info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.192.26.226

รู้จัก โครงการแลนด์บริดจ์ โปรเจ็กต์ 1 ล้านล้าน คนไทยได้-เสีย ?

Infrastructure News / ข่าวหมวดงานสาธารณูปโภค

โครงการแลนด์บริดจ์ อภิมหาโปรเจ็กต์ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาล “เศรษฐา” ให้ความสำคัญและพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น อีกทั้ง มีการเดินหน้าโรดโชว์ เพื่อดึงดุดการลงทุนจากต่างชาติ ล่าสุด ได้มีการจัด ครม.สัญจร 22-23 มกราคม 2567 ที่จังหวัดระนอง เพื่อสำรวจพื้นที่พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน ประชาชน ก่อนผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น

วันที่ 22 มกราคม 2567 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกพื้นที่ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2567 ที่จังหวัดระนองแล้ว ยังเป็นการเดินทางตรวจราชการจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันด้วย พร้อมทั้งยังมีแผนลงพื้นที่ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง) ณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ครั้งแรแก หลังจากที่ไปเดินสายโรดโชว์หลายประเทศเพื่อดึงการลงทุน

ทั้งนี้ รัฐบาล “เศรษฐา” ให้ความสำคัญกับเมกะโปรเจ็กต์ “แลนด์บริดจ์” (Landbridge) เป็นอย่างมาก พร้อมทั้งวางเป้าหมายที่จะดึงการค้า การลงทุนจากต่างชาติผ่านโครงการนี้ หากฟังชื่อโครงการแล้ว อาจจะคุ้นเคยอยู่บ้าง เพราะ “โครงการแลนด์บริดจ์” เป็นหนึ่งโครงการที่กระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น

โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์ เชื่อมโยงขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน และพัฒนาเมืองในภาคใต้ให้ต่อเชื่อมกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก ที่กำลังเดินหน้าการพัมนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเวลานั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณสำหรับศึกษาโครงการให้แล้ว จำนวน 74.71 ล้านบาท

รู้จัก โครงการแลนด์บริดจ์

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นยุทธศาสตร์และเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคใต้ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศและเชื่อมประเทศไทยกับอาเซียน จีน อินเดีย ตลอดจนเชื่อมโยงประเทศกลุ่มประเทศตะวันออกไกล เข้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสภาพยุโรปให้มีการขนส่ง โลจิสติกส์สะดวกยิ่งขึ้น

โดยคาดว่า หากการดำเนินโครงการดนี้ได้สำเร็จ จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว หลายฝ่ายยังให้ความกังวลในแง่สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตในพื้นที่ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ รัฐบาล “เศรษฐา” ต้องจัดการแก้ไข

ครม.เศรษฐา อนุมัติ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 คุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติรับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP)

งบประมาณ 1 ล้านล้าน

โครงการแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) ได้มีการประมาณวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 เนื้องาน ได้แก่

1. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร

2. ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร

3. เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 กม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack), ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ

4. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

รูปแบบลงทุน PPP

สำหรับรูปแบบการลงทุน โครงการ แลนด์บริดจ์ ที่เหมาะสม คือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี โดยกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ โดยแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ดังนี้

การลงทุนท่าเรือฝั่งระนอง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 6 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573, ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 12 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577 และระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 8 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579

การลงทุนท่าเรือฝั่งชุมพร แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าจำนวน 4 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2573, ระยะที่ 2 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 4 ล้าน TEUs รวมเป็น 8 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2577, ระยะที่ 3 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 14 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2579 และระยะที่ 4 พัฒนาให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น 6 ล้าน TEUs รวมเป็น 20 ล้าน TEUs ในปี พ.ศ. 2582

เปิดแผนพัฒนา 4 ระยะ

โดยวางกรอบระยะเวลาการพัฒนา 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 118,519.50 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 141,716.02 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,212.00 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 164,671.83 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 45,644.75 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 73,164.78 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ จำนวน 21,910.00 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 23,952.30 ล้านบาท

ระยะที่ 3 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท, งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง จำนวน 115,929.76 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจำนวน 39,361.04 ล้านบาท

ระยะที่ 4 ประมาณการลงทุนโครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าโครงการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ดังนี้ มูลค่าปัจจุบัน (NPV) 257,453 ล้านบาท, อัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) เท่ากับ 1.35, อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43%, ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทางตรง 9.52%, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62%, มีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 และจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จำนวน 280,000 ตำแหน่ง

โดยแบ่งเป็นจังหวัดระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง จังหวัดชุมพร 150,000 ตำแหน่ง รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี

ประโยชน์-ผลกระทบที่ได้

สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการดำเนินโครงการนี้ ได้แก่

1 ลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

2 สนับสนุนระบบโลจิสติกส์การขนส่งทางเรือของประเทศไทยเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค

3 เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้

4 เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โอกาสการจ้างงาน และช่วยลดปัญหาทางสังคมในพื้นที่จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากดำเนินโครงการนี้

1 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ดังนั้น การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์จำเป็นจะต้องดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วย การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment (EIA)

และรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment : EHIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ตั้งของท่าเรือฝั่งอันดามันในจังหวัดระนอง ปัจจุบันได้กำหนดตำแหน่งที่แหลมอ่าวอ่าง อำเภอราชกรูด จังหวัดระนอง ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองและอุทยานแห่งชาติแหลมสน โดยพื้นที่ของโครงการแลนด์บริดจ์ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่ ทส. อยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันเป็นแหล่งมรดกโลกเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก แต่อยู่ในเขตที่กำหนดเป็นพื้นที่เขตแนวกันชน (Buffer Zone) ซึ่งอยู่ในระยะ 3 กิโลเมตร จากพื้นที่ที่เสนอขึ้นทะเบียน ซึ่งจะต้องมีการหารือระหว่าง คค. และ ทส. ต่อไป

2 ด้วยการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ยังไม่มีกฎหมายที่ดูแล ควบคุม หากจะเดินหน้า จะต้องพัฒนาด้านกฎหมาย กฎระเบียบที่จะส่งเสริมการดำเนินการในรูปแบบการพัฒนาโครงการตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นเพื่อจูงใจนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ที่เป็นรูปธรรมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการพัฒนาด้านกฎหมาย

ประกอบด้วย จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในการขับเคลื่อนนโยบายและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองและพัฒนาอุตสาหกรรม

22/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 22 มกราคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS