ปัจจัยความไม่แน่นอนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฉายแววความผันผวน เติบโตได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลเคยตั้งไว้ที่ 3% ทำให้หลายภาคส่วนต้องทำงานอย่างหนักเพื่อดึงดูดการลงทุน เพิ่มเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนดึงดูดการลงทุนพื้นที่ภาคตะวันออก แต่จนถึงขณะนี้ EEC ประสบกับอุปสรรคหลายประการในการขับเคลื่อนการทำงาน
ประชาชาติธุรกิจ ได้สัมภาษณ์ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) ถึงสถานการณ์ โอกาส และอุปสรรคในการผลักดันโครงการต่าง ๆ
สิ่งไหนทำได้ตอนนี้ให้เริ่มทำไปก่อน อย่างสิทธิประโยชน์ EEC ที่เราส่งไปที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี (นายพิชัย ชุณหวชิร) ไปแล้ว แต่เรื่องยังไม่ส่งไป อยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ค้างอยู่ตรงนี้เป็นเวลา 1 ปีกว่าแล้ว เราก็ต้องปรับแผนใหม่โดยจะใช้วิธีเสนอสิทธิประโยชน์เป็นแพ็กเกจ พิจารณาเป็นราย ๆ ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง จากนั้นก็จะส่งให้รองนายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยที่เราจะไม่รอประกาศแล้ว ไม่อย่างนั้นเราจะเสียนักลงทุนไป เสียโอกาส เพราะเราเป็นคนไปเชิญชวนเขามา แล้วไม่ให้เขาสักทีมันก็ลำบาก
EEC ไม่ได้ทำแค่ส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น แต่เราต้องการให้นักลงทุนเอาเงินมาลงเพราะการพัฒนา ถ้าเราไม่อาศัยเงินต่างประเทศเข้ามา เศรษฐกิจมันจะไม่หมุน เพราะเศรษฐกิจในประเทศมันก็มีเท่านี้ มันต้องมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาและการลงทุนมันมีเรื่อย ๆ มันไม่มีโลว์ซีซั่นเหมือนท่องเที่ยว แค่ว่าต้องเอาเขาเข้ามาให้ได้
ทรัมป์แค่ชั่วคราว มาแล้วเดี๋ยวก็ไป
แม้จะมีเรื่องทรัมป์เข้ามา อาจจะดูเหมือนยากที่ดึงการลงทุนโดยใช้ EEC แต่เราต้องมองว่า การลงทุนตอนนี้คนมาลงทุน เขาไม่ได้ส่งออกไปแค่สหรัฐ เขายังมีตลาดอาเซียนและตลาดอื่น ผมยอมรับว่าเรื่องทรัมป์มันก็มีส่วนทำให้การลงทุนอาจต้องชะลอ โดยเฉพาะกลุ่มที่จะมุ่งขายสหรัฐ แต่กว่าจะสร้างโรงงานเสร็จ กว่าจะผลิตขาย ตอนนั้นผมว่าทรัมป์ก็คงไปแล้ว ไม่น่าที่จะอยู่ครบเทอม
เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดบริโภค เขาไม่สามารถผลิตของเองได้ สุดท้ายมันจะกระทบกับคนในประเทศของเขาเอง แม้แต่แปรงสีฟันก็ซื้อจากจีนหมด วันหนึ่งเคยซื้อที่ 10 บาท มาเป็น 12.50 บาท ทุกอย่างขึ้นราคาหมด แรก ๆ ก็ยอมรักชาติ หลัง ๆ น่าจะอยู่ไม่ได้เพราะทำคนลำบากหมด
เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีการลงทุนเข้ามา เมื่อโลกมันเปลี่ยนขนาดนี้ ยังไงก็ต้องลงทุน คนมีเงินยังไงก็ต้องมา แม้เงินจะฝืดแต่รัฐบาลไม่ปล่อยให้ฝืดนานถึง 4 ปีแน่ ไม่อย่างนั้นคนตายหมด รัฐบาลไม่มีเงิน เงินฝืด คนไม่ใช้เงิน รัฐก็เก็บภาษีไม่ได้
มิ.ย.นี้ได้ฤกษ์ลุยสนามบินอู่ตะเภา
ตอนนี้นักลงทุนเขาสนใจไปที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน Data Center เข้ามาถามมากสุด และพยายามหาพื้นที่ลงทุนมากในแถบศรีราชา จ.ชลบุรี นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่มองหาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม หรือกลุ่ม BCG พลังงานไฟฟ้า รีไซเคิล บริการทางการแพทย์ มีเข้ามาคุยหมด
การลงทุนใหญ่สุดที่น่าจะได้เห็นในเร็ว ๆ นี้ คือ สนามบินอู่ตะเภาคือ การก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ใช้เวลาสร้าง 4 ปี และกลุ่ม BTS ซึ่งได้สัมปทานในส่วนอาคารผู้โดยสาร และเมืองการบิน ตามกำหนดคือ เดือนมิถุนายน 2568 อีก 2 เดือนเราจะได้เห็นเม็ดเงินลงทุน 2 ส่วนนี้เข้ามา นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่รอมติ ครม. คือ การลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ดังนั้น ปีนี้เราน่าจะได้เห็นการลงทุน 3 ก้อนในอู่ตะเภา
นั่นคือ รันเวย์ของกองทัพเรือ อาคารผู้โดยสารบวกกับเมืองการบิน โดยบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) และศูนย์ซ่อมที่เป็นการลงทุนของการบินไทยกับบางกอกแอร์เวย์ส รวมแล้วมูลค่าการลงทุนเริ่มต้นหลักหมื่นล้านบาท และใน 4-5 ปีก็จะเป็นหลักแสนล้านบาท ช่วยทำให้พื้นที่สัตหีบ ระยอง ชลบุรี ก็มีเงินอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 218,701.49 ล้านบาท พื้นที่ 6,500 ไร่ รองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ปี 2572 พร้อมเปิดให้บริการประกอบด้วย 7 โครงการ อาทิ รันเวย์ที่ 2 อุตุนิยมวิทยาการบิน ศูนย์ควบคุมการบิน ทางยกระดับเชื่อมมอเตอร์เวย์ ระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ส่วนที่ลงทุนโดยเอกชน มูลค่า 194,004.14 ล้านบาท อาทิ อาคารผู้โดยสาร ศูนย์การขนส่งภาคพื้น ศูนย์ธุรกิจการค้า เขตประกอบการค้าเสรี ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ และแนวรถไฟความเร็วสูง
เตรียมเซ็นสัญญา 18 มิ.ย. 68
การลงทุนของ UTA จะมีการเซ็นสัญญาเมืองการบินและอาคารผู้โดยสาร ในวันที่ 18 มิ.ย. 2568 จากนั้นเราจะยื่น NTP จากเดิมที่จะรอรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน แต่ตอนนี้ไม่รอแล้ว เราไม่ออก NTP ตอนนี้เพราะยังต้องรอเรื่องสิทธิประโยชน์เพื่อไปขายต่อ ซึ่งก็คงได้สิทธิประโยชน์ไม่เกินกว่า 15 ปี แต่อาจจะมีเพิ่มเติม
เช่น ขออนุญาตสรรพสามิต เปิดเป็นพื้นที่ขายเหล้า 24 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่สามารถขายได้ตลอดทั้งวัน ร้านอาหารก็ไม่ต้องเสียภาษีแบบดิวตี้ฟรี ซึ่งในกรอบ EEC ทำให้ได้ เพียงแต่ต้องคุยกับกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งตอนนี้คุยกันกว่า 80% แล้ว ไม่น่าติดปัญหา
ในส่วนของรันเวย์ (มูลค่า 18,690 ล้านบาท) ประมูลไปแล้ว อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว กองทัพเรือเป็นเจ้าของโครงการ รูปแบบเหมือนดอนเมือง ผู้ชนะประมูล คือ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นซึ่งถ้าเขาไม่เซ็นสัญญาเริ่มงาน ก็จะโดนยึดเงินประกัน
เมืองการบินแซงไฮสปีดแล้ว
ส่วนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตอนนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งให้อัยการตรวจสอบแล้ว ที่ผ่านมามันวนเวียนอยู่ ยังไม่ถึงอัยการ เพราะผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ยังพิจารณาอยู่คณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาต้องดูอีกครั้ง โดยอัยการจะใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน จากนั้นก็จะส่งให้เอกชนผู้ชนะประมูล คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด พิจารณา
ถ้ายังไม่พอใจก็ต้องแก้ใหม่ ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ที่ เอรา วัน จะไม่ยอม ถ้าอัยการส่งกลับมาก็เข้าบอร์ด EEC อีกรอบ เพื่อให้อนุมัติสัญญาตามที่แก้ ภายในเดือนมิถุนายนนี้น่าจะเข้าบอร์ด EEC ได้ แต่จะเข้า ครม.หรือไม่ ก็ต้องมาเร่งเพราะที่ผ่านมามันช้ามาก ช้าเกือบทุกเรื่อง เดือนกรกฎาคม 2568 น่าจะไป ครม.ได้
เพราะเราหลุดไทม์ไลน์มาแล้ว มาตั้งแต่ปี 2560 ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่า เมืองการบินจะแซงไฮสปีดไปแล้ว เพราะไม่ต้องมาเกี่ยวกับ ครม. ผมเองพยายามจะบอกว่า อะไรที่ทำโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง อะไรที่เกี่ยวกับการพัฒนาบริหารสัญญา ก็ควรทำไปเลย ไม่ต้องรอ
ถ้าถามว่า เอรา วัน ไม่อยากทำแล้ว เพราะมันค้างมานานแล้ว ตอนนี้จำนวนผู้โดยสารก็น้อยลง การเดินทางด้วยไฮสปีดก็คงไม่เร็วไปกว่าเดินทางรถยนต์ ต่างกันแค่ 30 นาที ถ้าจะมองแบบนั้นก็ได้ แต่ทุกอย่างมันเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เหมือนที่เราเคยคิดว่าไม่ต้องมีรถไฟฟ้า BTS ก็ได้
แต่รถไฟฟ้ามันทำให้สภาพของการเป็นเมืองเกิดขึ้น ย้อนกลับไปในอดีต คนมองว่า BTS เกะกะ ประท้วงห้ามตั้งสถานีหน้าโรงเรียน ประท้วงกันมากมาย มาตอนนี้ยอมจ่ายเงินเพื่อให้สถานีเข้ามา นี่คือสิ่งที่มันเปลี่ยนไป ดังนั้นการพัฒนาที่ดีที่สุด คือ พัฒนาการขนส่งเพื่อให้เกิดเมืองใหม่ เพื่อให้คนอยู่ไกลเดินทางเข้ามาในเมืองสะดวกขึ้น
การมีรถไฟความเร็วสูง ไม่ได้มองแค่การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯไปอู่ตะเภา แต่สิ่งที่เกิด คือ การเติบโตของสถานีระหว่างทาง การเชื่อมสามสนามบิน มันเป็นแค่มุข เพราะจริง ๆ แล้ว น้อยคนที่จะเดินทางไปสนามบินด้วยรถไฟ แต่เป้าหมายคือ รัฐต้องการขยายเมือง ถามว่าถ้าเอกชนที่ชนะประมูลไม่ทำ ก็ต้องให้ ร.ฟ.ท.ทำ
ขยายไปปราจีนฯปีนี้เห็นแน่
ส่วนการขยายพื้นที่ EEC ไปปราจีนบุรีนั้น ขณะนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คาดว่าเดือนกันยายนนี้ก็น่าจะชัดเจน เพื่อเข้าบอร์ด EEC โดยกระบวนการคือ ต้องออกกฎหมายใหม่ ออกเป็นร่างกฤษฎีกาขยายเขตจาก 3 เป็น 4 จังหวัด แล้วเข้า ครม.อนุมัติ โดยจะกำหนดพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด แต่ผังเมืองจะต้องกำหนดเป็นโซนนิ่ง ก็จะเห็นว่าตรงไหนจะใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นสีม่วงได้บ้าง
เพราะอย่างระยองก็ไม่ได้ทำอุตสาหกรรมทั้งจังหวัด ปราจีนฯจะยากตรงที่มีเขตอุทยานเขาใหญ่ ปางสีดา ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมได้แค่ 2-3 อำเภอเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้บอกว่า ทั้งอำเภอเป็นสีม่วงหมด ในผัง EEC ของปราจีนฯมันก็จะกำหนดโซนบอกชัดเจน ที่เราขยายมาปราจีนพราะเป็นความต้องการของเอกชน โดยการยื่นสมุดปกขาวของหอการค้า สภาอุตสาหกรรมในพื้นที่
การเป็น EEC จะมีผลต่อเขามาก และตอนนี้ที่ปราจีนฯก็มีโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมอยู่ เขาก็จะยกระดับได้สิทธิประโยชน์ EEC ไปด้วย จะได้นักลงทุนมากขึ้น มันก็จะช่วยผ่อนคลายให้ราคาที่ดินฝั่งระยอง ชลบุรี ลดลงด้วย
4/5/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 4 พฤษภาคม 2568 )