info@icons.co.th 02 810 8892-6 34.201.28.181

รับเหมาวิกฤต แห่ปิดกิจการ 4,000 ราย วัสดุแพงหยุดประมูลงานรัฐ

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

ธุรกิจรับเหมา 1.3 ล้านล้านป่วนหนัก สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เผย 26,000 บริษัทเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตปิดกิจการแล้ว 4,000 ราย โควิด-สงครามดันต้นทุนแพงเกินค่างานที่ทำสัญญากับรัฐ จี้แก้ไขเงินชดเชยค่า K 4% ขอผ่อนผัน 2 ปี หวังมีรายได้เสริมสภาพคล่องต่อลมหายใจธุรกิจ ส่องกฎหมายเก่า-ใหม่สร้างอุปสรรคเพียบ

นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วงการรับเหมาก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ มีรายได้สัดส่วน 8-9% ต่อจีดีพี มูลค่างานตกปีละ 1.3 ล้านล้านบาท กำลังเจอปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน ซึ่งเป็นผลกระทบสถานการณ์โควิดจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดยมูลค่างานปีละ 1.3 ล้านล้านบาทดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในยุคโควิดตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน แบ่งเป็นสัดส่วนงานโครงการเอกชนเหลือ 45% และงานโครงการรัฐ 55%

“วิกฤตในปี 2565 ที่เรากำลังเผชิญต้องเรียนว่าหนักกว่าต้มยำกุ้งปี 2540 และหนักกว่าปี 2551 ช่วงโควิดเราเจอปัญหาเหล็กขึ้นราคา ต่อมาเจอปัญหาสงครามรัสเซียรบกับยูเครน ทำให้ต้นทุนทุกอย่างแพงขึ้น วัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้ในการก่อสร้างขึ้นราคาตามไปหมด ตะปูตัวหนึ่งก็เป็นราคาขาขึ้น ต้นทุนก่อสร้างขึ้นแล้ว 15% ในภาพรวม”

“ค่า K” จุดตายรับเหมารัฐ โดยจุดตายอยู่ในฝั่งผู้รับเหมางานภาครัฐซึ่งมีมูลค่างาน 6 แสนล้านบาท กำลังได้รับผลกระทบจากการคำนวณสูตรค่า K (เงินชดเชยกรณีต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลง) ที่มีการพิจารณาล่าช้า กระทบโดยตรงต่อสภาพคล่องของบริษัทรับเหมา โดยเฉพาะกลุ่มรายกลาง-รายเล็กที่มีจำนวนมากถึง 95% ที่เหลือเป็นรายใหญ่ 5%

สภาพปัญหาของค่า K มาจากข้อกำหนดรัฐซึ่งใช้เกณฑ์บวกลบ 4% ถ้าไม่เกินจากเพดานที่กำหนดคู่สัญญารัฐหรือผู้รับเหมาจะไม่ได้รับเงินชดเชย กรณีคำนวณแล้วพบว่าต้นทุนสูงขึ้นเกิน 4% จึงจะได้รับเงินชดเชย

กรณีนี้สมาคมส่งหนังสือขอความช่วยเหลือ 4 ครั้ง ส่งถึงกรมบัญชีกลาง, สำนักงบประมาณ, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เพื่อขอความช่วยเหลือออกมาตรการเยียวยาผู้รับเหมางานรัฐ 3 ข้อ

ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกส่วนต่างค่า K 4% ชั่วคราว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-ธันวาคม 2565 2.ขอให้เร่งรัดการจ่ายเงินค่า K และ 3.การคำนวณค่า K ในสัญญารัฐขอให้ใช้ดัชนีราคาในเดือนที่คำนวณราคากลาง แทนการใช้ดัชนีราคาในเดือนที่เปิดซองประกวดราคา

เปิดโมเดลอ้างอิงปี 2551 นางสาวลิซ่าอธิบายข้อเรียกร้องว่า การพิจารณายกเลิกส่วนต่างค่า K 4% ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 รัฐบาลขณะนั้นได้ผ่อนผันค่า K 4% มาแล้วจึงมีบรรทัดฐานในการพิจารณาช่วยเหลือ เหตุผลที่บอกว่าปัญหาค่า K เป็นจุดตายผู้รับเหมางานรัฐ เนื่องจากสูตรค่า K จะจ่ายเงินชดเชยให้ก็ต่อเมื่อคำนวณต้นทุนแล้วสูงกว่า 4% หมายความว่ารัฐจะจ่ายเงินชดเชยค่า K ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ที่ 5 เป็นต้นไป ในขณะที่ผลกระทบจากโรคระบาดไม่เคยเกิดขึ้นในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งไหนมาก่อน ดังนั้น ต้นทุนที่สูงเกินค่างานจึงมีความหมายถึงความอยู่รอดของบริษัท แนวทางจึงขอให้ใช้เกณฑ์เดียวกับปี 2551 โดยรัฐพิจารณาชดเชยให้ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์แรก

“กรณีปกติ สมมุติมีต้นทุนสูงขึ้น 15% รัฐจะจ่ายชดเชยให้ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์ที่ 5 เท่ากับจะได้รับเงินชดเชย 11% เท่านั้น ข้อเรียกร้องคือขอให้ใช้เกณฑ์ชดเชยให้ตั้งแต่เปอร์เซ็นต์แรก ซึ่งเท่ากับผู้รับเหมาได้รับเงินชดเชยเต็มจำนวน 15% ของต้นทุนที่สูงขึ้นจริง เป็นต้น”

ค่า K ตัวช่วยสภาพคล่อง ส่วนประเด็นการเร่งรัดจ่ายเงินค่า K ทางสมาคมทราบดีว่ารัฐบาลมีการใช้งบประมาณช่วยเหลือและเยียวยาสถานการณ์โควิดมหาศาล ดังนั้น ในการจ่ายเงินชดเชยผู้รับเหมายินดีปฏิบัติตามขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณ

แต่สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือคือการให้ความชัดเจนว่าจะได้รับเงินชดเชยค่า K จำนวนเท่าใด แล้วออกเอกสารยืนยันเพื่อให้ผู้รับเหมานำไปใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารสำหรับนำมาใช้เป็นกระแสเงินสดหมุนเวียนกิจการ

รวมทั้งค่า K มีหลักปฏิบัติ คือ ให้คำนวณล่วงหน้า 1 เดือนก่อนเข้าแข่งขันประกวดราคา แต่ในชีวิตจริงทำได้ยากมาก โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่มักจะมีการคำนวณล่วงหน้า 4-5 เดือนเพราะมีรายละเอียดเยอะ ดังนั้น การใช้เกณฑ์คำนวณค่า K ในวันเปิดซองประกวดราคาจึงไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยขอให้ใช้เกณฑ์คำนวณค่า K ในวันที่คำนวณราคากลางแทน

“ปัญหาค่า K เราส่งหนังสือถึงรัฐบาลขอความช่วยเหลือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงตอนนี้ไม่มีคำตอบอะไรออกมาเลย สมาคมมีการสอบถามสมาชิกมีความเห็นว่าเดดไลน์ภายใน 30 มิถุนายนนี้ ถ้ารัฐบาลไม่แสดงความชัดเจนอะไรออกมา ผู้รับเหมา 2 หมื่นกว่ารายอาจมีบริษัทที่ต้องปิดกิจการเพิ่มเติม เพราะ 60-70% ขาดสภาพคล่องหนักมากอยู่แล้วในปัจจุบัน” นางสาวลิซ่ากล่าว

2 มุม “วิกฤตซ้อนวิกฤต” นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข เลขาธิการ TCA กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากปัญหาค่า K ที่รอการพิจารณาจากรัฐบาลแล้ว ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต 1.สถานการณ์โควิด+สงคราม เป็นวิกฤตหนัก ๆ จากปัจจัยภายนอก 2 เรื่องมาทับซ้อนกัน

2.ปัจจัยภายในประเทศที่มีปัญหากฎหมาย กฎระเบียบภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการควบคุมต้นทุนของผู้รับเหมาก่อสร้างอีกหลายรายการ จึงกลายเป็นวิกฤตที่เกิดจากปัจจัยภายนอกทับซ้อนกับวิกฤตจากปัจจัยกฎหมาย กฎระเบียบภาครัฐ

ขอนิรโทษแรงงานต่างด้าว ประเด็นที่ต้องการให้เร่งแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อย 4 เรื่องด้วยกัน

เรื่องที่ 1 ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว โดยไซต์ก่อสร้างทั้งระบบใช้แรงงาน 4 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าว 40-45% หรือเกือบ 2 ล้านคน ยุคโควิดมีการเดินทางกลับประเทศและเจอปัญหาไทยปิดด่านกักกันโรคระบาด ทำให้มีแรงงานต่างด้าวบางส่วนลักลอบเข้าไทยกลายเป็นปัญหาแรงงานนอกระบบ

ข้อเสนอคือ ขอให้รัฐบาลพิจารณานิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าวนอกระบบในปัจจุบันที่คาดว่ามีจำนวน 6-7 แสนคน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง และลดปัญหาแรงงานต่างด้าวนอกระบบ

ขอผ่อนกฎ MIT 2 ปี

เรื่องที่ 2 สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางเพิ่งออกกฎ “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ภายใต้มาตรการ MIT-Made in Thailand สาระสำคัญให้ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ 60% กรณีเหล็กให้ใช้ผู้ผลิตในประเทศ 90% โดยเพิ่งมีผลบังคับใช้เป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2565 จึงถือเป็นเรื่องใหม่มาก

หลักการ MIT เหมาะสมกับ “การจัดซื้อ” ที่มีคู่สัญญาเป็นซัพพลายเออร์ เช่น คอมพิวเตอร์ วัสดุอุปกรณ์สำเร็จรูป ฯลฯ แต่เมื่อนำมาใช้กับ “การจัดจ้าง” ที่มีคู่สัญญาเป็นผู้รับเหมา พบว่าไม่เหมาะสมและมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย

“ข้อเรียกร้องคือ ขอให้ผ่อนผันกฎ MIT อย่างน้อย 2 ปี และขอให้ TCA เป็นตัวแทนประชุมหารือร่วมกับรัฐ เพราะที่ผ่านมากฎ MIT กรมบัญชีกลางเลือกคุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหลักซึ่งเป็นฝั่งผู้ผลิตสินค้า แต่สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เป็นตัวแทนผู้ใช้งานจริงในฐานะคู่สัญญารัฐ”

“ใบอนุญาตโรงงาน” ก็มา

เรื่องที่ 3 ปัญหาการขอใบอนุญาตโรงงานสำหรับแพลนต์แอสฟัลต์ ประเด็นปัญหาเกิดจากมีข้อกำหนดแพลนต์แอสฟัลต์-แพลนต์คอนกรีตต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ รง.4) ในทางปฏิบัติถูกควบคุมด้วยกฎหมายผังเมืองอีกชั้นหนึ่ง การขอใบ รง.4 ได้ต้องมีผังเมืองสีม่วง

“คิดดูง่าย ๆ ไซต์งานราดยางมะตอยถนนส่วนใหญ่เป็นถนนชนบท อยู่ต่างตำบล แต่กฎหมายบังคับให้แพลนต์ยางมะตอยต้องขอใบอนุญาตโรงงานและตัวแพลนต์ต้องอยู่ในพื้นที่สีม่วงด้วย ถนนไกลปืนเที่ยงเราจะไปหาผังเมืองสีม่วงได้จากที่ไหน”

มึน “ค่าวิศวกรคุมงาน”

เรื่องที่ 4 มีต้นทุนใหม่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด โรคระบาดทำให้ไซต์งานก่อสร้างทำได้ล่าช้า และมีเหตุการณ์สั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือนเต็มในปี 2564 ส่งผลกระทบต่ออายุสัญญาก่อสร้าง ซึ่งรัฐบาลออกมาตรการให้การก่อสร้างล่าช้าไม่นับเป็นการผิดสัญญา จึงไม่ต้องมีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างล่าช้า

แต่ปัญหาใหม่คือ มีค่าใช้จ่าย “วิศวกรที่ปรึกษา” สำหรับควบคุมงาน เกิดจากรัฐจะต้องเป็นคนควบคุมงานก่อสร้างแต่กำลังคนไม่เพียงพอ จึงมีการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาทำหน้าที่แทน รายจ่ายจึงเป็นของภาครัฐ แต่กรณีก่อสร้างล่าช้าเกินสัญญามีการระบุในสัญญาว่าจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายผู้รับเหมา

รับเหมา ตจว.หยุดรับงาน

เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างในจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ผู้รับเหมาก่อสร้างสั่งซื้อสินค้าจากที่ร้านลดน้อยลงมาก และบางรายต้องหยุดรับงานก่อสร้างไปก่อน ขณะที่บางรายปรับวิธีโดยรับแต่เพียงค่าแรง แต่ให้ลูกค้าจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างเอง เพราะไม่กล้าเหมาค่าวัสดุก่อสร้าง ขณะที่ทางร้านเองก็ต้องขายวัสดุก่อสร้างที่มีอยู่ไปก่อนตามราคาตลาด และไม่สต๊อกสินค้าไว้

นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ นครราชสีมา เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการธุรกิจบ้านจัดสรรในจังหวัดนครราชสีมาทุกรายได้รับผลกระทบตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งมาเจอปัญหาเศรษฐกิจ ภาษีที่ดิน และล่าสุดราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ และต้องปรับตัว เช่น โครงการบ้านจัดสรรที่ตนกำลังดำเนินการก่อสร้างขณะนี้ ก็ต้องปรับแผนด้วย โดยเจรจาพูดคุยกับผู้รับเหมาว่า สินค้าวัสดุก่อสร้างตัวไหนที่มีราคาผันผวน ทางโครงการจะจัดซื้อเอง และมีการปรับเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้าน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายโดยยังคงคุณภาพเดิม

“อยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น ภาษีในการโอนบ้านที่มีส่วนลดสำหรับราคาบ้านที่มีมูลค่าต่ำกว่า 3 ล้านบาท อยากให้รัฐบาลขยายราคาขึ้นไปให้สำหรับบ้านที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 ล้านบาท และอยากให้เร่งโครงการคมนาคม ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ”

อิตัลไทยหยุดรับงานก่อสร้าง

นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในฝั่งธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เจอปัญหามาก ๆ คือ ราคาเหล็กขึ้น ราคาทองแดง ราคาวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ปรับขึ้น 30-40% ตอนนี้ในฝั่งธุรกิจก่อสร้างของอิตัลไทยต้องสั่งหยุดเข้าประมูลงาน เพราะราคาที่ต้องไปซื้อวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้นไม่หยุด มีความผันผวนสูง ทำให้การประมูลงานช่วงนี้คงลำบาก

“ตอนนี้งานก่อสร้างทำได้เท่าทุนก็เก่งแล้ว เพราะบางโครงการที่บริษัทประมูลมาเป็นงานระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นอีควิปเมนต์ส่วนใหญ่ ซึ่งต้นทุนวัสดุต่าง ๆ ก็กระโดดขึ้นไป 40% ทำไปก็เจ๊ง นอกจากหยุดประมูลงานใหม่ ในส่วนของโปรเจ็กต์เดิมที่อยู่ระหว่างดำเนินการก็ต้องพยายามเจรจาขอความช่วยเหลือกับทางเจ้าของโครงการให้เข้าใจถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และความผันผวนของราคา”

26/5/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (26 พฤษภาคม 2565)

Youtube Channel