info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.210.86.29

เล็งปัก “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ” ผุดโรงพยาบาลสนาม รับภาวะเตียงขาดแคลน

Hospital News / ข่าวหมวดโรงพยาบาล

“คมนาคม” ผนึกหลายหน่วยงานผุดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม หลังโควิดทุบผู้ติดเชื้กระฉูดรายวัน “ศักดิ์สยาม”เล็งปรับอาคาร SAT1 สุวรรณภูมิเป็นโรงพยาบาลสนาม เบิ้มกว่าบุษราคัม 3 เท่า รอ “สาธารณสุข” ตรวจมาตรการ ด้าน ทอท.จับมือธนารักษ์-หมอเหรียญทอง ผุดโรงพยาบาลสนามที่ดอนเมืองขนาด 2,000 เตียง

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงคมนาคมเตรียมเปิดพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลัง ที่ 1 (SAT-1) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ 216,000 ตร.ม. เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยโซนสีเขียว โดยได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขตรวจคุณภาพตามมาตรฐานแล้ว คาดว่าจะดำเนินการตรวจสอบได้เสร็จภายในวันนี้ (6 กรกฎาคม 2564)

ใหญ่ “บุษราคัม” 3 เท่าโดยการเปิดใช้อาคารนี้ จะเป็นการรับรองต่อจากโรงพยาบาลบุษราคัม ที่ทางอิมแพ็ค เมืองทองธานี กำหนดให้เป็นโรงพยาบาลสนามแต่ถึงเดือนสิงหาคมนี้เท่านั้น ประเมินศักยภาพแล้ว สามารถรองรับได้มากกว่าโรงพยาบาลบุษราคัม 3 เท่า

ปัจจุบันอาคาร SAT1 ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด แต่เหลือเพียงการเพิ่มเติมห้องอาบน้ำและอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ เท่านั้น

ทอท.-ธนารักษ์-หมอเหรียญทอง ผุด รพ.สนามดอนเมือง ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วย พลตรีนายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ร.ท.สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง และผู้บริหารลงพื้นที่สำรวจอาคารคลังสินค้า 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (ชั่วคราว)

อาคารคลังสินค้า 4 สามารถปรับปรุงพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนาม (ชั่วคราว) ได้ประมาณ 2,000 เตียง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (สีเขียว) ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารที่ไม่ได้ใช้งาน ตัวอาคารเป็นพื้นที่โล่งมีหลังคา มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เป็นอาคารเดี่ยวที่อยู่ห่างจากอาคารผู้โดยสารหลัก (อาคา ร1 และ 2) ประมาณ 2.5 กม. และเมื่อปรับปรุงเป็นพื้นที่โรงพยาบาลสนาม (ชั่วคราว) จะมีการเพิ่มการรักษาความปลอดภัย และมีการกั้นพื้นที่โดยรอบ ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าในสถานที่ มีการกำหนดเส้นทางการเข้า-ออก ทั้งเส้นทางที่ปลอดเชื้อ และเส้นทางกรณีฉุกเฉิน รวมถึงระบบสุขาภิบาล เพิ่มมาตรการการบำบัดน้ำเสีย การระบายอากาศ การกำจัดสิ่งปฏิกูล ซึ่งก่อนการเปิดใช้จะต้องได้รับการอนุมัติ ตรวจและรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการท่าอากาศยานและชุมชนโดยรอบ

ทอท.ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยมุ่งหวังให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ และปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ภายใต้แนวคิด การเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน (Corporate Citizenship Airport)

อนุทินเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีทำ รพ.สนาม ยกระดับ 5 พันเตียง รับผู้ป่วยโควิดอาการหนัก

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ที่อาคาร Satellite 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เตรียมจัดหาสถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามยกระดับ เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด กลุ่มสีเหลืองขึ้นไปให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบการดูแลผู้ป่วยจะไม่ขาดแคลนเตียง ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงประสานให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาสำรวจอาคาร Satellite 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ด้วยท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยยินดีให้ใช้สถานที่จัดทำโรงพยาบาลสนามรองรับ เนื่องจากเป็นอาคารที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ ยังไม่เปิดบริการ อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และเป็นอาคารที่แยกออกมา ไม่ได้ใกล้ชิดกับอาคารอื่น ๆ ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวมีพื้นที่ 1 แสนตารางเมตร ความยาว 1 กิโลเมตร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5 พันเตียง มีจำนวน 4 ชั้น สามารถแยกชั้นสำหรับเตียงสีเขียว สีเหลือง และทำไอซียูยูนิตสีแดงเหมือนมณฑลทหารบกที่ 11 ได้ โดยจะมอบกรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปออกแบบทำโรงพยาบาลสนาม โดยเน้นเป็นการน็อกดาวน์และบิวต์อิน ถอดออกได้เมื่อเสร็จภารกิจ ไม่ให้กระทบหรือสร้างความเสียหายแก่สถานที่

ด่วน ! สาธารณสุขเคาะตึก SAT1 สุวรรณภูมิเป็น รพ.สนาม จ่อเปิด 5,000 เตียง สิงหาคม 64 นี้ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานข้อสรุปจากทางกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า อาคารเทียบเครื่องบินรองหลัง ที่ 1 (SAT-1) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ 216,000 ตร.ม. เหมาะสมที่จะทำโรงพยาบาลสนาม โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 100,000 ตารางเมตร ซึ่งจะเป็นพื้นที่เตียงผู้ป่วยได้อย่างน้อย 5,000 เตียงในระยะแรก โดยจะใช้พื้นที่ชั้น 2 เป็นสถานที่ทำการของแพทย์และห้อง ICU ส่วนชั้น 3 และ 4 เป็นพื้นที่สำหรับคนไข้สีเขียวและเหลือง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้

6/7/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (6 กรกฎาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS