info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.208.25.215

ยูนิโคล่ ผุดโรงงานอินเฮาส์ เร่งสปีดพัฒนาสินค้าใหม่

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

ความเร็วในการพัฒนาสินค้าถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแข่งขันสำคัญของวงการฟาสต์แฟชั่น ที่แต่ละแบรนด์ลอนช์สินค้าใหม่กันอย่างต่อเนื่อง โดย “ฟาสต์รีเทลลิ่ง” บริษัทแม่ของแบรนด์แฟชั่น อาทิ ยูนิโคล่ และจียู หนึ่งในผู้เล่นรายหลักของวงการ ตัดสินใจปรับโมเดลธุรกิจเพื่อเร่งความเร็วของการวิจัยพัฒนาและเปิดตัวสินค้าใหม่ของตนให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการตั้งโรงงานของตนเองในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยนับเป็นโรงงานแห่งแรกที่ยักษ์ฟาสต์แฟชั่นเป็นเจ้าของ หลังจากที่ผ่านมาอาศัยกำลังผลิตจากโรงงานของซัพพลายเออร์ในต่างประเทศ อาทิ จีนและเวียดนามในสัดส่วน 100% หรือเท่ากับกำลังผลิต 1.3 พันล้านชิ้นต่อปี

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า “ฟาสต์รีเทลลิ่ง” ตัดสินใจเปิดโรงงานสิ่งทอแห่งแรกของบริษัทในย่านชิโนโนเมะของกรุงโตเกียว และอยู่ติดกับย่านอาริอาเกะที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ โดยแม้กำลังผลิตเต็มที่ของโรงงานแห่งนี้จะสามารถผลิตผ้าฝ้ายถักแบบ 3 มิติ ได้เพียง 1,000 ชิ้นต่อวัน และสินค้าที่ผลิตได้จะวางจำหน่ายเฉพาะในสาขาแฟลกชิปที่กรุงโตเกียวเท่านั้น

แต่ฟาสต์รีเทลลิ่งต้องการใช้ระยะทางที่ห่างจากสำนักงานใหญ่และฝ่ายวิจัยพัฒนาไม่มากนี้ สร้างความได้เปรียบด้านความเร็วของกระบวนการพัฒนาและเปิดตัวสินค้าใหม่

“โทโมยะ อุสึโนะ” ซีอีโอของอินโนเวชั่น แฟคทอรี บริษัทในเครือฟาสต์รีเทลลิ่ง ซึ่งรับผิดชอบบริหารโรงงานแห่งใหม่นี้อธิบายว่า เดิมกระบวนการผลิตสินค้าต้นแบบของฟาสต์รีเทลลิ่งนั้นจะอาศัยโรงงานซัพพลายเออร์ที่จังหวัดวาคายามะ ซึ่งห่างจากโตเกียวไปทางตะวันตกถึง 500 กิโลเมตร

ด้วยระยะทางและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเดินทางที่หากขับรถยนต์ต้องใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง หรือนั่งรถไฟชินคันเซ็น 4 ชั่วโมงนี้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยพัฒนากับฝ่ายผลิตในโรงงาน เนื่องจากหลายครั้งความต้องการของฝ่ายวิจัยพัฒนานั้นเกินความสามารถในการผลิต จึงต้องอาศัยการปรับแก้ตั้งแต่ช่วงผลิตชิ้นงานต้นแบบ แต่ด้วยระยะทางทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยพัฒนาแทบจะไม่เคยเดินทางไปยังโรงงานเลย

ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเปิดตัวสินค้าใหม่อยู่บ่อยครั้ง เพราะต้องปรับแก้การผลิตใหม่ในภายหลัง ด้วยเหตุนี้ ยักษ์ฟาสต์แฟชั่นจึงตัดสินใจตั้งโรงงานในกรุงโตเกียวใกล้กับสำนักงานใหญ่ โดยตั้งแต่เริ่มเดินเครื่องจักรเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยพัฒนาเดินทางมาตรวจสายการผลิตในโรงงานเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งฟาสต์รีเทลลิ่งเชื่อว่าโมเดลการประสานงานใหม่ที่ใกล้ชิดขึ้นนี้จะช่วยลดระยะเวลาพัฒนาสินค้าตั้งแต่ออกแบบจนถึงวางขายลงจาก 3 เดือน เหลือเพียง 1 เดือนหรือน้อยกว่าได้

นอกจากผลิตสินค้าต้นแบบแล้ว สินค้าจากโรงงานนี้จะถูกใช้เพื่อทดลองผลตอบรับของตลาดอีกด้วย โดยสินค้าจะวางจำหน่ายแบบจำกัดเวลาที่ร้านยูนิโคล่ สาขาแฟลกชิปในกรุงโตเกียว และหากได้รับผลตอบรับดีจะต่อยอดส่งไปผลิตด้วยโรงงานซัพพลายเออร์ในเวียดนามและจีน เพื่อผลิตขายทั่วโลกต่อไป ทั้งนี้ สินค้าแรกที่จะวางจำหน่ายคือ เสื้อสเวตเตอร์ผ้าฝ้ายถักแบบ 3 มิติ ราคา 2,990 เยน หรือประมาณ 864 บาท

“เราจะใช้ช่วงเวลาจากนี้วัดผลตอบรับของสินค้า หากผลตอบรับดีก็จะส่งแบบไปให้โรงงานที่ต่างประเทศเพื่อผลิตขายตลาดแมส กระบวนการนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและสต๊อกสินค้าที่ไม่จำเป็นลงไปได้มาก” โทโมยะ อุสึโนะ กล่าว

ทั้งนี้แม้แผนการนี้จะช่วยตอบโจทย์ด้านระยะเวลาของการพัฒนาสินค้าให้กับฟาสต์รีเทลลิ่งได้ แต่ยักษ์ฟาสต์แฟชั่นยังคงมีโจทย์ท้าทายเหลืออยู่ นั่นคืออัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศย่านเอเชียที่ยังต่ำกว่าประเทศตะวันตกอยู่มาก ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งที่มีฐานลูกค้าหลักในซีกโลกตะวันตกอย่างอินดิเท็ค เจ้าของแบรนด์ “ซาร่า” จึงต้องรอดูกันว่าฟาสต์รีเทลลิ่งจะแก้โจทย์นี้อย่างไร

9/7/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (9 กรกฎาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS