info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.206.185.68

“ราคาวัสดุก่อสร้าง” ป่วน “อสังหาฯ” รายใหญ่”ดิสรัป”ต้นทุน สกัดกำไร

Equipment News / ข่าววัสดุอุปกรณ์

สงคราม รัสเซีย - ยูเครน ป่วน ต้นทุนอุตสาหกรรม “ ก่อสร้าง - อสังหาฯ” ฉุดกำไรสุทธิ 36 บริษัทในตลท.ไตรมาสแรก ลดลงเกือบ 19% ศูนย์ข้อมูลฯ เผย ตลาดที่อยู่ฯยังอ่วม ราคาน้ำมัน ,เงินเฟ้อฉุด ขณะหน่วยสร้างเสร็จใหม่ย่อตัว เหตุผู้พัฒนาฯประวิงเวลา สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้โลกเกิด “วิกฤติซัพพลายเชน” ครั้งใหญ่ เกิดภาพไตรมาสแรก ปี 2565 ภาคอสังหาริมทรัพย์ เผชิญกับราคาวัสดุก่อสร้างแพงกระฉูด เนื่องด้วยทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ส่งออกเหล็ก (วัสดุตั้งต้น) อันดับ 3 และ 8 ของโลก รวมถึงสงคราม ยังทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างหนัก ลุกลามการขนส่ง กระทบต่อต้นทุนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย

กลายเป็นวิกฤติเชิงซ้อน ต่อการฟื้นตัวของผลประกอบการ ที่มาพร้อมกับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และแนวโน้มนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งหากไม่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม การปรับตัว แตกพอร์ตโปรดักส์อย่างหลากหลาย เพื่อรับการฟื้นตัวของดีมานด์ที่อยู่อาศัย ทั้งบ้าน และ คอนโดมิเนียม หลังจากความรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลดลง ส่งผลผู้ซื้อ - นักลงทุน คลายความกังวลลง และผ่าน”จุดต่ำสุด”ในแง่ความมั่นคงทางการงานและรายได้แล้วนั้น ก็ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯบางส่วนสามารถกอบโกยรายได้ ผลกำไรสุทธิได้อย่างโดดเด่นเช่นกัน

ล่าสุด LPN WISDOM บริษัทวิจัยตลาดที่อยู่อาศัยในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบผลประกอบการ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2565 ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ทั้ง 36 ราย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. มีรายได้รวม 67,724.22 ล้านบาท ลดลง 2.86% ส่วนกำไรสุทธิรวมกันอยู่ที่ 7,327.59 ล้านบาท โดยยังคงลดลงถึง 18.97 % เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2564 อย่างไรก็ตาม มี 5 บริษัทรายใหญ่ ที่สามารถทำกำไรสุทธิสูงสุด ดังนี้

ขณะนายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า แม้ไตรมาส 1 ปี 2565 ภาคธุรกิจอสังหาฯ ส่งสัญญาณ “ผงกหัว” ขึ้น จากจำนวนโครงการเปิดขายใหม่ และยอดขายได้ใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่กลับยังเผชิญกับทั้งปัจจัยลบที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อค่าครองชีพ และเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อ หรือลงทุนในอสังหาฯ ขณะจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ จดทะเบียนมีเพียง 17,543 หน่วย ลดลงถึง 27.1 % แบ่งเป็น จัดสรร 10,011 หน่วย และอาคารชุด 7,532 หน่วย ทั้งนี้ คาดมาจาก “ภาวะต้นทุนก่อสร้าง” ที่แพงขึ้นมาก ทำให้ผู้พัฒนาฯ ชะลอการก่อสร้าง เพื่อยื้อเวลาหา แหล่งซื้อ-ขาย ในราคาที่เหมาะสม โดยคาดว่า ครึ่งปีหลัง “ราคาบ้าน”มีแนวโน้มสูงขึ้น

" จำนวนหน่วยสร้างเสร็จในช่วงไตรมาสแรก ทั้ง 3 เดือน ภาพรวมยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีเพียงคอนโดฯ เดือน ม.ค. ที่เพิ่มขึ้นมา 112% ขณะ ก.พ. และ มี.ค. ต่ำ ขณะเดียวกัน คาดว่าต้นทุนค่าก่อสร้างแพงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโครงการใหม่อาจมีการปรับราคาขายขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง "

ด้านผู้พัฒนารายใหญ่ของตลาด นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า การดำเนินงานของธุรกิจอสังหาฯในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากสภาพเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในภาวะซบเซา ,มีปัจจัยหลายประการกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน บริษัทยังเจอกับปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง กระทบต่อแผนก่อสร้างโครงการ และการส่งมอบบ้านให้ลูกค้าล่าช้า โดยบริษัทมีรายได้รวม 5,679 ล้านบาท ลดลง 17.6% อย่างไรก็ตาม กลับมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 639 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11%

ทั้งนี้ มาจากการกลยุทธ์ลดต้นทุนบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งดำเนินมาล่วงหน้าตั้งแต่ปีก่อน เช่น ปรับเส้นทางการขนส่ง ,การปรับโปรดักส์ ประหยัดซีเมนต์ 15,000 ตัน ,การใช้บล็อกเชนในการทำงาน คาดทั้งปีจะลดรายจ่ายได้กว่า 460 ล้านบาทขณะการรับมือกับความเสี่ยงด้านราคาวัสดุก่อสร้างนั้น ใช้วิธีการซื้อตุนล็อกราคาล่วงหน้า ทำให้ไม่กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างคอนโดฯ มากนัก มีเพียงกลุ่มเหล็ก ,ปูน ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ อาจส่งผลต่อต้นทุนสร้างบ้าน 2-3% ทั้งนี้ บริษัทยังจะตรึงราคาบ้านไปจนถึงสิ้นปี จึงเป็นนาทีทองของผู้บริโภค "ไตรมาสแรกอสังหาฯเผชิญปัญหาเรื่องแรงงาน อีกทั้งวัสดุก่อสร้างแพง จากห่วงโซ่อุปทานน้ำมัน ถ้าควบคุมต้นทุนไม่ดี จะกระทบต่อการส่งมอบบ้าน อย่างไรก็ตาม ภาพใหญ่อุตสาหกรรม ยังมีพอมีปัจจัยบวก โควิดคลี่คลาย ช่วยดึงกำลังซื้อกลับเข้ามาจากเทรนด์ใหม่ๆ ,ดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มคงที่ ขณะการเข้าสู่ยุคซีเนียร์ลิฟวิ่ง และนิวไลฟ์สไตล์ ซึ่งเราแข็งแรงทั้ง 2 ขา จะเป็นดีมานด์ใหม่หนุนภาพรวมธุรกิจ "

อีกฟาก ผู้พัฒนารายใหญ่ในกลุ่มคอนโดฯนั้น นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาฯ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เผยว่า ปฎิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้ ต้นทุนการก่อสร้าง กำลังเป็นปัญหาต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ เพราะราคาปรับขึ้นสูง โดยเฉพาะ เหล็ก ทำให้กดดันต่อราคาขายใหม่ อย่างไรก็ตาม คาดเป็นผลดี ต่อผู้พัฒนาฯที่มีสต็อกโครงการพร้อมขายเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้บริษัท มีโครงการที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และ อยู่ระหว่างก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ รวมมูลค่ากว่า 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ และสร้างกำไรขนาดใหญ่ในภาวะ ตลาดมีความเสี่ยงเรื่องต้นทุน อย่างไรก็ตาม ในอนาคต คาดสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น ผ่านการบริหารจัดการต้นทุนของผู้พัฒนาฯแต่ละราย ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ เริ่มมีการใช้วิธี ขอทำสัญญากับผู้รับเหมา ก่อนเปิดราคาบิดดิ้ง เพื่อหาราคาที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการ เป็นทางออกสำคัญ แก้ความผันผวนของราคา

ทั้งนี้ ก่อนหน้า กลุ่มวัสดุก่อสร้างอย่าง บมจ. ผลิตภัณฑ์คอนกรีตชลบุรี เผยว่า ในไตรมาส 2 บริษัทยังต้องระมัดระวังต่อปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามต่อ โดยเฉพาะ ต้นทุนเชื้อเพลิงและวัตถุดิบราคาผันผวน จนอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาเลื่อนการลงทุนบางโครงการออกไป

22/5/2565  ฐานเศรษฐกิจ (22 พฤษภาคม 2565)

ช่องยูทูปของ iCONS