info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.192.26.226

ทุนใหญ่โหมลงทุนโรงแรมหรู ท่องเที่ยวฟื้น-แบงก์ปล่อยกู้

Hotel News / ข่าวหมวดโรงแรม

โรงแรมหรูโหมลงทุน เผยความเชื่อมั่นตลาดดีดกลับ สถาบันการเงินเริ่มปล่อยกู้ กลุ่มทุนใหญ่ขยับแรงทั้งลงทุนใหม่ทั้งใน-ต่างประเทศ คาดปี’67 โรงแรมใหม่ผุดทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นห้อง AWC ทุ่มกว่าหมื่นล้านปักธง 4 โปรเจ็กต์ในพัทยา-หัวหิน-กรุงเทพฯ “เซ็นทรัล” ผนึก CPN ยึดพื้นที่ต่างจังหวัด กลุ่ม “แกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์” เปิดเกมรุกตลาดลักเซอรี่ ตั้งเป้ามีจำนวนห้องพักในพอร์ตครบ 4,000 ห้อง ในปี’70 ด้าน “ดุสิตธานี กรุงเทพ” พร้อมคัมแบ็ก มิ.ย.นี้

นายบิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส เปิดเผยว่า ปี 2567 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง โดยภาพรวมเป็นไปในทิศทางบวก เริ่มเห็นการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นตลาด (Market Sentiment) เริ่มกลับมาอีกครั้ง สถาบันการเงินเริ่มปล่อยกู้มากขึ้น ขณะที่นักลงทุนมองการท่องเที่ยวมีความน่าลงทุนอีกครั้ง

โดยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจังหวัดเดียวพบว่า มีโรงแรมอยู่ระหว่างการพัฒนาประมาณ 12,000 ห้อง โดยกว่าครึ่งของจำนวนดังกล่าว หรือประมาณ 6,000 ห้อง เป็นการกลับมาพัฒนาโครงการอีกครั้งหลังจากหยุดไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ คาดว่าโครงการเหล่านี้จะแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า

“ตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เป็นต้นมา เริ่มเห็นสัญญาณว่าเจ้าของโรงแรมเริ่มมองหา Branded Hotel เพื่ออัพเกรดอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองให้มีความพรีเมี่ยมและเปิดโอกาสการเพิ่มรายได้และการแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารก็เริ่มปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการมากขึ้นเช่นกัน” นายบิลกล่าว

สอดรับกับ นายเจสเปอร์ ปาล์มควิซ ผู้อำนวยการอาวุโสภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก STR Global บริษัทในเครือ CoStar Group ผู้ให้บริการด้านข้อมูล การวิเคราะห์และตลาดสำหรับอุตสาหกรรมการฮอสพิทาลิตี้ ที่กล่าวว่า ปี 2567 นี้คาดว่าตลาดธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยจะมีการเปิดตัวโรงแรมใหม่ประมาณ 10,000 ห้อง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับกลาง-บน (Upper-Midscale) ตามด้วยโรงแรมลักเซอรี่ (Luxury) ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตสูง

AWC เทหมื่นล้านเปิด 1,000 ห้อง

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 นี้ AWC มีแผนลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท เปิดโรงแรม 4 แห่ง รวมห้องพักประมาณ 1,000 ห้อง ประกอบด้วย โรงแรมที่พัทยา (ชลบุรี) 2 แห่ง คือ แมริออท รีสอร์ท พัทยา และโรงแรมในกลุ่ม IHG อีก 1 แห่ง โรงแรมที่หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) 1 แห่ง คือ โรงแรมคิมป์ตัน หัวหิน และกรุงเทพฯ อีก 1 แห่งคือ แฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท (Fairmont Bangkok Sukhumwit) ที่เป็นการรีแบรนด์จากโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนลงทุนอีกจำนวนหนึ่ง อาทิ โครงการมิกซ์ยูส “อควอทีค พัทยา” โดยได้ลงนามกับแบรนด์เจดับบลิว แมริออท และแมริออท มาร์คีส์ ไปแล้ว รวมถึงแผนการลงทุนในเชียงใหม่กว่า 30,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนนี้คาดว่ามูลค่าลงทุนรวมกว่า 13,000 ล้านบาท

LHMH ขยับสู่ตลาด “ลักเซอรี่”

นางสุวรรณา พุทธประสาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) ผู้บริหารกลุ่มโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ ให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า ปัจจุบันโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ เปิดดำเนินการทั้งสิ้น 7 แห่ง ล่าสุดคือ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์ กรุงเทพฯ โรงแรม 5 ดาวสุดหรูใจกลางย่านสุรวงศ์ จำนวน 399 ห้องพัก มูลค่าลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนโรงแรมลักเซอรี่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.โครงการมิกซ์ยูส ความสูง 50 ชั้น บริเวณถนนพระราม 4 ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าลุมพินี 200 เมตร มีโรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ ลุมพินี กรุงเทพฯ 512 ห้องพัก ลงทุนราว 4,500 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาสแรก ปี 2568

2.โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ ราชดำริ ซึ่งเป็นที่ดินอาคารเพนนินซูล่าเดิม จำนวน 509 ห้องพัก ลงทุนราว 5,100 ล้านบาท จะเปิดให้บริการในไตรมาสแรกปี 2569 และ 3.โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ แห่งที่ 3 ในพัทยา จำนวน 494 ห้องพัก ลงทุนราว 4,400 ล้านบาท จะเปิดให้บริการในไตรมาสแรก ปี 2570 ทำให้ในปี 2570 บริษัทมีโรงแรมในพอร์ต 9 แห่ง รวม 4,000 ห้องพัก

แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มทุนที่น่าจับตามองอีกกลุ่มหนึ่งในขณะนี้คือ กลุ่มเซ็นทรัล ที่หันมาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในนามบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN โดยเซ็นเทลจะเน้นรับบริหารและลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ซีพีเอ็นจะเน้นลงทุนโรงแรมควบคู่กับการพัฒาศูนย์การค้าในต่างจังหวัด

จากข้อมูลพบว่ากลุ่มซีพีเอ็นเตรียมงบฯลงทุนไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนในธุรกิจโรงแรมใน 5 ปี (2565-2569) เป็นการพัฒนาโรงแรม 37 โครงการ ใน 27 จังหวัด รวมกว่า 4,000 ห้องพัก ควบคู่กับพัฒนาศูนย์การค้า อาทิ นครราชสีมา, อุบลราชธานี, อยุธยา, ระยอง, ชลบุรี และเชียงราย ฯลฯ

“ในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มซีพีเอ็ เปิดโรงแรมไปถึง 3 แบรนด์ คือ Centara, Centara One และ GO! Hotel จำนวน 10 แห่ง รวม 1,600 ห้อง สำหรับปีนี้ก็จะยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องตามแผน 5 ปีที่ระบุไว้” แหล่งข่าวระบุ

สำหรับส่วนของเซ็นเทล ในปี 2567 นี้มีแผนเปิดให้บริการ 3 แห่ง ได้แก่ โรงแรมโคซี่ (สปป.ลาว), เปิดโรงแรมใหม่ที่สมุยเดือนพฤษภาคม และอีก 1 แห่งที่มัลดีฟส์ ในช่วงไตรมาส 4 นอกจากนี้ยังทำการรีแบรนด์โรงแรมแบรนด์ “Centra” เป็น Centara Life ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทยอยปรับโฉม

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการที่น่าจะสร้างสีสันให้กับอุตสาหกรรมโรงแรมในปีนี้มากที่สุดน่าจะเป็นการกลับมาของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โรงแรมระดับ 6 ดาว จำนวน 257 ห้องพัก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 46,000 ล้านบาท ที่กำหนดเปิดให้บริการในส่วนของโรงแรมในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งน่าจะเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มดุสิตธานีในปี 2567 นี้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มดุสิตธานียังมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มธุรกิจโรงแรมในปี 2567 โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีเปิดโรงแรมใหม่ประมาณ 10 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ กรีซ เคนยา ญี่ปุ่น เนปาล จีน

โดยโรงแรมใหม่ล่าสุดของกลุ่มดุสิตธานี คือ โรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส พัทลุง โรงแรมระดับ 4 ดาว จำนวน 132 ห้อง โรงแรมภายใต้แบรนด์ดุสิตลำดับที่ 15 ในประเทศไทย และเป็นโรงแรมภายใต้แบรนด์ “ดุสิต ปริ๊นเซส” ที่เปิดให้บริการในภาคใต้

ทุนใหญ่ทุ่มลงทุนทั้งใน-ตปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่อีกหลายรายที่เดินหน้ารุกธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่อง เช่น บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ที่มองว่าภาพรวมตลาดท่องเที่ยวในปี 2567 มีปัจจัยบวกจากมาตรการของภาครัฐ อาทิ มาตรการวีซ่าฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำให้เชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดยปีนี้กลุ่มวีรันดามีแผนพัฒนาธุรกิจในเมืองท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น เปิดโรงแรมวีรันดา รีสอร์ท ภูเก็ต, ออโต้กราฟ คอลเลกชัน (Veranda Resort Phuket, Autograph Collection) จำนวน 159 ห้อง และลงทุนเพิ่มในส่วนขยาย ร็อคกี้ บูทีค รีสอร์ท-วีรันดา คอลเลกชัน สมุย (Rocky’s Boutique Resort-Veranda Collection Samui) จำนวน 20 ห้อง ในไตรมาส 4/2567 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและเกาะสมุย (สุราษฎร์ธานี) ที่เพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR ที่ระบุว่าธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นชัดเจนต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 จากการเติบโตต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการเดินทางระหว่างภูมิภาค โดยที่ผ่านมามีธุรกิจโรงแรมโดดเด่นด้วยการเปิดตัว SO/Maldives โรงแรมไลฟ์สไตล์หรูระดับ 5 ดาว และได้ทั้งยกระดับห้องพักโรงแรมในเครืออีก 5 แห่ง รองรับกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น และต่อยอดแบรนด์ ทราย (SAii) ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

โรงแรมแห่งหนึ่งของ เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (SHR) ในเครือสิงห์ เอสเตท

ทั้งนี้ SHR มีแผนปรับปรุงโรงแรม 5 แห่งในเครือ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่โรงแรมจะอยู่ในต่างประเทศ ส่วนในประเทศไทยคือ โรงแรมทราย ลากูน่า ภูเก็ต, โรงแรมทราย พีพี ไอซ์แลนด์ วินเลจ เป็นต้น

ขณะที่บริษัท บูทิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เปิดเผยว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนาโปรเจ็กต์ใหม่ (Build) 2 แห่ง คือโรงแรมในย่านสุขุมวิท ซอย 5 และที่หาดกมลา จ.ภูเก็ต รวมมูลค่าโครงการประมาณ 2,500 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างวางแผนก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีจากนี้ จากปัจจุบันที่มีโรงแรมเปิดให้บริการอยู่รวม 10 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี และภูเก็ต

24/1/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 24 มกราคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS