info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.191.239.251

รถไฟฟ้าสีชมพู ทดลองวิ่งช่วงกลางคืน เตรียมเปิดเดินรถเสมือนจริง

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดทดลองวิ่งช่วงกลางคืน คาดเปิดทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run)ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ และเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2566

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย( รฟม.) ได้เปิดทดสอบทดลองวิ่ง รถไฟฟ้าสายสีชมพูในช่วงกลางคืนคาดเปิดให้ประชาชนนั่งฟรี 1 เดือน ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย. 2566 และเปิดเต็มระบบตั้งแต่ 18 ธ.ค.

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 98.30 งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) ร้อยละ 99.24 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 98.78

โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ และคาดว่ารถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2566

สำหรับ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นโครงการ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ กับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ นับเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทย ที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้โดยสะดวก โดยโครงการ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 30 สถานี

ประกอบด้วย สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ด สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ

สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี

โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้วจร (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี รถไฟชานเมือง สายธานีรัถยา (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) ที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี นั้น มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ ที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) เข้าสู่ซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ไปสิ้นสุดที่บริเวณทะเลสาบในเมืองทองธานี ประกอบไปด้วย สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) มีระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร

ปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2566) มีความก้าวหน้างานโยธาร้อยละ 41.76 งานระบบรถไฟฟ้า (M&E) ร้อยละ 23.34 ความก้าวหน้ารวมร้อยละ 35.56

12/11/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 12 พฤศจิกายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS