info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.239.208.72

รอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ปี 2565 ต้นทุนธุรกิจชีวิตเพิ่ม-เงินเฟ้อสูงทำร้ายคนจน

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็น 1 ใน 3 นักเศรษฐศาสตร์ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอซีรีส์วิเคราะห์ คาดการณ์ ทำนายผลเศรษฐกิจไทย ทั้งที่เป็นมา และกำลังจะเป็นไปในปี 2565

เศรษฐกิจไทยโต “รองบ๊วย” อาเซียน

ดร.อมรเทพประเมินว่า หลังเปิดเมือง เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำที่สุดในรอบนี้ไปแล้ว ภาคต่างประเทศเองเริ่มดีขึ้นสนับสนุนภาคการส่งออก ปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มโตต่อเนื่องไป คงไม่เห็นจีดีพีติดลบไตรมาสต่อไตรมาสอีก

“แต่ถ้าดูภาพรวม เราแทบจะต่ำที่สุดในอาเซียนเลย ไม่นับเมียนมา เพราะเขามีปัญหาภายใน ขณะที่ไทยถือว่าขยายตัวต่ำจริง ๆ เพราะว่าพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ก็ต้องจับตาเรื่องนี้ต่อในปีหน้า”

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย อยู่ระหว่างปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ใหม่ หลังจากตัวเลขไตรมาส 3 ปี 2564 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาค่อนข้างเซอร์ไพรส์ สะท้อนภาพว่าผลกระทบจากโควิด-19 กระทบการภาคผลิตไม่รุนแรง ดังนั้นธนาคารน่าจะปรับจีดีพีโตดีขึ้นจากเดิมที่ประเมินไว้ปีนี้จะขยายตัวได้ 0.4% และปีหน้าขยายตัว 3.2%

ครึ่งหลังปี 2565 เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

ดร.อมรเทพกล่าวว่า มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่แสงจะชัดเจนไปอยู่ครึ่งหลังของปี 2565 “นักท่องเที่ยวน่าจะเห็นเข้ามาขั้นต่ำไตรมาสละ 1 ล้านคน และจะไปเร่งมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จากปัจจัยคนในประเทศได้วัคซีนเต็มที่ ประเทศภูมิภาคมีการเปิดรับการเดินทางกันมากขึ้น หรือจีนเปิดประเทศให้การท่องเที่ยวกลับมา การท่องเที่ยวจะเป็นแสงสว่างจริง ๆ โอกาสเศรษฐกิจไทยปีหน้าอยู่ที่ภาคต่างประเทศเป็นหลัก”

ในช่วงครึ่งปีแรก การเติบโตภายในประเทศยังไม่แข็งแกร่งพอ การกระจายรายได้ยังค่อนข้างมีปัญหา “คนมีไม่ใช้ คนใช้ไม่มี” การซื้อคอนโดมิเนียม รถยนต์ สินค้าคงทนต่าง ๆ ยังต้องรอไปก่อน เพราะยังขาดความเชื่อมั่น ขณะที่คนระดับล่างต้องใช้จ่าย มีความจำเป็น แต่ไม่มีเงิน หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง ขณะที่รายได้โตไม่ทัน

“ต้องรอให้เกิด Trickle-Down Effect การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจากบนลงล่างให้ได้ ให้คนมั่นใจ แล้วเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งนโยบายภาครัฐ ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่มีเงินใช้จ่าย โดยให้แรงจูงใจเรื่องภาษี แต่ต้องเลือกใช้เป็นบางเวลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เงินหมุนได้ และ 2.การดูแลระดับล่าง ก็ต้องมีมาตรการ จะเป็นคนละครึ่ง หรือ เงินอุดหนุนทั้งหลาย คงต้องมี แต่อาจต้องเลือกกลุ่ม ไม่ใช่หว่านแห ต้องเลือกว่ากลุ่มรายได้ระดับไหนควรได้รับ”

จับตา เงินเฟ้อ-ราคาสินค้าเพิ่ม ทำร้ายคนจน

ปัจจัยที่น่าจับตา สำหรับการบริหารจัดการเศรษฐกิจปี 2565 ในทัศนะ “ดร.อมรเทพ” มี 3 เรื่อง คือ 1.การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ หากมีมาตรการล็อกดาวน์อีก จะยิ่งกระทบกับการส่งออกของไทย 2.เงินเฟ้อ ที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในปีหน้า เงินเฟ้อในประเทศยังต่ำที่ประมาณ 2% แต่ในสหรัฐไปถึง 6% หลายประเทศก็เร่งขึ้นค่อนข้างแรง 3.ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitical Risk) ที่ปีหน้าจะมีเลือกตั้งสหรัฐ โดยต้องจับตานโยบายที่จะส่งผลกระทบกับตลาดโลก รวมถึงความสัมพันธ์กับจีนด้วย

“เรื่องเงินเฟ้อ เราก็ต้องยอมรับว่า ต้นทุนสินค้าวันนี้พุ่งขึ้นสูงมาก แต่ไม่สามารถผลักไปให้ผู้บริโภคได้ เพราะว่าเศรษฐกิจโตช้า ดีมานด์ค่อนข้างอ่อนแอ ถ้าเร่งเศรษฐกิจขึ้นมาได้ เงินเฟ้อก็อาจจะเร่งขึ้นอีก พอเงินเฟ้อขึ้นมา คนกลุ่มที่รายได้น้อยก็โดนผลกระทบแรง เงินเฟ้อ ทำร้ายคนจนมากกว่าคนรวย เพราะคนที่ต้องใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ทั้งอาหารสด และพลังงาน ต้นทุนหลากหลายส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะผลกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”

ควรแก้เงินเฟ้อด้วยนโยบายการคลัง

สำหรับมาตรการที่จะมาช่วยเหลือเงินเฟ้อ หากเป็นต่างประเทศ ก็เร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่ประเทศไทย คงขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ เพราะว่าเศรษฐกิจไทยยังโตไม่ทั่วถึง และ มีปัญหาหลายส่วน ซึ่งคงต้องมาจับตาเรื่องนี้ โดยมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะคงดอกเบี้ยทั้งปีในปี 2565 เพราะถ้าปรับขึ้นจะเป็นการขัดขาเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องรอให้เครื่องติด แล้วค่อยไปเก็บพื้นที่นโยบายการเงิน (Policy Space) ถ้าจะปรับขึ้น ก็ต้องมีปัจจัย คือ จีดีพี ต้องโตไปอยู่เหนือระดับก่อนโควิด-19 ก่อน ซึ่งคงต้องรอช่วงกลางปี 2566

“เราบอกว่าเงินเฟ้อปีหน้า เฉลี่ยทั้งปีก็คงไม่ถึง 2% แต่ก็มีบางช่วงที่ทะลุกรอบขึ้นไป ขณะที่การกระจายตัวของเศรษฐกิจ ภาพจะยังขาดการกระจายตัวในระดับล่างอยู่”

ข้อเสนอแนะสำหรับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ “ดร.อมรเทพ” เห็นว่า “ควรใช้มาตรการทางการคลังในการดูแล การช่วยลดค่าครองชีพแต่ต้องไม่หว่านแห เจาะไปที่คนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ เช่น การลดราคาน้ำมัน ก็ไม่ควรให้คนระดับบนได้ประโยชน์ด้วย การแก้ในเรื่องราคาพลังงาน ไม่ควรไปบิดเบือนกลไกตลาดมาก และควรใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างพลังงาน เพราะไทยมีปัญหาเรื่องการใช้พลังงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ”

โตแบบเดิม หรือโตจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ในระยะยาวโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ควรโฟกัสจุดไหน “ดร.อมรเทพ” ไขคำตอบไว้ว่า “หากจะสร้างศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว โจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เพราะการจะปรับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จะต้องใช้นโยบายการคลังเชิงรุกเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน”

“โจทย์ของเรา คือ การลงทุนภาคเอกชน โครงสร้างพื้นฐานจะโตเท่าไหร่ในปีหน้า หรือ สองปีต่อจากนี้ เพราะต่างชาติ เขาจะเข้ามาดูว่าจะลงทุนได้มากแค่ไหน เป็นโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยมาก ๆ เราบอกว่าเราจะกลับมาโตที่ระดับศักยภาพ แต่ศักยภาพอยู่ที่เท่าไหร่ยังไม่รู้เลย ก่อนโควิด-19 เราก็โตได้แค่ระดับ 3% ปีไหนโตเกิน 4% ตื่นเต้นกันทั้งประเทศ ถ้าปี 2566 เรากลับไปโตได้ 4% แต่ถ้ามันเป็นรูปแบบเดิม คนที่ได้ประโยชน์และการกระจายตัวยังมีปัญหา เราจะเลือกโตแบบเดิม หรือเราจะใช้เวลาในปี 2565 ในการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ”

ระบาดระลอกใหม่…ไม่ควรกลับไปล็อกดาวน์

คำถามของนักธุรกิจและประชาชนคือ หากมีการระบาดระลอกใหม่ ประเทศจะกลับไปล็อกดาวน์อีกหรือไม่ “ดร.อมรเทพ” ตอบให้ว่า “ไม่ควรกลับไปล็อกดาวน์อีก เพราะเอกชนไม่อยากจะให้มีล็อกดาวน์ ดังนั้นรัฐควรจะประกาศไปเลยว่า จะไม่ล็อกดาวน์แล้ว จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นได้ โดยต้องเป็นโมเดลการอยู่ร่วมกับโควิด เป็นวิถีชีวิตใหม่”

“ไม่ใช่ว่าจะไม่สนใจสุขภาพเลย หากเกิดระบาดขึ้นมา เราจะต้องกำหนดไปเลยว่าให้กลุ่มที่มีความเสี่ยง คนที่ไม่ได้รับวัคซีน ก็ให้เคลื่อนย้ายได้น้อยหน่อย ดูแลเฉพาะกลุ่มตรงนี้มากกว่าหว่านแห แล้วก็ต้องเป็นวิถีชีวิตใหม่ มีการตรวจ ATK เจอกันได้มากขึ้น ทานข้าวนอกบ้านได้ สังสรรค์กันได้ เที่ยวกันได้มากขึ้น เงินก็จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ดีขึ้น เปิดรับต่างชาติเข้ามา ก็จะมีเงินจากภายนอกเข้ามาเติม ธุรกิจก็เดินได้ทั้งระดับกลางและระดับล่าง”

20/11/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (20 พฤศจิกายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS