info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.92.96.247

Expansion สนามบินสุวรรณภูมิ South 1.2 แสนล้าน vs North 3 หมื่นล้าน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

การลงทุนเพิ่มเติมในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ โมเดลข้อเสนอมี 2 ทางเลือก เป็นทาง 2 แพร่ง ระหว่างการสร้าง “South Expansion” มูลค่า 120,000 ล้านบาท กับ “North Expansion” มูลค่า 30,000 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)

จริง ๆ แล้ว ด้วยมูลค่าลงทุนที่แตกต่างกัน 4 เท่า คำตอบน่าจะเคลียร์คัตชัดเจน แต่กรณีนี้ ฝ่ายสนับสนุนสร้างแพงกว่ามาจาก 14 องค์กรวงการวิศวะกับนักวิชาการโครงสร้างพื้นฐาน ทางหน่วยงานเจ้าภาพโครงการจึงต้องมีคำอธิบายเยอะขึ้นเป็นพิเศษ

South Expansion ปี 2546

ธุรกิจสนามบินทั้งใหญ่และหนัก ไม่สามารถเนรมิตได้ชั่วข้ามคืน แผนลงทุนจึงต้องคิดแล้วคิดอีก โดยข้อเสนอก่อสร้าง South Expansion เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 เท่ากับเป็นแผนที่ศึกษาไว้ 18 ปีที่แล้ว

เป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถสนามบินรองรับผู้โดยสาร 150 ล้านคน/ปี ใช้วงเงินลงทุน 120,000 ล้านบาท

ล่าสุด “กีรติ กิจมานะวัฒน์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. คีย์แมนที่แจ้งเกิดในสถานการณ์โควิด นำเสนอโมเดลใหม่บนจุดเปลี่ยนอย่างน้อย 2 ด้าน

1.มีการจ้าง “IATA-สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” ศึกษาทบทวนดีมานด์ผู้โดยสารยุคหลังโควิด พบพฤติกรรมผู้โดยสารไม่เหมือนเดิม เครื่องบินเคยลำใหญ่ขนาด 600 ที่นั่ง (code F) เหลือ 400 ที่นั่ง (code C)

2.ในด้านปริมาณผู้โดยสาร IATA ฟันธงว่า เทรนด์ 20 ปี (2563-2583) ปริมาณผู้โดยสารมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ 100 ล้านคน/ปี

นำมาสู่คำถามของทีมผู้บริหาร ทอท.ว่า ความจำเป็นที่จะต้องลงทุนรับผู้โดยสาร 150 ล้านคน/ปี ยังมีอยู่ 100% เท่าเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ ทอท.ก็ยังไม่แข็งแรงด้านรายได้มากนัก

โมเดลการลงทุนที่เป็นข้อเสนอใหม่ คือ บนศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้เท่ากัน 100-120 ล้านคน/ปี ควรยกเลิกการสร้าง South Expansion แสนกว่าล้านบาท แล้วทดแทนด้วยการสร้าง “North Expansion” ลงทุน 30,000 ล้านบาท เพราะมองว่าเหมาะกับกำลังทรัพย์ ทอท. และแมตช์กับเทรนด์อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก

North Expansion รับใน ปท.

“การก่อสร้าง south terminal ต้องลงทุนสูงถึง 120,000 ล้านบาท เพราะต้องเวนคืนที่ดินก่อสร้างใหม่บางส่วน อาคารออกแบบไว้ใหญ่เทียบเท่า main terminal ปัจจุบัน เพราะฉะนั้น หากจะประหยัดงบฯในการลงทุน ต้องก่อสร้างเพื่อรองรับพื้นที่เขตการบิน (airside) รองรับด้วย ไม่ใช่ก่อสร้างพื้นที่นอกเขตการบิน (landside) อย่างเดียว”

โดยผลศึกษา IATA ระบุปัญหาปัจจุบัน เมนเทอร์มินอลที่มี 14 ประตู รับ-ส่งทั้งผู้โดยสารบินระหว่างประเทศกับในประเทศ เปรียบเทียบพฤติกรรมผู้โดยสารในประเทศ 20 ล้านคน/ปี มีคนขับรถมาส่ง-ให้กำลังใจ 20 ล้านคัน ขณะที่ผู้โดยสารระหว่างประเทศใช้บริการขนส่งสาธารณะ

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือการจราจรของผู้โดยสารในประเทศไปรบกวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ ดังนั้น การสร้าง North Expansion ให้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศโดยเฉพาะ จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยก่อสร้างทางเชื่อม 2 กิโลเมตร จากมอเตอร์เวย์เข้ามาเทียบหน้าอาคาร คนมาส่งสามารถวนรถกลับออกไปทันที ไม่ยุ่งเกี่ยวกับ main terminal แต่อย่างใด

หั่นงบฯลงทุนเหลือ 3 หมื่นล้าน

บริเวณจุดที่ตั้ง North Expansion ห่างจากเมนเทอร์มินอล 1 กิโลเมตร แผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิเดิมจะมีการก่อสร้าง APM-automated หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท ปรับแผนใหม่ยกเลิก APM แล้วก่อสร้างสถานีแอร์พอร์ตลิงก์หน้าอาคาร 1 สถานี งบฯลงทุนเหลือ 200 ล้านบาท

ความคืบหน้า ทอท.ได้เริ่มพูดคุยกับ บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์รายใหม่ เบื้องต้นเห็นด้วยในหลักการแล้ว ขั้นตอนต่อไป ต้องนำเสนอคณะกรรมการกำกับโครงการตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 เห็นชอบแก้ไขสัญญาสัมปทาน เพื่อเพิ่มเนื้องานในส่วนนี้เข้าไป

หลังจากนั้น ต้องเวียนขอความเห็นชอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2565

แบ่งรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน

“เมื่อ North Expansion เป็นรูปร่าง คาดว่าเพิ่มศักยภาพรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคน/ปี มีพื้นที่รวม 250,000 ตร.ม. มีหลุมจอดประชิดอาคาร 25 หลุมจอด รองรับเครื่องบิน code E 4 หลุมจอด/code C 21 หลุมจอด”

องค์ประกอบใน North Expansion กำหนดให้มีพื้นที่การค้า หรือโครงการ GTC เพื่อเป็นจุดช็อปปิ้งและรับประทานอาหาร 50,000 ตร.ม. อาจจะวางรูปแบบลงทุน PPP และมีอาคารจอดรถรองรับต่างหากอีก 3,000 คัน

ไทม์ไลน์ผลักดันโครงการนี้ จบจาก IATA แล้วต้องรอผลการศึกษาของ “ICAO องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ” อีกชั้นหนึ่ง คาดว่าจะสรุปผลศึกษาได้ปี 2565 และเริ่มก่อสร้างในปี 2566

1/11/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (1 พฤศจิกายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS