info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.117.196.217

เล็งลงนาม “แหลมฉบังเฟส 3” ปลายปี 64

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

เล็งลงนาม แหลมฉบังเฟส 3 ปลายปี 64 การท่าเรือควัก 5 หมื่นล้าน ถมทะเล ส่งมอบ “กัลฟ์-ปตท.” ปี 66

วันที่ ?????10 พฤศจิกายน 2564 เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9พฤศจิกายน 2564 ได้รับทราบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F วงเงิน 110,000 ล้านบาทไปแล้วนั้น

ลงนามปลายพ.ย.-ต้นธ.ค. 64

คาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล (PTT TANK) และบจ.ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน – ต้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ โดยโครงการนี้มีอายุสัญญาสัมปทาน 35 ปี จะเริ่มนับเมื่อมีการลงนามในสัญญา คาดว่า กทท.จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อที.อี.ยู.

โดยวงเงินโครงการจำนวน 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท เป็นส่วนของงานโครงสร้างพื้นฐานและงานถมทะเลและเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท

เล็งส่งมอบพื้นที่ปี 66 เสร็จปี 68

สำหรับแผนงานหลังจากนี้ เมื่อมีการลงนามแล้ว กทท.จะเร่งรัดดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เช่น งานขุดลอกถมทะเล สร้างเขื่อนกันคลื่น วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยจะเร่งรัดในส่วนของท่าเทียบเรือ F ก่อน ซึ่ง กทท.จะใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมส่งมอบพื้นที่ขั้นต้นและหนังสือเริ่มต้นงาน (Notice to Proceed:NTP) ได้ในปลายปี 2566

ซึ่งในช่วง 2 ปีระหว่างที่รอการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ ทาง กทท. จะยังไม่จัดเก็บค่าตอบแทน จะให้ไปเริ่มจ่ายในปีที่ 3 หลังนับอายุสัญญา (ประมาณปี 2568) ซึ่งจะจ่ายในงวดแรก 89 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของท่าเทียบเรือ F เอกชนจะต้องลงทุนจำนวน 30,000 ล้านบาท คาดว่าท่าเทียบเรือ F จะเปิดใช้ได้ในปี 2568

“การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับส่งมอบให้เอกชนพัฒนานั้น ได้จัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ งานระบบรางและย่านรถไฟ

ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต และ กทท. ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ และหลังจากได้รับการอนุญาตแล้วจะเริ่มดำเนินการงานทางทะเลทันที พร้อมกันนี้ กทท. ได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอลซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอลซัลแตนส์ จำกัด เพื่อควบคุมงานก่อสร้าง โครงการฯ วงเงิน 898 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา” ผอ.กทท.กล่าว

เซ็นปุ๊บ เอกชนควักจ่าย 120 ล้าน

ด้านเรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการสายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร กทท. เปิดเผยว่า ในส่วนของหลักประกันสัญญาโครงการ เมื่อมีการลงนามแล้ว ทางเอกชนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการลงนามในสัญญาจำนวน 120 ล้านบาท และจะต้องวางหลักประกันสัญญาการก่อสร้างไว้ก่อนจำนวน 4,000 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 2 ปี จะมีการคืนหลักประกันบางส่วนให้ 2,000 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและบริหารโครงการแล้วจะคืนหลักประกันที่เหลือให้ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี จากนั้น จะะทำการเปลี่ยนจากหลักประกันก่อสร้างเป็นหลักประกันเท่ากับมูลค่าสัญญาสัมปทานโครงการ ซึ่งจะต้องวางหลักประกันไว้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา

ส่วนการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและบริหารโครงการ จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการจัดตั้ง เป็นไปตามพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2560 รูปแบบคล้ายๆกับโครงการอื่นๆของอีอีซี เช่น รถไความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

นอกจากนั้น ในการลงนามในสัญญา เอกชนกลุ่ม GPC จะต้องร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle:SPV) มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาทด้วย ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2568 จะดำเนินการเปิดส่วนของท่าเทียบ F1 ได้ก่อน จากนั้นท่าเทียบเรือ F2 จะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2574 เมื่อทั้ง 2 ท่าเทียบเรือแล้วเสร็จก็คาดว่าจะสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ 4 ล้านที.อี.ยู/ปี

10/11/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (10 พฤศจิกายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS