นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ขอโอกาสดันเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC ดึงลงทุน CLMVT ชงส่งเสริม Logistics Park เป็น One Stop Service
วันที่ 11 ธันวาคม 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ได้ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ภายหลังการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นประตูสู่ประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้อีกด้วย
อีกทั้งยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน จึงเป็นโอกาสดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยปัจจุบันมีลูกค้า 8 ราย ใช้พื้นที่ประมาณ 145 ไร่ ได้แก่ 1.ผลิตอาหารแปรรูป (ไตปลา, ปลาร้าต้มสุก) 2.คลังสินค้า คลังสินค้าแช่เย็น 3.ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า 4.โรงพักสินค้า (Warehouse) 5.สร้างโรงงานมาตรฐานให้เช่า และ 6.ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นส่วนโลหะและผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก
ชงขอสิทธิประโยชน์เทียบเท่า
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการ A4 (กิจการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอตามประเภทกิจการ ดังนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากได้รับการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมเป็น 8 ปี
นอกจากนี้ยังตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาด สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกด้วย
แผนพัฒนา Logistics Park ในนิคมอุดรฯ
นอกจากนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ Logistic Park ในระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า และขออนุญาตจัดตั้งโรงพักสินค้าพร้อมลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) เพื่อบรรจุและตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก
ส่วนระยะที่ 2 ขออนุญาตจัดตั้งเขตศุลกากร พร้อมลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ Inland Container Depot : ICD ที่สามารถเชื่อมระบบรางเข้ามาภายในพื้นที่เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางเต็มรูปแบบ
ข้อเสนอที่บริษัทได้นำเสนอต่อที่ประชุมนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะนวัตกรรม ICD Logistic Park ที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กนอ.จะประสานกับบีโอไอ และกรมศุลกากรให้ ขณะที่เรื่องการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้เป็นแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้น คงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ต่อไป นายวีริศกล่าว
11/12/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 11 ธันวาคม 2566 )