ในการเสวนา หัวข้อ Energy for Tomorrow วาระโลก-วาระประเทศไทย 2023 ที่หนังสือพิมพ์มติชนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวบรรยายพิเศษ หัวข้อ ธุรกิจยั่งยืน ปรับตัวมุ่งสู่ Net Zero
ใน 4 ประเด็นหลัก คือ ความยั่งยืน ESG การสร้างความสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2) เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (climate change) 3) เรื่องพลังงานกับ Net Zero และ 4) GC สู่เป้าหมาย Net Zero
โดยชี้ให้เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงของโลกเกี่ยวโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งทิศทางของภาคธุรกิจในปัจจุบันต้องมุ่งสู่ ESG การสร้างความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การมุ่งสู่ ESG นั้น ไม่เพียงเป็นการ ลดความเสี่ยง แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสต่อธุรกิจ ช่วยให้สามารถดึงและรักษาบุคลากรที่ดีไว้ได้ อีกทั้งนักลงทุน คู่ค้า ต่างให้ความสำคัญเรื่องนี้ ตลอดซัพพลายเชนทั้งหมดตื่นตัว เรื่องความยั่งยืนยังส่งผลดีต่อการแข่งขันในระยะยาว จะมองชอร์ตเทอมไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะกังวลว่า ESG ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ในความเป็นจริงกลับข้างกัน เพราะการทำเรื่องประหยัดพลังงานช่วยลดการใช้ทรัพยากร การนำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาช่วยส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง องค์กรมีต้นทุนลดลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ไทยท็อป 10 รับพิษโลกร้อน
ขณะที่เทรนด์สิ่งแวดล้อม มีความสำคัญมากขึ้น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทำให้โลกร้อนมากขึ้นมีผลเสียเป็นวาระโลก ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในการประชุม COP26 และ COP27 ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่อียิปต์ มุ่งที่จะยกระดับการลดการปล่อยคาร์บอน
เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งทำให้ทุกประเทศมีนโยบายเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีกฎหมายให้ลดการปล่อยคาร์บอนโดยนำเรื่องอัตราภาษีมากำหนด หรือสหรัฐ มีกฎหมายส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เป็นต้น
ไทยเป็นประเทศที่ติด TOP10 ที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อน เพราะไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร หากไทยไม่ดำเนินการเรื่องนี้ในอีก 70-80 ปีข้างหน้า ผลผลิตจะหายไปครึ่งหนึ่ง เสียพื้นที่เพาะปลูก ไทยเป็นพื้นที่ลุ่มอาจจะถูกน้ำท่วม ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 2 ฟุต
ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพี ทางรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และจะมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2065 และไม่เพียงประกาศ แต่ยังมีแนวทางที่ชัดเจน ทั้งการมุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
อย่างไรก็ตาม มองว่า สภาวะเศรษฐกิจ ตอนนี้มีผลต่อการลงทุนพลังงานทดแทนด้วย เพราะช่วงแรกคนจะมองว่าการลงทุนพลังงานทดแทนช่วงแรกจะมีรีเทิร์นช้า แต่ถึงอย่างไรในระยะยาวที่จำเป็นต้องทำ
จีซีเดินทางสู่ Net Zero
ในส่วนของจีซี เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีฐานผลิตในต่างประเทศ 40 แห่ง และมีศูนย์วิจัยและพัฒนาประมาณ 30 แห่งทั่วโลก
จีซีมุ่งที่จะสร้างการเติบโตธุรกิจอีก 4% ไปอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกัน เราจะต้องไปสู่ Net Zero ปี 2050 นับว่าเป็น 2 เป้าหมายที่ตรงข้าม เพราะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจแต่ต้องลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทางจีซีเตรียมงบประมาณในการดำเนินการตามเป้าหมาย Net Zero 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลา 30 ปี ระหว่างปี 2021-2050
3 แนวทางสู่ Net Zero
ทางบริษัทเองมีการวางแนวทางที่ชัดเจน ในการลดการมุ่งสู่ Net Zero โดยมี 3 แนวทาง คือ 1.การปรับพอร์ตโฟลิโอ ลดธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอน เพิ่มธุรกิจที่โลว์คาร์บอน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ให้ผลตอบแทนการลงทุน เช่น การผลิตสินค้าไบโอเบส, การใช้ cicular และรีไซเคิล และการผลิตสินค้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ ที่มีความคงทนมากขึ้น เพื่อลดการเปลี่ยนสินค้า เช่น การใช้สารเคลือบที่มีความคงทนสูง เป็นต้น
ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินการเรื่องนี้จะสามารถลดคาร์บอนได้ 25% แนวทางที่ 2.การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการใช้พลังงานสะอาด ลดได้ 25% และ 3.การคอมเพนเซส การลดคาร์บอนด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ปลูกต้นไม้ หรือการดึงคาร์บอนมากักเก็บ (CCS) ด้วยเทคโนโลยี จะช่วยลดได้ถึง 55%
ซีอีโอจีซีสรุปตอนท้ายว่า การปรับตัวสู่ Net Zero ในปี 2050 เปรียบเสมือนกับการเดินทาง (journey) ซึ่งต้องสร้างความสมดุล ระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทั้งโลก ประเทศ องค์กรและบุคคลต้องดำเนินการ ที่สำคัญ คือ ตัวเราสามารถทำได้ด้วยตัวเองได้ก่อน
29/10/2565 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 29 ตุลาคม 2565)