info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.118.120.204

อัพเดท ความคืบหน้ารถไฟฟ้าหลากสี ส่งท้ายปี 64

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

ที่ผ่านมาระบบขนส่งทางรางในกรุงเทพอย่าง โครงการรถไฟฟ้าหลายเส้นทางเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กระทรวงคมนาคมวางไว้ จะทำให้ทุกส้นทางสามารถเชื่อมต่อระหว่างกันได้อย่างเป็นระบบ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการได้อย่างครบครัน

ถึงแม้ว่าจะมีหลายโครงการที่ยังเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบว่าบางโครงการเกิดสะดุดกลางทางอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท ที่ยังไม่สามารถเปิดประมูลได้และยังไม่ได้ข้อยุติเสียที ล่าสุดศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้รับคำฟ้องคดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในกรณีที่ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ โดยจะนัดไต่สวนมูลฟ้อง 3 วัน ในวันที่ 14, 20 และ 24 ธันวาคมนี้

ที่ผ่านมารฟม.ได้ยกเลิกการประกวดราคาในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 และมีแผนที่จะเริ่มประกาศประกวดราคาอีกครั้งหนึ่ง แต่กลับถูกบริษัทเอกชนสกัดยื่นฟ้องคดีสายสีส้มเพิ่มเติม อีก 2 คดี คือ 1.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการล้มประมูลเนื่องจากเป็นการทำละเมิด และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม. มีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนหรือเปิดประมูลใหม่และ 2.ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง กรณีที่ผู้ว่าการรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกได้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือก

สำหรับไทม์ไลน์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในรอบนี้ ทางรฟม.ได้ออกประกาศว่า ประกาศขายเอกสารการประกวดราคาให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ภายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และให้เอกชนจัดทำข้อเสนอภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 หรือ 60 วัน คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้าง ภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 โดยผู้รับจ้างจะสามารถเริ่มงานระบบรถไฟฟ้าได้ทันที ซึ่งรฟม.จะเร่งดำเนินการในส่วนนี้เพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จทันตามแผนที่วางไว้และไม่กระทบต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณกลางปี 2568 ส่วนสายสีส้มตะวันตกจะเปิดให้บริการหลังจากสายสีส้มตะวันออกเปิดให้บริการแล้ว 3 ปี

ไม่เพียงเท่านั้น รฟม.ได้เสนอการเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แต่กลับพบว่าในที่ประชุมมีคณะกรรมการบางรายไม่เห็นด้วยในการเปิดประมูลรอบนี้ และเห็นควรให้คดีต่างๆที่อยู่ในศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ข้อยุติเสียก่อน ทำให้ปัจจุบันโครงการฯยังไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ อีกทั้งไทม์ไลน์ที่รฟม.ระบุไว้ก่อนหน้านี้กลับคาดเคลื่อนไปหมด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการทั้งเส้นทางได้

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 8.23 ล้านบาท ปัจจุบันรฟม.ได้ปรับปรุงร่างทีโออาร์และกลับมาใช้เกณฑ์ด้านราคาตามเดิม โดยมีการเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุง) ผ่านทางเว็บไซต์ รฟม. และเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน-24 ธันวาคม 2564 เบื้องต้นรฟม.ได้กำหนดยื่นข้อเสนอ วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอทั้ง 3 ซองให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 และคาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 6 สัญญาภายในเดือนมกราคม 2565 เริ่มก่อสร้างปี 2565 และเปิดบริการปี 2570

ด้านความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการแบบเสมือนจริง ( Soft Opening) ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 โดยไม่คิดค่าโดยสาร หลังจากนั้นจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2564 ปัจจุบันมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 6,105 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโดที่สูงถึง 13% สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการด้านการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสารประจำทาง โดยรูปแบบของบัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง ใน 3 ปีแรกจะมีค่าแรกเข้า 12 บาท และ ค่าโดยสาร 1.50 บาทต่อกิโลเมตร เบื้องต้น รฟท. พิจารณากำหนดแนวทางเพื่อลดภาระทางการเงิน รวมทั้งแนวทางการผ่อนผันดอกเบี้ยใน 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ

ในส่วนของงานจ้างบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ และงานบริหารจัดการงานอาคารและระบบวิศวกรรมประกอบอาคารสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ระหว่างเผยแพร่ร่าง TOR เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ และวิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์ ส่วนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่ระหว่างการคณะกรรมการจัดทำประกาศฯ พิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)

ฟากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันรฟม.ได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) แล้วเสร็จ โดยการส่งมอบพื้นที่สถานีสุดท้าย คือ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ที่มีการเปลี่ยนตำแหน่งสถานีจึงต้องมีการดำเนินการตามกระบวนการด้านผลกระทบให้ครบถ้วน ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้ว เบื้องต้นบริษัทฯได้เร่งรัดผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนความคืบหน้าด้านงานโยธา 83.40% และงานระบบรถไฟฟ้า 79.61% คาดว่าจะส่งมอบขบวนรถครบทั้งหมด 42 ขบวน ในช่วงกลางปี 2565 และเปิดให้บริการปลายปี 2565

ส่วนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร (กม.) คืบหน้างานโยธา 88.14% งานระบบรถไฟฟ้า 83.80% ปัจจุบันติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าบริเวณสถานีรัชดา-ลาดพร้าว เบื้องต้นได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้รฟม.ได้ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ เกือบครบ 100% แล้ว คาดว่าเปิดให้บริการภายในกลางปี 2565

ปิดท้ายที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ปัจจุบันในส่วนของการก่อสร้างฐานรากตอม่อร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 (แคราย-ม.เกษตรฯ) และช่วงทดแทน N2 (เกษตร – นวมินทร์ - ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก) ที่อยู่ระหว่างรอแผนงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เนื่องจากกทพ.ติดปัญหาการก่อสร้างทางด่วนช่วงเกษตรศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถเสนอโครงการต่อได้

ทั้งนี้รฟม.ระบุว่า การประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลของรฟม.จะต้องเปิดประมูลร่วมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ของกทพ. รวมทั้งการก่อสร้างโครงการฯจะต้องหาเอกชนผู้รับจ้างรายเดียวกัน ซึ่งกทพ.จะเป็นผู้พิจารณาต่อไป

หากโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทางสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางในไทยสอดรับแผนเปิดประเทศ

29/11/2564  ฐานเศรษฐกิจ (29 พฤศจิกายน 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS