สถานีจะเป็นการก่อสร้างใหม่ และจะวิ่งขนานไปกับสะพานปรีดี-ธำรงที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2483 โดยการก่อสร้างจะไม่ใช้โครงสร้างของสะพานดังกล่าว และจะไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างของสะพานอย่างแน่นอน

HIA ยังไม่มีรายละเอียด

ส่วนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมหรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ในที่ประชุมดังกล่าว กรมศิลปากรยังไม่ให้รายละเอียดอะไรเพิ่มเติม มีแต่การเน้นย้ำว่าต้องทำเพราะองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เห็นว่าแบบก่อสร้างดังกล่าวกระทบกับโบราณสถานในพื้นที่

กระทบสัญญา 4-5 ชงบอร์ดรถไฟเคาะแก้ก่อน

ดังนั้น ที่ประชุมจึงให้ ร.ฟ.ท.ไปประสานกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่า การก่อสร้างสถานีอยุธยาจะสามารถทำส่วนของโครงสร้างทางวิ่งก่อนได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. แก้ไขสัญญางานโยธาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดการลดระดับทางวิ่งและการจัดลำดับงานก่อสร้างใหม่ให้เป็นไปตามที่มีความเห็นร่วมกัน โดยหลังจากประชุมกันในวันนี้ จะต้องประชุมกับนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อสรุปประเด็นต่าง ๆ ร่วมกันต่อไป

รายงาน “ประวิตร” ลอดใต้ดิน-ย้ายที่ใหม่ ทำไม่ได้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท.จะมีการทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อรายงานให้ทราบว่า ตามที่มีมติทางให้ไปก่อสร้างตามแนวทางที่ 1 คือ สร้างสถานีและทางวิ่งใต้ดินลอดพื้นที่มรดกโลก ระยะทาง 5 กม. และแนวทางที่ 2 เลี่ยงพื้นที่มรดกโลกสร้างบนที่ใหม่ ห่างออกไป 30 กม. ไม่สามารถทำได้ เพราะใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และระยะเวลาก่อสร้างจะล่าช้าไปอีก 5-7 ปี

21/6/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (21 มิถุนายน 2564)

Youtube Channel