info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.138.122.4

6 ซีอีโออสังหาฝากการบ้าน ผู้ว่า กทม. คนใหม่

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

โค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่

กำหนดโหวตวันอาทิตย์ 22 พฤษภาคม 2565

“ประชาชาติธุรกิจ” จัดทำผลสำรวจความคาดหวังภารกิจ 3 เรื่องแรก ที่อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เร่งรัดดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

โดยสัมภาษณ์หน้างาน 6 CEO วงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์-โมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างและของตกแต่ง เพื่อเป็นกระจกสะท้อนไปถึงออฟฟิศเสาชิงช้า ณ ศาลาว่าการ กทม. นำเสนอในท่วงทำนอง CEO ช่วยคิด-ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ช่วยทำ เพื่อมหานครกรุงเทพของพวกเราทุกคน

ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการ ศุภาลัย ที่เขาพูดหาเสียงอยู่แล้วว่าจะทำอะไร ผมว่านโยบายก็ดี ๆ กันทั้งนั้น ในฐานะคนกรุงเทพฯอยากให้ทำเยอะเลย มีเป็นร้อยเรื่อง จริง ๆ ก็ต้องทำพร้อม ๆ กัน อยู่ที่ใครได้ (ชนะเลือกตั้ง) เขาก็ต้องทำตามที่เขาบอกประชาชน บางคนเน้นเรื่องบริหารจัดการทางเท้า, สวน, การศึกษา, พยาบาล ผมว่าดีหมด ผมไม่มีปัญหา

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ไม่ว่าใครจะได้ เขาต้องทำไพรออริตี้ตามที่เขาหาเสียงไว้ ก็ต้องทำอย่างนั้นก่อน บางเรื่องต้องใช้เวลา เช่น แก้น้ำท่วมจะทำแก้มลิงใต้จตุจักร ฯลฯ ส่วนเรื่องทางเท้าไม่ยาก มีงบประมาณให้สำนักงานแต่ละเขตก็รับไปจัดการ

แนวนโยบายหาเสียงเกือบทุกคนพูดเรื่องทำมาหากิน เศรษฐกิจ ปากท้องชาวบ้าน

เรื่องค้าขายของแต่ละเขต ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต้องไปจัดระเบียบเพื่อให้ค้าขายถูกต้อง ไม่เกะกะมาก ให้ประชาชนทั่วไปเดินได้

เพราะถึงแม้จะสามารถค้าขาย (หาบเร่แผงลอย) อยู่ในที่สาธารณะก็จริง แต่ทางเท้าก็มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นทางสัญจรที่ต้องมีความสะดวกสบาย และมีความปลอดภัยด้วยเช่นกัน

พราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทพราว เรื่องแรกเลยเข้าใจว่าทุกคนคิดเห็นเหมือนกันก็คือ ในฐานะพ่อเมืองคนใหม่อยากให้เข้ามาทำให้ความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯดีขึ้น ช่วงหลังสวนสาธารณะที่เป็นปอดของเมืองก็เริ่มเห็นมีกิจกรรมมีชีวิตชีวา มีการปรับปรุง ซึ่งในยุคโรคระบาดโควิดทำให้ชีวิตความเป็นอยู่คนก็เปลี่ยนไป คำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น มองหาสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนมากขึ้น

เรื่องที่ 2 แน่นอนว่าอยากให้แก้รถติด ซึ่งเป็นปัญหาของเมืองมหานครใหญ่ ๆ ทั่วโลก ในขณะที่ปัญหารถติดของกรุงเทพฯน่าจะเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่ผูกพันไปกับคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยในเมืองหลวงด้วย

เรื่องที่ 3 อยากให้มีนโยบายโปรโมตกรุงเทพฯ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ดึงนักลงทุนเข้ามา เพื่อเข้ามาช่วยกันทำให้เมืองมันดีขึ้นไปอีก

พีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทย ผมอยากให้ปรับปรุงทัศนียภาพทางเท้า และพวกสายไฟทั้งหลายแหล่เอาลงดินให้หมด คือเราเสียภาษีเยอะแล้ว เราควรเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ได้ให้เหมือนกับในต่างประเทศ ผมไปเที่ยว ดูงานที่พนมเปญ กัมพูชา สายไฟลงดินหมด สวยมาก เราสวยสู้เขาไม่ได้เลย

เรื่องที่ 2 คุณภาพชีวิต เรื่องความปลอดภัย กล้องวงจรปิด การใช้เทคโนโลยี ทุกคนเสียภาษีให้ กทม. ดังนั้น กทม.ไม่น่าจะมีพื้นที่เปลี่ยว ไม่น่าจะมีอันตราย สังคมที่เป็นแหล่งเสื่อมโทรมคงต้องไปจัดการใหม่ ทำลานกีฬาชุมชนให้หมด ผมว่ายังปะปนกันอยู่เกินไป

เรื่องที่ 3 คงเป็นเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ต้องทำให้เร็วขึ้น ขั้นตอนการทำงาน ใบอนุญาตต่าง ๆ คือ (ใบอนุญาต) เยอะอยู่แล้วยังมาช้าอีก

ซึ่งใบอนุญาตการพัฒนาโครงการอสังหาฯมี 30 กว่าใบ ทำให้ช้าตั้งแต่เริ่มจนก่อสร้างเสร็จ เช่น ใบอนุญาตเก็บขยะ ใบอนุญาตเชื่อมทาง ฯลฯ ซึ่งก็ขอที่เดิมนั่นแหละ ทำไมไม่รวมทำทีเดียว ถ้าบูรณาการตรงนี้ได้จะทำให้ต้นทุนเราน้อยลง

จริง ๆ คนซื้อคอนโดมิเนียม เขาก็ซื้อหุ้นเป็น เขาก็ดูว่าเรากำไรเท่าไหร่ ถ้าต้นทุนเราถูกลง เราก็พร้อมที่จะขายตามราคาต้นทุน เฉลี่ยปีหนึ่งต้นทุนเรื่องเวลาในการขอใบอนุญาตล่าช้า ถ้าเสร็จเร็วขึ้น 6 เดือน ต้นทุนค่าดอกเบี้ยประหยัดไปได้ 2-3% แล้ว

ปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มปรีดาโฮลดิ้ง เรื่องแรก ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กับการขออนุญาต EIA (รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม) เหตุผลหลักเพราะรัฐบาลมีการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าจำนวน 10-12 เส้นทางในปัจจุบัน นั่นหมายความว่ารถไฟฟ้ามีการเพิ่มและเปลี่ยนเส้นทาง ดังนั้น ผังเมืองรวมฉบับใหม่ควรมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้มีจุดที่ควรพัฒนาหรือไม่ควรพัฒนาต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ TOD-transit oriented development การพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีรถไฟฟ้า/ศูนย์กลางคมนาคม

ส่วนกฎหมาย EIA ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ยากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะกฎเกณฑ์เกี่ยวกับด้านสังคม ข้อเสนอคือ กทม.ควรจะต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้จริง มีระยะเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน เช่น 3-5-7-15 วัน ถึงแม้จะมีการสั่งให้ปรับปรุงก็ต้องมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนเพื่อให้เอกชนสามารถวางแผนการพัฒนาโครงการได้ ทั้งนี้ ปัญหาที่ผ่านมามีการใช้ดุลพินิจสูง ทำให้เกิดความล่าช้าที่บริหารจัดการไม่ได้ และกลายเป็นความเสี่ยงในการลงทุน

เรื่องที่ 2 อยากให้ กทม.ลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากปี 2565 สถานการณ์โควิดและโอมิครอนยังไม่จบ ขณะที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครนกลายเป็นโจทย์การทำธุรกิจข้อใหม่ ในฝั่งผู้ประกอบการมีการขอใบอนุญาตสร้างคอนโดฯ เตรียมไว้ตั้งแต่ปี 2563 แต่ในช่วง 3 ปีนี้ (2563-2565) ไม่สามารถเปิดขายโครงการได้เพราะปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นอยากให้ กทม.ลดอัตราภาษีที่ดินฯ 50% เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการออกไปก่อน จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแท้จริง

เรื่องที่ 3 ใบอนุญาตก่อสร้างซึ่งมีอายุ 5 ปี แต่รับผลกระทบยุคโควิด-สงคราม 100% ไม่สามารถผลักดันการลงทุนหรือเปิดขายได้ตามปกติ ข้อกำหนดคือใบอนุญาตก่อสร้างมีอายุ 5 ปี ถ้าหากทำไม่ทันจะต้องขอใหม่ ซึ่งหมายถึงจะต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่หมด โดยจะต้องขอใบอนุญาตต่าง ๆ รวมทั้งขอ EIA ใหม่ กลายเป็นเพิ่มต้นทุนซ้ำสอง

ข้อเสนอที่อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เข้ามาดูแลแก้ไขให้คือ ขอให้ยืดอายุใบอนุญาตก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯออกไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

สุทธิสาร จิราธิวัฒน์ CEO ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด เรื่องแรก อยากให้ทำกรุงเทพฯให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ใจจริงผมมองว่าทุกวันนี้กรุงเทพฯ ขาดอย่างเดียวคือเมืองที่เดินได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข หมายความว่าเดินไปเห็นต้นไม้ เดินไปมีฟุตปาทที่ดี มีสวนสาธารณะต่าง ๆ นานา

ส่วนเรื่องอื่น ๆ เราอยู่กับสถานการณ์โควิด 2 ปีกว่า เข้าปีนี้เป็นปีที่ 3 เรื่องดูแลสุขภาพคิดว่าคนเข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครก็ต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ในฐานะเมืองหลวง ผมคิดว่ากรุงเทพฯต่างจากเมืองอื่นอยู่อย่างเดียว คือ ทุกคนออกจากบ้านแล้วไปขึ้นรถ ขึ้นรถแล้วเข้าตึก ขึ้นรถแล้วกลับบ้าน แต่มองในภาพรวมจะเห็นว่าไม่มีสถานที่ให้เขาสามารถเดิน ใช้ชีวิตอย่างจูงสุนัขไปเดินตามถนนหนทาง เท่าที่มีอยู่ถือว่ายังมีน้อยไป

อาณัติ กิตติกุลเมธี รองกรรมการผู้จัดการโครงการแนวราบ แสนสิริ ให้คิดเร็ว ๆ อย่างแรกต้องแก้ไขปัญหาผังเมือง ภาคอสังหาริมทรัพย์ตรงตัวคือเรื่องกฎหมายผังเมือง พอไม่มีความชัดเจน เอกชนทำตัวลำบาก บางทีที่ดินบางแปลงมีเส้นตัดผ่าน (แผนตัดถนนใหม่) แต่ผังเมืองใหม่ไม่มีแล้ว ทำให้เราสามารถซื้อที่ดินได้

ดังนั้น ตัวไหน (พื้นที่) ศึกษาอยู่ ตัวไหนจะสร้างจริง ขอมีความชัดเจน เพื่อให้เราพร้อมจะซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการต่อ ซึ่งสภาพปัญหาปัจจุบันผังเมืองที่จะประกาศใหม่มีอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันใช้กฎหมายที่ต่ออายุผังเมืองเดิม คิดว่าเอกชนต้องการความชัดเจน เพราะมีผลต่อเอกชนในการจัดซื้อที่ดิน

เรื่องที่ 2 อยากให้แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งต้องแก้ให้ตรงจุด ในส่วนของไซต์ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ในภาพรวมส่วนใหญ่ปฏิบัติตามกฎหมายทุกฉบับที่ควบคุมไซต์ก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการของแสนสิริ ไซต์ก่อสร้างมีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว

เรื่องที่ 3 อยากให้เร่งรัดรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ล่าช้าอยู่ โครงการในส่วนที่ กทม.ดูแลอยู่ เพื่อให้เมืองมีความเจริญ มีการเดินทางที่สะดวกสบาย รวมถึงรถไฟฟ้าสายใหม่ที่อยู่ในแผน ต้องเร่งลงทุนและเปิดใช้บริการโดยเร็ว

18/5/2565  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (18 พฤษภาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS