info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.138.67.203

อสังหาถล่มลงทุนต่างจังหวัด ชิงเค้ก 4 แสนล้าน “EEC-ภูเก็ต” โตแรง

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

จับตาบิ๊กแบรนด์อสังหาฯ แข่งลงทุนถล่มตลาดต่างจังหวัดรอบใหม่ หลังพบข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์ทะลุ 4 แสนล้านบาท มีการเติบโตหายใจรดต้นคอตลาดกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยไตรมาส 1/66 ยอดโอนทะลัก 9.4 หมื่นล้าน โต 8.5% “ศุภาลัย” ฟาดหนักบุกโครงการใหม่ 1.5 หมื่นล้าน “AP-อีสตาร์” ลงทุนแตกทำเลเพิ่ม ยักษ์หลับ CP LAND รื้อแผนลงทุนรอบ 40 ปี ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1 ในภูมิภาค “ซิซซา” ต่อจิ๊กซอว์ลงทุนพูลวิลล่า-เมดิคอล เวลเนส รอนักท่องเที่ยวจีนคัมแบ็กภูเก็ต

ต่างจังหวัดโอนทะลุ 4 แสนล้าน

ดร.วิชัย วิรัตกพันธุ์ ผู้ตรวจการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. (REIC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในช่วงครึ่งปีแรก 2566 มีความเคลื่อนไหวลงทุนในตลาดต่างจังหวัดของดีเวลอปเปอร์รายใหญ่จากกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่มีความคึกคักตั้งแต่กลางปี 2565 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ สัญญาณการฟื้นตัวของบ้านและคอนโดมิเนียมทั่วประเทศ ดูได้จากดีมานด์การโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2565 แบ่งเป็นภาพรวมต่างจังหวัด (ไม่รวม 5 จังหวัดปริมณฑล) มียอดโอนรวมกัน 197,944 หน่วย สัดส่วน 50.39% และมูลค่าโอน 403,421 ล้านบาท สัดส่วน 37.88% ของภาพรวมทั้งประเทศ คิดเป็นการขยายตัว 12% เทียบกับปี 2564

ขณะที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล (กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม) มียอดโอนรวม 194,914 หน่วย มูลค่าโอน 661,587 ล้านบาท ขยายตัว 15% เบ็ดเสร็จทั่วประเทศ 77 จังหวัด มียอดโอนรวมกัน 392,858 หน่วย มูลค่าโอนรวมกัน 1,065,008 ล้านบาท (ยอดโอนทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง)

โดยสถิติดังกล่าวมาจากปี 2565 ตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาคมีการขยายตัวที่ดีในทุกภูมิภาค ทำให้มีความน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ให้เข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการในต่างจังหวัดมากขึ้น

Q1/66 มูลค่าโอนขยาย 8.5%

ล่าสุด สถิติการโอนกรรมสิทธิ์ในต่างจังหวัด ณ ไตรมาส 1/66 มีจำนวน 44,360 หน่วย สัดส่วน 52.42% มูลค่ารวม 94,889 ล้านบาท สัดส่วนเพิ่มเป็น 39.35% ของภาพรวม

ถึงแม้ว่าหน่วยโอนจะลดลงเล็กน้อย -2.2% แต่มูลค่ากลับมีการขยายตัวเพิ่ม 8.5% แสดงให้เห็นว่าตลาดภูมิภาคยังมีทิศทางที่ดีและได้รับโมเมนตั้มจากปี 2565 อย่างชัดเจน

ภูมิภาคที่มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับในไตรมาส 1 ปี 2566 จะมีความโดดเด่นใน “ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ” ที่มีการขยายตัวสูงถึง 16.7%, 13.7% และ 7.9% ตามลำดับ และเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวต่อเนื่องมาจากปี 2565

โดยจังหวัดที่ยอดโอนมีการขยายตัวทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า เป็นจังหวัดหลักที่สำคัญที่มีศักยภาพ และได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ทำให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยจริง และมีกำลังซื้อขึ้นในพื้นที่ อย่างน้อยมี 5 จังหวัด “ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ชลบุรี, เชียงใหม่”

ภูเก็ต-EEC ปลุกยอดโอนโต

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง 2566 ดร.วิชัยกล่าวว่า โซนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 6 จังหวัด ยังคงมีปริมาณยอดขายมากสุดทั้งบ้านแนวราบและอาคารชุด และภาคตะวันออก 3 จังหวัด (ระยอง, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา) ในโซน EEC เริ่มเห็น

การชะลอตัวของยอดขาย ขณะที่ยอดโอนของ 2 โซนนี้สามารถขยายตัวในไตรมาส 1/66 จึงมองว่ายอดขายจะชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2/66 และฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

โซนภาคใต้ มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านยอดขายและยอดโอน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวในภูเก็ตเป็นหลัก ประกอบกับหัวเมืองหลัก “สงขลา, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช” เป็นแรงสนับสนุนช่วยให้ภาคใต้เข้าสู่ทิศทางขาขึ้นด้วยเช่นกัน

โซนภาคเหนือ แม้จะพบสัญญาณชะลอตัวด้านยอดขาย แต่ในด้านมูลค่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยจังหวัดที่มีสัญญาณการฟื้นตัวยอดขายที่ดี คือ “เชียงใหม่, พิษณุโลก, นครสวรรค์”

โซนภาคอีสาน ทั้งหน่วยและมูลค่าในไตรมาส 1/66 ลดลงในเกือบทุกจังหวัด โดย “ขอนแก่น-อุบลราชธานี” มีความโดดเด่น และมีสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายมากที่สุด ขณะที่จังหวัดที่ยังไม่อาจมองข้ามคือ “นครราชสีมา” แม้ยอดโอนลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า แต่มีความคึกคักในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา จึงคาดว่าพร้อมจะพลิกฟื้นในครึ่งปีหลังนี้

“ครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงที่ตลาดอสังหาฯ ทั่วประเทศจะชะลอตัว เพราะมีปัจจัยลบหลายด้าน เริ่มจากมาตรการ LTV-loan to value ที่แบงก์เข้มงวดสินเชื่อที่อยู่อาศัย, ภาวะหนี้ครัวเรือนสูงที่ระดับ 90% กับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นที่กระทบความสามารถผ่อนเงินกู้ลดลง อยู่ที่รัฐบาลใหม่จะมีมาตรการอะไรออกมาสนับสนุนเพื่อให้ตลาดกลับมาบูมได้” ดร.วิชัยกล่าว

ศุภาลัยบุกหนัก 1.5 หมื่นล้าน

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศุภาลัยเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการในต่างจังหวัดมากที่สุด โดยปี 2565 ลงทุนแล้ว 23 จังหวัด แผนปี 2566 ขยายเพิ่มอีก 5 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน, ลำปาง, นครปฐม, ราชบุรี, จันทบุรี รวมเป็น 28 จังหวัด

ในอนาคตมีจังหวัดที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนได้อีกอย่างน้อย 7 จังหวัด รวมเป็น 35 จังหวัด ทั้งพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เช่น เพชรบุรีซึ่งมีขนาดกำลังซื้อใหญ่พอ แต่ศุภาลัยยังไม่ได้เข้าไปลงทุน เป็นต้น

ทั้งนี้ ปี 2565 มีรายได้การโอนที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดเกือบ 14,000 ล้านบาท ปีนี้ขยายเพิ่ม 5 จังหวัด จึงตั้งเป้ารายได้โอนเติบโต 10% อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของเป้าโอนทั้งบริษัทที่ประกาศแผนตอนต้นปีที่ 36,000 ล้านบาท ส่วนการเปิดตัวโครงการใหม่ ตลาดต่างจังหวัดมีสัดส่วน 45% ของมูลค่าโครงการใหม่ที่ประกาศเป้าไว้ 41,000 ล้านบาท

“ตลาดที่อยู่อาศัยทั่วประเทศแบ่ง 2 โซนหลักคือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีสัดส่วน 60% บวกลบ มูลค่า 6 แสนกว่าล้านบาท กับต่างจังหวัดอีก 38-40% ซึ่งมีขนาดตลาด 4 แสนล้านบาท จากประสบการณ์ลงทุนในต่างจังหวัด เราเห็นมูลค่าเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เทรนด์ปีนี้คาดว่าจะขยับไปใกล้เคียงกับปี 2561 ซึ่งเป็นยุคบูมของบ้านและคอนโดฯ ในยุคก่อนมีมาตรการ LTV และโควิด แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อต่างจังหวัดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

AP บุกแบรนด์อภิทาวน์

นายรัชต์ชยุตม์ นันทโชติโสภณ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาธุรกิจกลุ่มสินค้าบ้านเดี่ยว บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ AP เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทมองเห็นโอกาสขยายฐานลูกค้าในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ รับเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งมีการขยายตัวของหัวเมืองดีต่อเนื่อง กำลังซื้อลูกค้าเรียลดีมานด์ในพื้นที่ที่แข็งแกร่งและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

บริษัทเดินหน้าแผนลงทุนขยายโครงการ นำแบรนด์ “อภิทาวน์-APITOWN” เจาะกลุ่มลูกค้าครอบครัวรุ่นใหม่ ในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ผ่านการพัฒนาโปรดักต์แบบบ้านดีไซน์ใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวเลือกแรกในการส่งมอบชีวิตดี ๆ ที่ลูกค้าสามารถเลือกเองได้

โดยโครงการอภิทาวน์ลงทุนระหว่างปี 2563-ไตรมาส 2/66 จำนวน 8 โครงการ มูลค่ารวม 7,969 ล้านบาท แผนลงทุนไตรมาส 3/66 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 โครงการ มูลค่ารวม 1,950 ล้านบาท นำร่องโครงการแรกแบรนด์ อภิทาวน์ นครปฐม (เพชรเกษม-นครชัยศรี) เตรียมเปิด 29 -30 ก.ค. นี้ เริ่ม 3.59-8 ล้านบาท

ในขณะที่ปีนี้วางแผนเปิดตลาดใหม่เพิ่มอีก 5 จังหวัด มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เอพีมีพอร์ตสินค้าโครงการต่างจังหวัดเติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 95% มูลค่าสะสมแตะ 1 หมื่นล้านบาท

อีสตาร์ฟื้นแลนด์แบงก์อู่ตะเภา

นายไพโรจน์ วัฒนวโรดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ ESTAR เปิดเผยว่า บริษัทมี 3 BU โดย 1 ใน 3 BU เป็นโครงการอสังหาฯ ในจังหวัดระยอง นอกจากสนามกอล์ฟอีสเทอร์นสตาร์ฯ แล้ว ยังมีแลนด์แบงก์ 300 กว่าไร่ ทำเลประชิดสนามบินอู่ตะเภา สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยมูลค่าโครงการไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ BU ระยอง ปัจจุบันมี 6 โครงการพร้อมอยู่ มูลค่ารวม 2,850 ล้านบาท เตรียมปิดการขายแกรนด์เวลาน่า อู่ตะเภา-บ้านฉาง, เวลาน่า อะโมด้า อู่ตะเภา-บ้านฉาง และบรีซ แอท อีสเทอร์น สตาร์ ฟอเรสโต้ ซึ่งมียอดขายแล้ว 98% ควบคู่กับเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ เธร่า พรีม่า บูรพาพัฒน์-สุขุมวิท และบรีซ ชาเล่ต์ บูรพาพัฒน์สุขุมวิท รวมทั้งวางแผนแตกทำเลไปอำเภอเมืองชลบุรี กับอำเภอบ้านบึง

ภูเก็ตรอนักท่องเที่ยวจีนคัมแบ็ก

นายอรรถนพ พันธุกำเหนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิซซากรุ๊ป จำกัด หรือ CISSA ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนรูปแบบ IP-Investment Property เปิดเผยว่า ซิซซามีพื้นที่ลงทุนใน 3 จังหวัด คือที่ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช โดยปี 2566 วางแผนเปิดตัว 4 โครงการ มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.นาใต้ เมดิคอล เซ็นเตอร์ แอนด์ รีสอร์ต มูลค่าลงทุน 3,300 ล้านบาท ปัจจุบันเปิดให้บริการโรงแรมแล้ว ส่วนเมดิคอล เซ็นเตอร์จะเปิดให้บริการไตรมาส 1/67

2.เมดิคอล เวลเนส รีสอร์ต ในพื้นที่โรงแรมวินแดม แกรนด์ ในหาน บีช ภูเก็ต แบ่งลงทุน 3 เฟส มูลค่าลงทุนเพิ่ม 300 ล้านบาท 3.พูลวิลล่า บริเวณหาดลายัน พัฒนาเฟส 1 บนพื้นที่ 16 ไร่ จำนวน 26 หลัง ราคาหลังละ 1-2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 35-70 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท และ 4.ดิ เอท พูลวิลล่า เฟส 2 ทำเลอ่าวฉลอง บนพื้นที่ 11 ไร่ จำนวน 60 หลัง ราคา 7-10 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 600-700 ล้านบาท

“นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาพักผ่อนในภูเก็ต ทำให้มีความคึกคักตั้งแต่กลางปี 2565 ถึงปัจจุบัน คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีปัจจัยบวกจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเสริม ซึ่งเป็นผลดีต่อการขายอสังหาฯ ของภูเก็ตโดยตรง” นายอรรถนพกล่าว CP LAND ส่งมิกซ์ยูสชนคู่แข่ง

นายดำรงศักดิ์ ถุงเงิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายขายและการตลาดโครงการ บริการหลังการขายและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND เปิดเผยว่า ปี 2566 เป็นปีแห่งการเร่งระบายสต๊อกเก่ามูลค่า 3,500 ล้านบาท จากนั้นบริษัทรีโมเดลแผนธุรกิจใหม่ ด้วยการเน้นพัฒนาโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูส ทั้งคอนโดฯ โรงแรม และสำนักงานให้เช่า

ทั้งนี้ ในรอบ 40 ปี CP LAND มีการลงทุนที่อยู่อาศัยแล้ว 22 โครงการ ใน 18 จังหวัด แผนยุทธศาสตร์การลงทุน 10 ปีหน้า (2566-2575) ตั้งเป้าลงทุนเพิ่มในรูปแบบสร้างสุขให้ชุมชนทุก ๆ ทำเลที่เข้าไปทำธุรกิจ เป้าหมายใหญ่ต้องการยกระดับขึ้นมาเป็นบริษัทอสังหาฯ อันดับ 1 ของตลาดต่างจังหวัด

โดยมีการรีโมเดลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ เป็นกลุ่มกำลังซื้อตลาดกลาง-บน สำหรับสินค้าคอนโดฯ ราคา 3-5 ล้านบาท และบ้านแนวราบราคา 7-10 ล้านบาท ซึ่งมีดาต้าเบสชี้ให้เห็นว่าเป็นสัดส่วนกลุ่มที่ซื้อและโอนในสัดส่วน 50% ของภาพรวม

“กลุ่มเป้าหมายหลักก็มีการปรับแผนเช่นกัน โดยลูกค้าคอนโดฯ ของเรามีรายได้ครัวเรือนละ 50,000 บาท รวมกัน 2-3 คน ตามเกณฑ์ที่แบงก์เปิดให้กู้ร่วมกันได้ ส่วนบ้านแนวราบลูกค้าเป็นผู้มีรายได้หัวละ 50,000 บาท ครัวเรือนละ 2 คน เช่น สามีภรรยา มีรายได้ 100,000 บาท/เดือน ซึ่งพบว่าเป็นกำลังซื้อที่มีดีมานด์ซ่อนอยู่ในต่างจังหวัดจำนวนมหาศาล” นายดำรงศักดิ์กล่าว

12/7/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 12 กรกฎาคม 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS