info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.192.73.68

รถไฟนับ 1 ลงทุน PPP สายสีแดง ที่ปรึกษาเสนอสัมปทาน 50 ปี

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting

เพื่อนำเสนอความเป็นมาและวัตถุประสงค์ ขอบเขตการศึกษาภาพรวมของโครงการ ตลอดจนแนวทางการลงทุนและความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนของภาคเอกชน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและจัดทำโครงการ ให้มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากนักลงทุนภาคเอกชน สถาบันทางการเงิน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนา

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ที่ปรึกษาได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดแผนการเดินรถเบื้องต้นที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทาง ครอบคลุมการเดินรถไฟทุกประเภทของ ร.ฟ.ท. ที่จำเป็นจะต้องใช้ทางวิ่งร่วมกัน โดยพิจารณาการจัดช่วงการเดินรถ (Time Slot) เพื่อไม่เกิดความซ้ำซ้อน โดยแบ่งรูปแบบการเดินรถไปตามลักษณะการดำเนินโครงการเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยรูปแบบการเดินรถของโครงการจะมีช่วงที่ให้บริการขนานกับเส้นทางการเดินรถของ ร.ฟ.ท. ในส่วนของรถธรรมดาและรถชานเมืองบริเวณช่วงสถานีดังกล่าว

ระยะที่ 2 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง โดยในระยะการเปิดส่วนต่อขยายช่วงต่างๆ อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินรถชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ของ ร.ฟ.ท. บางส่วนในช่วงสถานีที่ให้บริการซ้ำซ้อนกับสถานีของโครงการ หรืออาจจะจอดให้บริการที่สถานีเชื่อมต่อหลักเท่านั้น

และระยะที่ 3 โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ การเดินรถจะเป็นการให้บริการระบบรถไฟชานเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเต็มรูปแบบ โดยมีสถานีศูนย์กลางร่วมกับ ร.ฟ.ท. ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งโครงการจะมาช่วงต่อการให้บริการรถชานเมืองจากการรถไฟฯ ทั้งหมด

รัฐลงทุน 90% สบช่องสัมปทาน 50ปี

ทั้งนี้โครงการได้ดำเนินการศึกษา ทบทวน วิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยผลการวิเคราะห์แสดงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างรัฐและเอกชน ดังนี้

1.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100 %

2.ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ 100 %

3.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%

4.ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%

5.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64%

6.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช สัดส่วนการลงทุนรัฐ คิดเป็น 90.36 % และสัดส่วนการลงทุนเอกชนคิดเป็น 9.64% โดยพิจารณาระยะเวลาร่วมลงทุนที่ 50 ปี

ตัวโครงการมีผลตอบแทนทางการเงินในภาพรวมทั้ง 6 โครงการ ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ -0.54% FIRR (%) คิดเป็นมูลค่า -159,154.49 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 0.44 B/C Ratio สำหรับรูปแบบการลงทุนที่แบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนดังที่กล่าวไปข้างต้น มีผลตอบแทนทางการเงิน ดังนี้ ผลตอบแทนโครงการ 8.62 IRR (%) คิดเป็นมูลค่า 9,670.51 NPV (ล้านบาท) คิดเป็น 1.08 B/C Ratio

ยังไม่สรุปรูปแบบ PPP 3 แบบ

นอกจากนี้ โครงการจะดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยมีรูปแบบให้ผลตอบแทนแก่เอกชน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ 1. Net Cost (เอกชนลงทุนงานโยธา-ระบบ-บริหารโครงการ แล้วแบ่งรายได้ให้รัฐ เอกชนรับความเสี่ยงทั้งหมด)

2. Gross Cost (รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา เอกชนสร้างงานระบบและหาขบวนรถมาวิ่ง โดยรัฐจะเก็บรายได้ทั้งหมด และจ่ายเป็นค่าจ้างบริหารให้เอกชน)

3. Modified Gross Cost (รูปแบบเหมือน PPP Gross Cost แต่ถ้ารายได้ของโครงการสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เอกชนสามารถได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมได้)

เปิดขั้นตอนหาตัวเอกชน 14 เดือน

ทั้งนี้ กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 14 เดือน โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้ 1. การประกาศเชิญชวนและขายซองเอกสารประกอบข้อเสนอ 2. เอกชนจัดเตรียมเอกสารและยื่นข้อเสนอ 3. ประเมินข้อเสนอของเอกชนและการเจรจาต่อรอง และ 4. การขออนุมัติร่างสัญญาร่วมลงทุนและผลการคัดเลือก ซึ่งโครงการดังกล่าว จัดเป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว โดยหวังให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงข่ายระบบรางได้เต็มประสิทธิภาพ.

26/10/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (26 ตุลาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS