info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.138.114.132

เปิด 3 เงื่อนไข “โควตาน้ำอีอีซี” กรมธนารักษ์ตัดสินขั้นสุดท้าย

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

กรมชลประทานวาง 3 เงื่อนไขจัดสรรโควตาน้ำภาคตะวันออก ใครก็ขอใช้น้ำได้ ถ้าเข้าเกณฑ์ เฉพาะราย “วงษ์สยามก่อสร้าง” ผู้ชนะประมูลโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำ ยังต้องพิจารณาเรื่องของ “ปริมาณน้ำต้นทุน” ท่ามกลางปริมาณฝนในพื้นที่ที่ตกลงมายังไม่มาก พร้อมย้ำกรมชลประทานมีหน้าที่ “ให้ความเห็นชอบ” โควตาน้ำ ส่วนการ “อนุญาต” เป็นเรื่องของกรมธนารักษ์

การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกยังคงเป็นปัญหาต่อไป แม้ว่ากรมธนารักษ์จะได้ผู้ชนะประมูล โครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก รายใหม่คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติการเข้าบริหารท่อส่งน้ำทั้ง 3 เส้นท่อ ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย-โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ซึ่งแพ้ประมูลไปแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โควตาน้ำ” ที่บริษัท วงษ์สยามฯ จะไม่ได้รับการจัดสรร ส่งผลให้สถานะการส่งน้ำไปให้พื้นที่บางส่วนยังไม่ชัดเจน จนผู้ใช้น้ำกังวลถึงความถูกต้องของน้ำที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่ามกลางปัญหาของความไม่ลงตัวในช่วงรอยต่อของโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ระหว่างบริษัท อีสท์วอเตอร์ กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้างนั้น ในส่วนของกรมชลประทาน มีหน้าที่เป็นหน่วยงานพิจารณาให้ “ความเห็นชอบ” การใช้น้ำ จากนั้นจะต้องส่งต่อให้กับหน่วยงานต้นทาง คือ กรมธนารักษ์ เป็นผู้พิจารณา “อนุญาต” เนื่องจากทุกอย่างเป็นทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ ไม่ว่าจะเป็นท่อส่งน้ำ หรือแม้กระทั่งอ่างเก็บน้ำ

“เรายืนยันว่า เอกชนไม่ว่าจะเป็น นาย ก. นาย ข. สามารถขอโควตาน้ำได้เหมือนกันทุกราย กรมชลประทานมีหน้าที่จัดสรรให้ หากยื่นเรื่องเข้ามาและเป็นไปตามองค์ประกอบ 3 เงื่อนไขที่เราอนุญาต คือ 1) ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตใช้น้ำ 2) มีเครื่องมือที่จะนำน้ำ และ 3) ปริมาณน้ำต้นทุน ที่มีอยู่เพียงพอที่จะจัดสรรได้หรือไม่ ถ้ามีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบตามคำขอ ถ้าผู้ขอมีครบทั้ง 3 เงื่อนไข

ส่วนการอนุญาตเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมธนารักษ์ ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพเข้าใจง่าย เช่น กรมปศุสัตว์ ขออนุญาตจากพื้นที่ป่าไม้เพื่อมาทำ สถานีบำรุงสัตว์ แต่บังเอิญว่า กรมชลประทานใช้สร้างอ่าง เพราะฉะนั้น กรมชลประทานต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมปศุสัตว์ แล้วไปขออนุญาตจากกรมป่าไม้ ไม่ใช่กรมปศุสัตว์อนุญาตให้ไปทำ เพราะที่เป็นของกรมป่าไม้” นายประพิศกล่าว

ซึ่งในกรณีของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอใช้น้ำกับทางชลประทานจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดูแลอ่างน้ำเก็บน้ำเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากคำขอของบริษัท วงษ์สยามฯ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 3 เงื่อนไขข้างต้น เราก็ให้ความเห็นชอบแล้วส่งต่อให้ กรมธนารักษ์ เป็นผู้อนุญาต

“กรมชลประทานมีหน้าที่แค่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เห็นชอบให้ใช้ที่สร้างสถานี แต่เรื่องน้ำจะดูปริมาณน้ำในอ่างว่า มีน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรให้ได้หรือไม่ เงื่อนไขตรงนี้มีอยู่ว่า ที่สร้างตรงนี้มันไม่ขัดกับการใช้น้ำชลประทาน การบริหารจัดการน้ำหรือไม่ พวกนี้มีองค์ประกอบอยู่ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรเราก็เห็นชอบ ส่วนการอนุญาตเป็นเรื่องของกรมธนารักษ์” นายประพิศกล่าว

โควตาน้ำอีสท์วอเตอร์ถึงปี’71

ก่อนหน้านี้ที่บริษัท วงษ์สยามฯ ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ชลประทานจังหวัดระยอง เป็นเพราะ “เอกสารยังไม่ครบ” แต่จนถึงปัจจุบันน่าจะยังไม่ได้รับการเห็นชอบ เป็นเพราะเรื่อง “ปริมาณน้ำต้นทุน” ซึ่งบริษัท วงษ์สยามฯ ขอใช้น้ำที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล หลักการคือ จะต้องดูความสมดุลของน้ำต้นทุน ไม่ใช่จะเห็นชอบให้ใครใช้น้ำก็ได้ ต้องจัดสรรน้ำเพราะ ในอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่ง ๆ อาจจะมีคนขอใช้น้ำเข้ามามากกว่า 1 ราย

“อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลก็มีข้อจำกัด อย่างความจุของอ่างประมาณ 164 ล้าน ลบ.ม. น้ำจะเข้ามาในปริมาณเท่าไรจึงจะใช้ได้ หากไม่เพียงพอก็ต้องมีการผันน้ำจากที่อื่น เช่น ผันจากอ่างประแสร์มาที่หนองปลาไหล ซึ่งกระบวนการในการผันน้ำก็ต้องมีค่าใช้จ่าย มีค่าสูบน้ำ น่าจะคิวละประมาณบาทกว่า จากต้นทุนค่าน้ำที่กรมชลฯคิดที่ 50 สตางค์ ซึ่งอย่ามองว่า คุ้มไม่คุ้ม

ถ้าสมมติว่าสูบจากคลองสะพานมาเติมที่ประแสร์ เมื่อก่อน อีสท์วอเตอร์ คือคนสูบและเป็นคนลงทุนทั้งหมด แต่ถ้าน้ำออกจากอ่างเมื่อไหร่ก็ต้องจ่ายค่าน้ำให้กรมชลประทานอยู่แล้ว 50 สตางค์ ก็เท่ากับว่าถ้าคนอยากจะได้น้ำก็เอาน้ำมาเติม ถ้าธรรมชาติฝนไม่ตกก็สร้างมาเอง แต่ถ้าออกจากอ่างเมื่อไหร่ต้องจ่ายค่าน้ำ เรียกว่า ค่าชลประทาน ต้องมีการหมุนเวียนน้ำ ย้ายน้ำจากที่น้ำมากมาสู่ที่ที่มีน้ำน้อย” นายประพิศกล่าว

ทั้งนี้ ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 76 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 63 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำประแสร์มีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 189 ล้าน ลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 169 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 61

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ขณะที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง กำลังเร่งขออนุญาตจัดสรรโควตาน้ำอยู่นั้น ด้านบริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้บริหารท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกเดิม มี “โควตาน้ำ” อยู่จนถึงปี 2571 “ในส่วนอีสท์วอเตอร์ถือเป็นข้อตกลงไปแล้ว อีสท์วอเตอร์ได้รับโควตาน้ำ หรือใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี จะสิ้นสุดปี 2571 แต่การขออนุญาตของอีสท์วอเตอร์มีหลายชุด เพราะแปลงมีหลายพื้นที่” นายประพิศกล่าว

ดังนั้น สถานะของบริษัท วงษ์สยามฯ ตอนนี้ต้องเรียกว่า “ยังไม่ได้รับอนุญาต” และอยู่ในขั้นตอนระหว่างการพิจารณา เข้าใจว่าส่งเรื่องไปแจ้งธนารักษ์พื้นที่แล้ว และทางชลประทานจังหวัดระยองก็ดำเนินการตามหน้าที่

ส่วนการขนน้ำระหว่างหนองปลาไหล มาประแสร์ ไม่จำเป็นต้องเป็นของอีสท์วอเตอร์ ถ้ามาเติมประแสร์ก็มีจากคลองสะพานอันเดียวที่เราสร้างขึ้นมา อีสท์วอเตอร์คือคนออกเงินสูบกลับ สมมุติประแสร์จุได้น้ำ 300 หน่วย แต่อินโฟหลังเสร็จฤดูฝนจุน้ำได้แค่ 200 หน่วยหรืออย่างไรก็ไม่เต็ม ฉะนั้นคุณสูบเข้ามาเลย ตอนที่มีน้ำสูบเข้ามาเลยยังไงก็เต็ม แต่ไม่ได้หมายความว่า “น้ำที่สูบเข้ามาเอามาฝากไว้ที่เรานะ ไม่ใช่ ถึงเวลาคุณจะเอาไป ไม่ใช่ น้ำที่อยู่ที่เราเท่ากับอินโฟที่สร้างมา ออกจากอ่างเมื่อไหร่ก็จ่ายตังค์เป็นค่าชลประทาน และถ้าบริษัท วงษ์สยามฯ อยากได้น้ำก็ต้องช่วยกัน ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องของบุคคลที่ 3 กรมชลประทานไปตอบแทนไม่ได้ เรื่องนี้เขาต้องคุยกัน ส่วนเรื่องน้ำไม่ต้องห่วง น้ำมีเพียงพออยู่แล้ว”

แผน 3 ใช้น้ำจากคลองวังโตนด

สำหรับประเด็นการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกในภาพรวมของกรมชลประทาน เบื้องต้นมี 3 แนวทาง โดยมีอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จะเป็นฮับเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำ ได้แก่ 1) อาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จ.ระยอง และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง 2) อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี มีเครื่องมือที่จะผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง กับคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต

“ต่อไปในอนาคตถ้าน้ำที่อ่างบางพระลดน้อยลง เราอาจจะปรับเปลี่ยนการใช้น้ำ เช่น การประปาชลบุรี หรือประปาพัทยา อาจต้องย้ายแหล่งน้ำที่ใช้ เพื่อลดการใช้น้ำจากอ่างบางพระลง แต่ไปใช้น้ำจากแหล่งอื่นของชลประทานแทน ซึ่งมีการวางแผนไว้เรียบร้อย แต่คาดว่าในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ฝนน่าจะมาเพราะตอนนี้เริ่มมาแล้ว ถ้าไม่มาก็อย่างที่เราเตรียมการไว้”

และแนวทางที่ 3) ใช้น้ำจากวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งกรมชลประทานมีเครื่องมืออยู่แล้วจากแผนที่วางไว้เป็นสเต็ป เป็นขั้นตอน เป็นระบบท่อที่สูบน้ำจากวังโตนด ลุ่มน้ำจันทบุรี มาลงที่อ่างประแสร์ จากข้อมูลพบว่าในแต่ละปี มีการปล่อยน้ำทิ้งจากวังโตนดลงทะเลปีละ 1,000 ล้าน ลบ.ม. และปีหนึ่งจะสามารถผันน้ำได้ 70 ล้าน ลบ.ม. เคยมีการผันมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2563

“ทุกพื้นที่เป็นหัวใจหมด ไม่ว่าจะอ่างบางพระ อ่างประแสร์ โดยเฉพาะอ่างพวง เราเติมน้ำตรงไหนที่ยกน้ำได้ เราสามารถสูบน้ำได้ เพราะมีโครงข่ายน้ำอยู่แล้ว มีแหล่งน้ำที่พอจะบริหารได้ เราบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกเป็นโครงข่าย เป็นการเชื่อมโยง

สมมุติว่าประแสร์มาคลองใหญ่ไม่เต็ม หนองปลาไหลไม่เต็ม เราก็ผันน้ำจากนี่ไปเติม หรือถ้าแผนสุดท้ายแล้วนี่ ฝนไม่ตกเลย แต่เราต้องทำยังไง เรามีเครื่องมือที่จันทบุรีไประยอง จากวังโตนดไปที่อ่างประแสร์ได้ เพราะฉะนั้นจากประแสร์ก็ไปคลองใหญ่-หนองปลาไหลได้ ได้อยู่แล้ว แต่แผนนี้ขอเป็นแผนที่ 3 และไม่ใช่แผนสุดท้าย” นายประพิศกล่าว

5/7/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 กรกฎาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS