info@icons.co.th 02 810 8892-6 18.221.165.246

2566 ได้เวลา อนันดา โต้คลื่น สต๊อกพร้อมอยู่แข็งแกร่ง 4.5 หมื่นล้าน

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

สถานการณ์โควิด 3 ปี (2563-2565) “อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์” ยืนระยะอย่างอดทน ไม่ลงมาทำสงครามราคาเพื่อระบายสต๊อกคอนโดมิเนียม

จนกระทั่งปี 2566 พกความมั่นใจมาอย่างเต็มที่ เพราะอนันดาฯ ในวินาทีนี้ กลายเป็นบิ๊กแบรนด์บริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียงรายเดียว ที่มีสต๊อกที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่หรือ RTM-ready to move มากสุดในวงการขณะนี้

กลายเป็นความ “เซ็กซี่” ของแผนธุรกิจปี 2566 โดยอัตโนมัติ เพราะท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ดีเวลอปเปอร์ที่มีสินค้า RTM ยิ่งมากก็ยิ่งได้เปรียบ เพราะแมตช์ได้พอดิบพอดีกับพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อศักยภาพสูง โดยเฉพาะลูกค้าต่างชาติที่เริ่มหันมานิยมซื้อคอนโดฯ ในเมืองไทยทำเป็นบ้านหลังที่ 2

RTM ดันมาร์จิ้นพุ่งทันที 5%

งานนี้ “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวสั้น ๆ ว่า ปี 2566 ถึงเวลาของอนันดาฯ แล้ว

โดยจั่วหัวธีมการทำธุรกิจปีนี้คือ “Ananda Ride the Wave” หลังจากดำเนินกลยุทธ์ในยุคโควิด ไม่ดัมพ์ราคา ไม่หั่นราคา อดทนกับข้อต่อรองเหมาซื้อสต๊อกยกลอตแลกกับส่วนลดสูงลิ่ว เพราะตระหนักดีว่าโครงการในเครือปักหมุดตามแนวรถไฟฟ้าเป็นหลัก เป็นทำเลที่ “หมดแล้วหมดเลย” เพราะที่ดินใหม่ไม่งอกเพิ่มบนผืนเดิม

เบ็ดเสร็จ ปี 2566 อนันดาปักหมุดสินค้า RTM บนทำเล Blue Chip Location รวม 30 โครงการ มูลค่าท่วม 45,000 ล้านบาท

ในภาพใหญ่ภายในสิ้นปีนี้ อนันดาฯ จะมีพอร์ตพัฒนาโครงการสะสม 37 โครงการ มูลค่าสะสม 74,368 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ 64,017 ล้านบาท สัดส่วน 86% กับบ้านแนวราบอีก 10,351 ล้านบาท สัดส่วน 14%

ซึ่งจะเป็นคลังสต๊อกขนาดใหญ่ทยอยรับรู้รายได้ปี 2566-2569 เสริมแกร่งให้กับการทำแผนธุรกิจต่อเนื่อง 4 ปีข้างหน้า

ตัวเลขสำคัญคือกำไรเบื้องต้น (GP-Gross Profit) เริ่มเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ปี 2564 อยู่ที่ 21.5% ปี 2565 ขยับเพิ่มเป็น 25.0%

“ปีโควิดที่ผ่าน ๆ มาอนันดาฯ ทั้งอึดและอดทน ยุคหลังโควิดในปี 2566 สต๊อกพร้อมอยู่ที่มีสูงถึง 45,000 ล้านบาท สูงที่สุดในวงการอสังหาฯ บวกกับการปรับขึ้นของราคาแบบ real time ทำให้บริษัทรับอานิสงส์ด้านรายได้ทันที โดยมาร์จิ้นปีนี้คาดว่าไม่ต่ำกว่า 30.6% หรือเพิ่มทันที 5%”

ธุรกิจ 4 ขา-ทำกำไรทุกตัว

เรื่องใหม่ปีนี้ มีการปรับโครงสร้างเป็น 4 พอร์ตหลัก ได้แก่ 1.ธุรกิจหลัก (core business) ประกอบด้วยโครงการบ้านและคอนโดฯ, โบรกเกอร์อสังหาฯ 2 บริษัทคือ The Works กับ The Agent

2.ธุรกิจบริการ สร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (management

fee) โดยฟอร์มธุรกิจใหม่ “APSMC-Ananda Professional Services and Management Consultancy” รับบริหารจัดการและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ Total Solutions ตั้งเป้ารายได้ปีนี้เริ่มต้นที่ 100 กว่าล้านบาท

นำร่องโครงการแรก เจรจาข้อตกลงขั้นสุดท้ายกับบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการมิกซ์ยูสทำเลสุขุมวิท 38 ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีทองหล่อ

ในอนาคต ถ้ามีโอกาสจะผลักดันเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

3.ธุรกิจสร้างรายได้ประจำ (recurring income) จากการลงทุนเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ 5 โครงการที่พร้อมเปิดบริการแล้ว ได้แก่ “ซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9-แอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก-แอสคอทท์ เอ็มบาสซี สาทร-ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก-ซัมเมอร์เซ็ต พัทยา” กับแผนลงทุนเพิ่มอีกมูลค่า 4,000 ล้านบาท

4.ลงทุนธุรกิจใหม่ (New Business) มีเข็มทิศการลงทุนพัฒนาด้าน Tech Education เพื่อเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จัดตั้ง “TMA-The Master Academy” สร้างทักษะและเสริมความคิดในทางธุรกิจผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเริ่มจากการ upskill/reskill เป็นความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเปิดตัวหลักสูตร The Data Master ทำหน้าที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลหรือ Data Scientists ซึ่งปัจจุบันมีไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ

ในอนาคตมีแผนพัฒนาสู่หลักสูตรอื่น ๆ เช่น Blockchain และ Cyber Security ร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการนำไปใช้ได้จริง รวมถึงความร่วมมือกับ Singularity University (SU) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

224 เอเย่นต์ดักลูกค้าต่างชาติ

สำหรับจุดโฟกัสการเปิดประเทศต้อนรับกำลังซื้อลูกค้าต่างชาติขนานใหญ่อีกระลอก “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า อนันดาฯ มีแผนรองรับการกลับมาของดีมานด์ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างชาติ

โดยนำเสนอสินค้าพร้อมอยู่พร้อมโอนแข็งแกร่งมูลค่า 45,000 ล้านบาท ดังนี้ สินค้า RTM มูลค่า 34,880 ล้านบาท บวกกับโครงการที่จะสร้างเสร็จในปี 2566 มูลค่า 10,012 ล้านบาท

แผนธุรกิจรัว ๆ ในปี 2566 วางแผนเปิดตัว 10 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 21,200 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 4 โครงการ มูลค่ารวม 7,200 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่า 10,000 ล้านบาท เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ร่วมทุน 2 โครงการ มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท

โดยมีโปรเจ็กต์ไฮไลต์ 2 โครงการ คอนโดฯ ติดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานควาย มูลค่า 8,100 ล้านบาท กับโครงการแบรนเดด เรสซิเดนซ์ระดับเวิลด์คลาส ทำเลใจกลางสุขุมวิท มูลค่า 6,500 ล้านบาท วางแผนเปิดตัวไตรมาส 4/66

กิจกรรมการตลาดจัดในรูปแบบ Ananda Urban Caravan ปูพรมจัดตลอดทั้งปีทั้งในและต่างประเทศ

หากโฟกัสการทำตลาดลูกค้าต่างชาติ อนันดาฯ สร้างเครือข่ายพันธมิตรเอเย่นต์ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเอเย่นต์กระจายทั่วโลก 224 ราย อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่มากสุด 65 ราย ฮ่องกง 48 ราย ไต้หวัน 38 ราย เมียนมา 14 ราย สหรัฐ 11 ราย ญี่ปุ่น 8 ราย สหภาพยุโรป 7 ราย และรัสเซีย 3 ราย

ในขณะที่สต๊อกสะสม 74,368 ล้านบาท มีโควตาเหลือขายลูกค้าต่างชาติ 31% (จากเต็มโควตา 49%) มูลค่า 22,836 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นสินค้าพร้อมโอนทันที คำนวณจากยอด RTM 45,000 ล้านบาท เป็นสินค้าคอนโดฯ พร้อมโอน 34% มูลค่า 15,500 ล้านบาท

ในขณะที่บริษัทตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเป้ายอดขายลูกค้าต่างชาติเพียง 4,489 ล้านบาท เทียบกับโควตาลูกค้าต่างชาติยังมีช่องว่างให้เติมได้อีกถึง 22,836 ล้านบาท

ตั้งเป้ายอดรับรู้รายได้ 14,502 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2565 แบ่งเป็นเป้ายอดโอนของลูกค้าต่างชาติเพียง 3,100 ล้านบาท เทียบกับคอนโดพร้อมโอนสูงถึง 15,500 ล้านบาท ในขณะที่มีแบ็กล็อก (ยอดขายรอโอน) ในมือเหนาะ ๆ แล้ว 5,800 ล้านบาท

อาจกล่าวได้ว่า แผนปี 2566 ภายใต้ธีมธุรกิจ Ananda Ride the Wave ปิดประตูพลาดเป้าเกิน 100% เผลอ ๆ อาจได้เห็นการประกาศปรับเพิ่มเป้าระหว่างปีด้วยซ้ำไป

บทสรุปสุดท้าย แผนด้านการเงินที่เตรียมออกหุ้นกู้ปีนี้ วงเงินเพียง 5,000 ล้านบาท น่าจะผ่านฉลุยเพราะมีสินค้าพร้อมโอน-RTM หนุนหลังสูงถึง 45,000 ล้านบาท สูงที่สุดในวงการอสังหาฯ ณ ต้นปี 2566

16/2/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 16 กุมภาพันธ์ 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS