บางกอก เชนฯ กางแผนลงทุนทุ่มงบฯก้อนโตขยายสาขา รับตลาดดีดกลับ เดินหน้าเพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ชูวันสต็อปเซอร์วิส ลดการส่งต่อ ตั้งเป้า 5 ปี เปิดเพิ่มอีก 5 สาขา ประกาศบุกอีอีซี-ตะวันออก เล็งปักหมุดสาขาใหม่ในพัทยา-เตรียม bid เข้าบริหาร รพ.ปลวกแดง 2 (ระยอง) เดินหน้าผนึกเอเยนซี่-สถานทูต ขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ
ศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH ผู้บริหารกลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รพ.การุญเวช และ รพ.เวิลด์ เมดิคอล เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า ขณะนี้ภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลรีเทิร์นกลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 แล้ว และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น ทั้งกรณีของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ส่วนคนไข้ชาวต่างประเทศตัวเลขก็กลับมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับแผนการดำเนินงานของกลุ่มบางกอก เชนฯ ปีนี้หลัก ๆ จะมีการลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนใน รพ.แห่งใหม่ในพื้นที่ต่าง ๆ การปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงพยาบาลเดิมเพื่อดึงดูดและสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น รพ.การุญเวช ปทุมธานี ปรับปรุงให้สวยงามและทันสมัย เพื่อดึงดูดผู้ป่วยเงินสดให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการยกระดับเป็น รพ.เกษมราษฎร์ ปทุมธานี ในอนาคต การปรับปรุงห้องพักผู้ป่วยใน รพ.เกษมราษฎร์ บางแค และ รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น เพื่อยกระดับประเภทห้องพักให้หลากหลาย รองรับความต้องการของผู้ป่วยเงินสด
ขณะเดียวกันก็จะมุ่งเพิ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางเพื่อรองรับการให้บริการแบบ one stop service และลดการส่งต่อผู้ป่วย รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่ครบวงจรในอนาคต อาทิ การดำเนินการจัดตั้งศูนย์มะเร็งรังสีรักษา เพื่อรองรับการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษา การเพิ่มศูนย์หัวใจ ศูนย์เวชศาสตร์และการฟื้นฟู และศูนย์ MRI แห่งใหม่ในโรงพยาบาลในเครือ
รวมทั้งการยกระดับเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย การเพิ่มเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ผู้ป่วย อาทิ หุ่นยนต์ช่วยในการฟื้นฟูร่างกายหรือการทำกายภาพบำบัด อุปกรณ์ MRI เพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยรอยโรค และนำมาใช้ในการรักษาและติดตามผลการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ รพ.ในเครือยังมีการวางแผนการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้ป่วย และผู้มาใช้บริการที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ โดยเน้นการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ ช่องทาง YouTube, TikTok และ Facebook เพื่อสร้างการรับรู้และเสนอโปรโมชั่นแพ็กเกจรักษาพยาบาล ตรวจสุขภาพ รวมถึงการดูแลด้านความสวยงาม เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นหรือวัยทำงานที่สนใจดูแลสุขภาพและความสวยงามด้วย
เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ ร่วมกับพูจอง คลินิก เปิดศูนย์ศัลยกรรมความงาม Kasemrad Plastic Surgery By Bujeong เพื่อเป็นการยกมาตรฐานการทำศัลยกรรมความงามให้ปลอดภัย เพื่อรองรับตลาดเสริมความงามจะกลับมาขยายตัว รวมทั้งการเปิดศูนย์สุขภาพ (wellness center) ที่ตอนนี้ได้ทยอยเปิดตามสาขาต่าง ๆ ไปแล้วใน 8 สาขา เพื่อรองรับเทรนด์ในเรื่องของสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงการกลับมาเปิดศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก (IVF) ของเวิลด์ เมดิคอล เพื่อรองรับคนไข้ในและต่างประเทศโดยเฉพาะชาวจีนและลิเบีย เป็นต้น
กางแผนบุกอีอีซี-ตะวันออก
ศ.ดร.นายแพทย์เฉลิมกล่าวว่า สำหรับเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า มีแผนจะขยาย รพ.แห่งใหม่ 5 แห่ง จากปัจจุบันมี 15 สาขา เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ป่วยทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และผู้ป่วยตามโครงการประกันสังคมในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงยกระดับการรักษาพยาบาลด้วยการตั้งศูนย์การแพทย์เฉพาะทางแบบครบวงจร โดยปีนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 แห่ง คือ ศูนย์มะเร็งรังสีรักษา เกษมราษฎร์อารี ตั้งอยู่ที่อาคารด้านข้าง รพ.เวิลด์ เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี ใช้งบฯลงทุนไม่เกิน 300 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจศูนย์การแพทย์สำหรับรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 1/2567
ส่วนอีก 1 แห่ง คือ รพ.เกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขยายฐานผู้ป่วยทั่วไปทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และผู้ป่วยในโครงการประกันสังคม เป็นโรงพยาบาลขนาด 268 เตียง มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางครบวงจร ใช้งบฯลงทุนประมาณ 1,600 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 และเปิดให้บริการภายในปี 2569
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ยุทธศาสตร์อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) เพื่อรองรับการขยายกิจการโรงพยาบาลและเพิ่มขอบเขตการให้บริการได้ครอบคลุมผู้ป่วยมากขึ้นในอนาคต เช่น เตรียมจะเข้าไป bid ประมูลราคาแข่งเพื่อเข้าบริหาร รพ.ปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง รพ.ขนาด 200 เตียง ซึ่งเป็นต้นแบบโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public private partnership & PPP) และมีแผนจะลงทุนสร้าง รพ.ใหม่อีก 1 แห่งที่พัทยา บนพื้นที่ประมาณ 16 ไร่ และมีแผนจะ M&A (mergers and acquisitions) กับ รพ.ในภาคกลางอีก 1 โรง
สปีดเพิ่มฐานคนไข้ต่างประเทศ
ซีอีโอบริษัท บางกอก เชนฯ ยังระบุด้วยว่า นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งในช่วงจากนี้ไป มีแผนจะขยายฐานกลุ่มคนไข้ชาวต่างประเทศมากขึ้น โดยจะมีการประสานและทำงานร่วมกับเอเยนซี่และสถานทูตต่าง ๆ มากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าปีนี้ตัวเลขรวม ๆ น่าจะทะลุ 1 แสนคน จากปีที่ผ่านมา คนไข้ต่างประเทศกลับมาเติบโตค่อนข้างมาก หรือมีอัตราการเติบโตมากถึง 49% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่า 8.1 หมื่นคน หลัก ๆ มาจากตะวันออกกลาง 56.7% ซีแอลเอ็มวี 27.9% จีน 5.1% สหรัฐอเมริกา 2.1% และอื่น ๆ 8.2% ขณะที่ในแง่รายได้เพิ่มขึ้นถึง 47% หรือ 1,524 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากคนไข้ใน 79.6% และคนไข้นอก 20.4%
ล่าสุด (23 มี.ค.) บางกอก เชนฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับบริษัท ลาวิดา แอดวานซ์ เฟอร์ติลิตี้ แอนด์ เจเนติกส์ เซ็นเตอร์ จำกัด ความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาและการดูแลจัดการรับและส่งต่อผู้ป่วยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ รพ.เวิลด์ เมดิคอล โดยเน้นกลุ่มผู้รับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก และกลุ่มผู้รับบริการด้าน antiaging หรือเวชศาสตร์ชะลอวัย
ตั้งแต่ต้นปีที่เวิลด์ เมดิคอล ก็มีคนไข้ชาวต่างประเทศทยอยเดินทางเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ซาอุดีอาระเบีย คูเวต รวมทั้งจีนเริ่มทยอยมาแล้วส่วนใหญ่มาด้วยเรื่องเวลเนส การดูแลสุขภาพ การดูแลตัวเอง เรื่องของความสวยความงาม รวมทั้งศูนย์ IVF เพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวและคนไข้จากจีน ที่คาดว่าจากนี้ไปจะมีปริมาณมากขึ้น
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.นายแพทย์เฉลิม ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของ รพ.เกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ที่เปิดไปเมื่อ 19 ส.ค. 2564 ดำเนินการโดย Bangkok Chain International (Lao) Ltd. ว่า ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยในแง่ของ EBIDA หรือกำไรขั้นต้นตัวเลขบวกทุกเดือน โดยปีแรกมีรายได้รวมประมาณ 296 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้น 53 ล้านบาท กลุ่มลูกค้าหลัก นอกจากชาวลาวแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่ของสถานทูต 26 สถานทูต และชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเวียงจันทน์
การดำเนินงานของโรงพยาบาลจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกประกอบด้วยอาคารโรงพยาบาล 7 ชั้น ระยะที่ 2 เป็นอาคาร 12 ชั้น ประกอบด้วยโซนที่จอดรถซึ่งใช้พื้นที่ตั้งแต่ชั้นแรกถึงชั้นหก และอีกครึ่งหนึ่งเป็นหอผู้ป่วยใน ครอบคลุมห้องเตียงเดี่ยว 144 ห้อง โดยเฟสแรกดำเนินการมีความจุ 110 เตียง เป็น รพ.ที่ครบวงจร ตั้งแต่คลินิกอายุรกรรม ทันตกรรม ระบบทางเดินอาหาร กระดูกและข้อ ศัลยกรรมทางสมองและระบบประสาท ฯลฯ ที่ได้รับความนิยมสูง สูตินรีเวชและกุมารเวช ซีอีโอบริษัท บางกอก เชนฯ กล่าว
6/4/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 เมษายน 2566 )