info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.15.4.244

นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ทิ้งไทย ปักหมุดผลิตอีวี-มองพลังงานสะอาด

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

“วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะผู้พัฒนานิคมจาก 10 แห่ง เดินทางไปโรดโชว์ที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2566 เพื่อดูดนักลงทุนญี่ปุ่นไปสร้างฐานการผลิตหรือขยายการผลิตในประเทศไทย

ญี่ปุ่น นักลงทุนเบอร์ 1

“วีริศ” ฉายภาพว่า เมืองนาโกยามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น เป็นศูนย์กลางของการคมนาคม ขนส่งทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง โดยเฉพาะท่าเรือที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในประเทศ อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมหลักด้านการผลิต

อาทิ รถยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องยนต์อากาศยาน วิศวกรรมหุ่นยนต์ และยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น อาทิ ซูซูกิ โตโยต้า และฮอนด้า มอเตอร์

โดยปัจจุบันนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นอันดับ 1 ของการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 1,951 ราย มูลค่าการลงทุนรวมตั้งแต่มีการจัดตั้งนิคมมูลค่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 25% จากการลงทุนรวมทั้งหมด 12 ล้านล้านบาท มีนักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทย เป็นสัดส่วนของธุรกิจทั้งหมด 11% ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ส่วนประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมหลักคือ 1.ยานยนต์ และการขนส่ง 2.เหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 3.เครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 4.ยาง พลาสติก และหนังเทียม และ 5.เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์

ปิดดีลนาโกยา 3.7 พันล้าน

การโรดโชว์ที่เมืองนาโกยาครั้งนี้ ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมจาก 10 นิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมคณะ ประกอบด้วย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จำกัด (มหาชน), บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, บริษัท วีเอ็นเอส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอส อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด, บริษัท เอเชีย คลีน อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด, บริษัท อุบลราชธานี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท เอ็ท ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

ได้สัมมนาส่งเสริมการลงทุน เพื่อนำเสนอข้อมูลปัจจุบันไทยมีศักยภาพและความพร้อมรองรับการลงทุน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมใน EEC และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)

ซึ่งผลจากการจัดกิจกรรมได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุนญี่ปุ่น มีนักลงทุนที่สนใจทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาด กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สนใจขยายฐานการผลิตไปที่เมืองไทย คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนมูลค่า 3,700 ล้านบาท มียอดการเช่า/ขาย ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 200 ไร่

“สิ่งที่นักลงทุนต้องตัดสินใจอย่างมาก คือ เรื่องการเมือง ซึ่งจากการพูดคุยกันกับ นางปรางทิพย์ กาญจนหัตถกิจ อัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ส่วนใหญ่นักลงทุนเขาถามถึงเรื่องการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งเป็นนักลงทุนที่มีฐานผลิตในไทย”

ญี่ปุ่นสนใจพลังงานทดแทน

พร้อมกันนี้ คณะ กนอ.มีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ประกอบการปัจจุบัน และนักลงทุนรายใหม่ 4 บริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 2, โครงการ 3 และโครงการ 5 ด้วย

จากการสำรวจความต้องการของนักธุรกิจญี่ปุ่นในไทย โดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น พบว่า นักลงทุนต้องการพลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อรองรับมาตรการปรับภาษีคาร์บอนเครดิตก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป และข้อเรียกร้องเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับที่ยังเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ

กนอ.แจ้งกับนักลงทุนว่า ไทยให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดย กนอ.มีแผนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำสำรอง แต่ยังติดปัญหาเรื่องการเชื่อมระบบการจ่ายไฟ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

นอกจากนี้ กนอ.ยังมีแผนพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานจากลม ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากนอกนิคมอุตสาหกรรม กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ตาราง การลลงทุนพลังงานนิคม กนอ.

กนอ.ดูดลงทุน 4 พันล้าน ปี 2566

สำหรับการโรดโชว์ครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้ายในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งก่อนหน้านี้ กนอ.ได้เดินทางไปโรดโชว์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในประเทศภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น (เมืองโตเกียว, โอซากา) เกาหลีใต้ จีน (เซี่ยงไฮ้) และไต้หวัน

“ภาพรวมการลงทุนของ กนอ. ปี’66 ปัจจุบันช่วงครึ่งปีแรกมีการลงทุนรวมกว่า 3,500 ล้านบาท ยอดขาย/เช่าพื้นที่ไปแล้ว 2,000 ไร่ และคาดว่าตลอดทั้งปีจะมีการลงทุนรวมกว่า 4,000 ล้านบาท ยอดขาย/เช่าพื้นที่ 2,500 ไร่”

โดยปัจจัยสนับสนุนการขยายการลงทุนในไทยช่วงครึ่งปีหลังจะมาจากการเปิดประเทศ หลังจากการแพร่เชื้อโรคโควิดลดลง โดยประเภทอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนมากที่สุด คาดว่าเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์

ลุย 20 นิคมใหม่

ในส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่ที่อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติมีประมาณ 20 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ EEC และพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพฯ และคิดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นเทรนด์การย้ายฐานการผลิต บางนิคมที่หยุดไป 20 กว่าปี มีพื้นที่อยู่ก็เตรียมกลับมาเปิดใหม่

“เราได้มีการยืนยันว่า นโยบายต่าง ๆ ของ EEC แม้จะมีรัฐบาลใหม่ โครงการยังคงดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะ กนอ.ที่พยายามดำเนินโครงการให้สำเร็จก่อนเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะสำเร็จปลายปี 2567 เพื่อเป็นเรือธงในการดึงเศรษฐกิจ”

กนอ.ได้เน้นย้ำความเชื่อมั่นกับนักลงทุนเกี่ยวกับโครงการอีอีซีว่า แม้จะมีรัฐบาลใหม่ แต่นโยบายต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าต่อ รวมถึงมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV 3.5) และจะเร่งผลักดัน 4 โปรเจ็กต์ใหญ่ โดยเฉพาะท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ให้เสร็จภายในสิ้นปี 2567

ญี่ปุ่นลูกค้าหลัก กนอ.

กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 68 แห่งรวม 190,150 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 42,034 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 148,117 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่า 127,705 ไร่ ซึ่งขาย/ให้เช่าแล้ว 100,427 ไร่ คงเหลืออีก 27,278 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 11 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 4,995 โรง และจ้างงาน 1,023,602 คน

กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ยานยนต์ และการขนส่ง 26.68% 2.เหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 10.25% 3.ยาง พลาสติก และหนังเทียม 9.47%

4.เครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 7.81% และ 5.เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ 7.68%

และในจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนทั้งหมดจะเห็นว่านักลงทุนญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 33.29% ตามมาด้วย นักลงทุนจีน 11.36% สิงคโปร์ 7.82% อเมริกา 6.43% และล่าสุดมีนักลงทุนจากไต้หวัน 4.79%

6/7/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 กรกฎาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS