แอล เอช มอลล์ฯ กางแผนลงทุนต่อเนื่อง ทุ่ม 6 พันล้าน ผุดเทอร์มินอล 21 พระราม 3 ริมเจ้าพระยา ยึด ซีบีดีใหม่เจาะกลุ่มเป้าหมาย พนักงานออฟฟิศ ครอบครัว เตรียมรีโนเวตสาขาอโศก ปี66 แย้มหาทำเลปักธงสาขาใหม่ในกรุงเทพฯ เพิ่ม เน้นแนวรถไฟฟ้า
นายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 แฟชั่นไอส์แลนด์ และเดอะพรอมานาด บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) บริษัทในเครือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มฟื้นตัว ตั้งแต่เริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ที่ทำให้จำนวนลูกค้าและเม็ดเงินสะพัดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการในศูนย์เกือบทุกแห่งของบริษัท กลับมาอยู่ในระดับ 70-80% ของช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ยกเว้น เทอร์มินอล 21 โคราช ที่กลับมาประมาณ 65% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังขาดเพียงนักท่องเที่ยวที่แม้จะมีนักท่องเที่ยวเวียดนาม อินเดีย และตะวันออกกลางเข้ามาแต่ก็ยังไม่สามารทดแทนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งถือเป็นกลุ่มสำคัญที่มีการจับจ่ายสูง
ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนจะเดินหน้าลงทุนรีโนเวตสาขาต่าง ๆ ต่อเนื่อง รวมถึงมองหาทำเลสำหรับสาขาใหม่ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งกลางและชานเมือง และเตรียมรีโนเวตเทอร์มินอล 21 อโศก ในปี 2566 ที่จะถึงนี้ โดยจะมีการนำโนว์ฮาวความสำเร็จจากศูนย์อื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมามาปรับใช้ เช่น โซนแฟชั่นแบบเปิดโล่ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ามิกซ์แอนด์แมตช์สินค้าจากแบรนด์ต่าง ๆ อย่างอิสระ ขณะที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ มีแผนจะรีโนเวตพื้นที่ 1 หมื่น ตร.ม.ต่อปี จากที่ผ่านมาได้ทยอยรีโนเวตไปแล้ว 2-3 หมื่น ตร.ม. รวมถึงเตรียมสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ส่วนสาขาใหม่ยังคงโฟกัสในกรุงเทพฯ ทั้งใจกลางและชานเมือง ด้วยขนาดประมาณ 10 ไร่ เน้นแนวรถไฟฟ้าทั้งที่สร้างแล้วและกำลังจะสร้างในอนาคต ด้วยยุทธศาสตร์การปรับรูปแบบ-การตกแต่งศูนย์ ไลน์อัพร้านค้า ตามฐานลูกค้าไม่ว่าจะเป็นชาวไทย นักท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งในกรุงเทพฯ บริษัทยังมีสาขาน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และด้วยจำนวนประชากรระดับ 10-12 ล้านคน จึงทำให้ยังมีช่องวางให้ศูนย์การค้าขยายตัวได้อีก ขณะนี้มีทำเลที่เล็งไว้ 3-4 แปลง
สำหรับสาขาพระราม 3 สาขาล่าสุดที่เปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยเม็ดเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 1.4 แสน ตร.ม. ขนาด 16 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซีบีดีใหม่บนถนนพระราม 3 และจะเดินหน้าเสริมความแข็งแกร่งเพิ่มต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความได้เปรียบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านติดแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นการประสานกับกรมเจ้าท่า ผู้ให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา เรือข้ามฝาก รวมถึงเรือสำราญต่าง ๆ เปิดเส้นทางเดินเรือมายังท่าของศูนย์
ขณะเดียวกันจะใช้พื้นที่ริมแม่น้ำในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ลอยกระทง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนช่วงไตรมาส 4 ที่จะระดมจัดกิจกรรมแบบรายเดือนด้วยงบฯ 50 ล้านบาท อาทิ งานเปิดตัว งานลอยกระทง งานปีใหม่ ฯลฯ เพื่อสร้างการรับรู้และความคึกคัก จากก่อนหน้านี้แคมเปญ Grand Opening ต้อนรับเปิดศูนย์ ระหว่าง 20 ต.ค.-30 พ.ย.นี้ ด้วยโปรโมชั่นลดราคาฉลองเปิดศูนย์กับบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ รวมถึงปูพรมสร้างการรับรู้ เน้นย้ำจุดเด่นทั้งการออกแบบภายในที่ได้แรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์ของประเทศต่าง ๆ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐ ญี่ปุ่น และบรรยากาศสบาย ๆ เหมือนการมาพักผ่อน รวมถึงโซนฟู้ดมาร์เก็ต แหล่งรวมสตรีตฟู้ดแบรนด์ดังมากกว่า 200 ร้านค้า เพื่อรองรับและให้บริการ บนพื้นที่มากกว่า 1,500 ตารางเมตร อาทิ จกโต๊ะเดียว ชัยปลาหมึกย่าง ยู้ลูกชิ้นปลาเยาวราชและขนมเบื้องสรินทร์ทิพย์ ฯลฯ รองรับกลุ่มครอบครัวและพนักงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว
พระราม 3 เป็นย่านที่มีศักยภาพสูง ด้วยประชากรมากกว่า 1 ล้านคน และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อย่านธุรกิจและที่พักอาศัยของฝั่งกรุงเทพฯ พระราม 3 และฝั่งธนบุรี มีออฟฟิศมากกว่า 43 แห่ง พนักงานมากกว่า 60,000 คน ที่พักอาศัยมากกว่า 5,000 ยูนิต รวมกว่า 1 ล้านคน รวมไปถึงโรงแรมมากกว่า 44 แห่ง จำนวนกว่า 5,300 ห้อง อีกทั้งยังอยู่ในแผนขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทาช่วงพระโขนง-พระราม 3-ท่าพระและช่วงทองหล่อ-วัชรพล อีกด้วย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าเข้าใช้บริการถึง 3.5 ล้านคน หรือ 50,000 คนต่อวัน นายประเสริฐกล่าวย้ำ
22/10/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (22 ตุลาคม 2565)