info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.117.107.90

จี้รัฐกันพื้นที่ EEC ตั้งนิคม SME คณิศ ขานรับ-กนอ.ชี้ลงทุนไม่คุ้มค่าเช่า

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

“ส.อ.ท.” จี้รัฐหนุนนิคมเอสเอ็มอี 200 ไร่ ขอสิทธิประโยชน์ ความสะดวก หวังทุนไทยรายเล็กแจ้งเกิดใน EEC สมาพันธ์ แนะ 6 นโยบาย SMEs รัฐต้องสนับสนุนมากกว่านี้ “คณิศ” ขานรับดันซัพพลายเชนในอุตสาหกรรม “กนอ.” ชี้ต้นทุนสูงอาจไม่คุ้มค่าเช่า เพราะมีนิคมชายแดนรองรับแล้ว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้เสนอรัฐทบทวนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEs โดยจัดสรรพื้นที่ 100-200 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมให้สิทธิพิเศษอัตราค่าเช่า และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องปฏิบัติการหน่วยงานรับรองมาตรฐาน รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วน

เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้การลงทุนจากต่างชาติสะดุด เอกชนต้องหันกลับมาโฟกัสนักลงทุนไทย โดยเฉพาะ SMEs มากขึ้น หลังจากประกาศ SMEs เป็นวาระแห่งชาติ แล้วก็ต้องส่งเสริมและขับเคลื่อนการลงทุนให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากเอสเอ็มอีบางรายมีศักยภาพสามารถพัฒนาสู่การเป็น startup ได้

“เราเคยเสนอคณะกรรมการชุดย่อย EEC ไปแล้ว แต่ยังไม่คืบหน้า และเคยพาอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเข้าไปแล้ว อยากให้รัฐบาลดันต่อ หากรอเอกชนที่ทำนิคมอาจไม่คุ้มที่ต้องมาขายที่ดินแปลงเล็กกับผู้ประกอบการขนาดเล็ก

รวมถึงสิทธิประโยชน์บีโอไอที่ได้ไปแล้วจะขอซ้ำอีกไม่ได้ รัฐต้องช่วยเหลืออุตสาหกรรมไทย จัดบริการ one stop service ดึงนักลงทุนไทยด้วยกันเองมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความแข็งแรงให้ SMEs และ EEC ควรเป็นแม่งานและไม่จำเป็นต้องปรับแก้กฎหมาย”

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช รองประธาน และประธานคณะกรรมการภูมิภาคสมาพันธ์ SMEs ไทย กล่าวว่า รัฐควรผลักดันนิคมเอสเอ็มอีให้เป็นรูปธรรม หลังพูดกันมานานแล้ว เพื่อกระจายความเจริญให้ครบทุกภาครัฐต้องมีแผนหลักคือ

1.ขยายจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ทั่วประเทศ อำนวยความด้านสาธารณูปโภค โทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต รวมถึง IOT smart SMEs zone เป็นต้น

2.บีโอไอต้องส่งเสริมกลุ่ม SMEs ที่ดำเนินธุรกิจ BCG ไม่ใช่กลุ่ม new S curve เพียงกลุ่มเดียว

3.สิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ ราคาค่าเช่าพื้นที่ แปรกองทุนของบีโอไอมาเป็นกองทุนเพิ่มขีดความสามารถพัฒนา SMEs ลดภาษี 50% สำหรับผู้ประกอบการในนิคมให้สิทธิหรือทุนพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี เป็นต้น

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวเห็นด้วยว่า EEC ควรทำ และโฟกัสนักลงทุนไทยมากขึ้น อาจไม่ใช่รูปแบบนิคมก็ได้ อาจเป็นการเชื่อมโยงทำงานร่วมกับธุรกิจใหญ่ ๆ ขอแค่ให้มีบุคคลหรือหน่วยงานหารือแบบจริงจัง หากผู้พัฒนานิคมมองว่าทำแล้วไม่คุ้มก็ให้หาวิธีส่งเสริมด้านอื่นได้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมเดิมที่อยู่ใน EEC เต็มหมดแล้วไม่สามารถขยายได้ ส่วนการตั้งนิคมใหม่มีต้นทุนสูง ส่งผลให้อัตราค่าเช่าสูงไปด้วย SMEs อาจไม่มีกำลังพอ แม้ต้องแลกกับสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภค และสิทธิประโยชน์ก็ตาม

“SMEs รายเล็กไม่เหมาะที่จะอยู่ในนิคม แต่สามารถหาพื้นที่ใกล้อุตสาหกรรมรายใหญ่ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อไปซัพพอร์ตจะเหมาะสมกว่า การอยู่นอกนิคม แม้ต้องดูแลตัวเอง แต่ต้นทุนที่ดินจะถูกกว่า ซึ่ง กนอ.ยังมีพื้นที่รองรับอยู่ เช่น นิคมสระแก้ว 1 ไร่ เป็นโรงงานสำเร็จรูป และนิคมที่ภาคใต้”

7/3/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (7 มีนาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS