info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.212.26.248

รถไฟแบ่งเค้กทางคู่ 1.28 แสนล้าน เปิดทางต่างชาติสู้ 4 บิ๊กรับเหมา

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

สนามประมูลทางคู่ 2 สายใหม่ เค้ก 1.28 แสนล้านระอุ รับเหมาร้องกำหนดผลงานอุโมงค์สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เข้าทาง 4 บิ๊ก ITD ช.การช่าง ซิโน-ไทยฯ ยูนิคฯ ปิดทางรายกลางและต่างชาติเข้าร่วม ร.ฟ.ท.ยอมปรับใหม่ใช้ผลงานต่างประเทศได้ ลดราคาลงอีกเล็กน้อย คาดได้ผู้รับเหมา เม.ย. เดินหน้าสร้างคู่ขนานเวนคืนที่ดิน เริ่มจ่ายลอตแรก ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกประกาศประชาพิจารณ์ร่างทีโออาร์ประมูลรถไฟทางคู่ 2 สายทาง ได้แก่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-นครพนม พบว่ามีการกำหนดสเป็กผลงานที่ปิดกั้นการแข่งขัน ซึ่งกำหนดให้เฉพาะเป็นผลงานในประเทศไทยเท่านั้น

โดยเฉพาะงานอุโมงค์ทั้ง 3 สัญญาของสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่กำหนดเป็นผลงานอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร จะมีรับเหมา 4 รายใหญ่ของประเทศไทยที่เข้าประมูลได้ เช่น บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง บมจ.ซิโนไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

“ทำให้รับเหมารายกลางและต่างชาติไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ทั้งที่งานก่อสร้างทางคู่เฟสแรก ไม่มีการระบุไว้แบบนี้ เช่นเดียวกับระเบียบของกรมบัญชีกลางที่ออกแนวทางปฏิบัติเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2562 ไม่ให้ระบุผลงาน”

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างออกประกาศร่างทีโออาร์เปิดประมูล e-Bidding ก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่เส้นทางสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม รวม 5 สัญญา วงเงิน 128,374 ล้านบาท

ทั้ง 2 โครงการ จะกำหนดให้ผู้รับเหมาสามารถยื่นซองประมูลทั้งรูปแบบเดี่ยวและกิจการร่วมค้า (จอยต์เวนเจอร์) แต่ต้องให้บริษัทรับเหมาไทยเป็นแกนนำ เนื่องจากโครงการใช้เงินกู้ในประเทศก่อสร้าง จึงต้องการให้เงินหมุนเวียนในประเทศ

โดยสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจำนวน 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ราคากลาง 26,599.28 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ราคากลาง 26,913.78 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ 87 กม. ราคากลาง 19,406.43 ล้านบาท

เนื้องานเป็นงานก่อสร้างทางสายใหม่ ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางรถไฟ งานก่อสร้างงานอุโมงค์รถไฟ งานก่อสร้างสถานีรถไฟและป้ายหยุดรถ งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนลอดใต้รถไฟ และงานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ พร้อมสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทาง เพิ่มความรวดเร็ว ความปลอดภัยในการบริการ และติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง มีระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน จะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 2 ปี

“สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ผลประชาพิจารณ์รอบแรกวันที่ 25 ธ.ค. 2563 มีผู้รับเหมาร้องเรื่องผลงานอุโมงค์ที่ต้องการให้ใช้ผลงานต่างชาติที่เป็นจอยต์เวนเจอร์ต่างชาติได้ เพื่อเปิดกว้างในการแข่งขันให้รับเหมารายกลางที่เข้าร่วมได้ หลังกังวลจะมีเฉพาะรายใหญ่ของไทยที่มีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่เข้าได้เท่านั้น เราก็ปรับใหม่ให้ใช้ผลงานต่างชาติได้ แต่ต้องเป็นสมาชิกร่วมค้าและยังคงให้รับเหมาไทยเป็นแกนนำ”

ในส่วนผลงานงานโยธาและทางรถไฟให้ใช้ผลงานภายในประเทศ ยังปรับลดราคากลางสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ลงอีกสัญญาละประมาณ 100,000 บาท จะเสนอให้ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.อนุมัติเพื่อปิดประกาศรอบที่ 2 วันที่ 13 ม.ค. 2564

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม แบ่ง 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ราคากลาง 27,123.62 ล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ราคากลาง 28,333.93 ล้านบาท

ทั้ง 2 สัญญาเป็นการก่อสร้างทางสายใหม่ ประกอบด้วยงานทางรถไฟ งานก่อสร้างสถานีรถไฟ และ stabling yard งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ ถนนลอดใต้ทางรถไฟ และงานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ

พร้อมสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ เพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการบริการให้รองรับปริมาณผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมตลอดทั้งสายทาง โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 48 เดือน จะส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี

“สายบ้านไผ่-นครพนม จะประชุมประเมินผลการวิจารณ์ทีโออาร์วันที่ 15 ม.ค.นี้ หากปรับใหม่ต้องออกประกาศรอบที่ 2 ทั้งนี้เมื่อ 2 สายทางไม่มีผู้ร้องแล้วจะประกาศขายซองประมูล 1 เดือน โดยสายเด่นชัย-เชียงของจะเริ่มก่อนในเดือน ก.พ.-มี.ค. จากนั้นเป็นบ้านไผ่-นครพนม คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในเดือน เม.ย.นี้”

ทั้งนี้งานก่อสร้างจะเริ่มหลังเซ็นสัญญา 2 เดือน จะเดินหน้าคู่ขนานไปกับเวนคืนที่ดิน ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2565 แล้ว แบ่งจ่าย 2 ครั้ง เริ่มวันที่ 1 ต.ค. 2564 ในส่วนของสายเด่นชัย-เชียงของ 70% อีก 30% จ่ายในปีถัดไป ส่วนบางไผ่-นครพนม จ่ายครั้งแรก 55% อีก 45% จ่ายในปีถัดไป

14/1/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (14 มกราคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS