info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.220.181.180

ตลาดยางล้อรถอีวีบูมเกินคาด นอร์ทอีสทุ่ม 1,700 ล้าน ตั้งโรงงานใหม่

Industrial News / ข่าวหมวดงานอุตสาหกรรม

ตลาดยางรถ EV บูม “นอร์ทอีส รับเบอร์” ทุ่มลงทุน 1,700 ล้าน ขยายโรงงานแห่งที่สาม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตอีกเท่าตัว ปั๊มยอดขายจาก 28,000 ล้านบาท วิ่งเข้าสู่ 40,000 ล้านบาท ปี 2568 พร้อมเดินหน้าแผน EUDR ตรวจสอบย้อนกลับไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ยางจากการรุกป่า

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาสถานการณ์ราคายางที่ลดลงต่อเนื่องในปี 2565 บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ที่ตั้งโรงงานยางอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์มา 17 ปี ยังสามารถสร้างรายได้ปี 2566 มากถึง 25,045 ล้านบาท จากยอดขาย 497,053 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 11.42% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานถึง 2,049 ล้านบาท

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมของ NER ในปีนี้ว่า จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 50% โดยเตรียมลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ในพื้นที่บริเวณเดิมอีก 1,700 ล้านบาท เพื่อขยายการผลิตยางแท่ง STR 20 จากเดิมที่กำลังการผลิต 350,000 ตัน ขยายเป็น 700,000 ตันในปี 2569 ซึ่งจะทำให้ยอดขายในอนาคตปรับขึ้น 35,000-40,000 ล้านบาท

“ขณะนี้เรากำลังเตรียมที่อยู่ จะเริ่มก่อสร้างประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จ 100% ประมาณปลายปีนี้หรือไตรมาส 1 ต้นปี 2568 โดยโรงงานใหม่จะเป็นไลน์การผลิตยาง STR 20 กำลังการผลิตจะเป็นดับเบิลของเดิมที่มีอยู่แล้วปีละ 350,000 ตัน บวกกับโรงงานใหม่อีก 350,000 ตัน ทำให้มีกำลังการผลิต STR 20 รวม 700,000 ตัน เพราะเป็นโรงงานผลิตใหญ่ จึงจะทยอยเพิ่มไลน์ทีละเฟส

โดยเฟสแรกเพิ่มมา 170,000 ตันก่อนในปี 2568 จากนั้นปี 2569 จะมีอีก 170,000 ตัน และยังมียาง RSS3 และ RSS คอมพาวนด์อยู่ 120,000 ตัน รวมกันสองอันจะทำให้โรงงานเรามีกำลังการผลิต 820,000 ตัน ภาพรวมกำลังผลิตครบปี 2569” นายชูวิทย์กล่าว

รายได้ปี 2567 โต 10%

ส่วนในปี 2567 เนื่องจากโรงงานใหม่ยังไม่เสร็จ แต่เรามีการขยายกำลังการผลิตโรงงานเก่าเพิ่มขึ้นอีก 10% จากยอดเดิมของปี 2566 โดยมูลค่า 28,000 ล้านบาท ในปี 2567 โดยคำนวณจากราคายางที่ กก.ละ 53-54 บาท แต่ถ้าราคายางยังปรับขึ้นแบบนี้ ในช่วงปลายปีน่าจะมีการปรับเป้าหมายใหม่

ส่วนตลาดของ NER แบ่งเป็นตลาดที่ขายในรูปเงินบาทในประเทศอยู่ประมาณ 60% กับตลาดส่งออกที่ขายเป็นเงินดอลลาร์ประมาณ 40% ซึ่งในส่วนของตลาด 60% จำหน่ายให้กับผู้ผลิตยางล้อ ทั้งสัญชาติไทยและต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยด้วย

ส่วนแนวโน้มตลาดในประเทศปีนี้ดีขึ้น เพราะยิ่งรัฐบาลวางอนาคตให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV ด้วย โดยรัฐบาลส่งเสริมการผลิตเพื่อใช้บ้านเรา และยังส่งเสริมผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ฉะนั้นแนวโน้มการใช้ล้อยางเพื่อผลิตรถ EV ในประเทศไทยน่าจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนตลาดส่งออก 40% ตลาดหลักยังเป็นตลาดญี่ปุ่นกับตลาดจีน

“เรามีสัดส่วนตลาดจีน 30% ญี่ปุ่น 8% สิงคโปร์และอินเดียที่เหลือ แนวโน้มตลาดส่งออกหลักของเราปีนี้ จีนกระตุ้นแล้ว ส่วนญี่ปุ่นดูดีขึ้น ดอกเบี้ยไม่ติดลบ เงินเฟ้อก็น้อยลง ก็ดูทุกอย่างแนวโน้มดี ผมจึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ขึ้น” นายชูวิทย์กล่าว

ปัจจัยหนุนขยายโรงงาน

แนวโน้มตลาดยางตอนนี้กำลังเป็นขาขึ้น เพราะว่าปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว สหรัฐมีแนวโน้มดีขึ้น จีนเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ โดยรัฐบาลจีนจะสั่งธนาคารลดดอกเบี้ยลงไป ทำให้มีความต้องการใช้ยางกลับมามากขึ้น และที่สำคัญการใช้รถยนต์ EV เป็นพระเอกตัวใหม่ในการใช้ล้อยาง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมขยายโรงงานยางสำหรับผลิตเป็นวัตถุดิบรองรับ

“ยางรถ EV เป็นปัจจัยหนึ่งที่มาเป็นตัวเร่งการใช้ยาง เพราะล้อยางของรถ EV จำเป็นต้องใช้ความคงทนของล้อยางมากขึ้น จากที่ตัวรถมีน้ำหนักมากกว่าเครื่องยนต์สันดาป ดังนั้นจะมีการใช้ปริมาณยางธรรมชาติมากขึ้น และตัวรถ EV เองก็ออกตัวด้วยความเร็วสูง เพราะมอเตอร์ตอนออกตัวเป็น 1,000 รอบต่อวินาที ไม่เหมือนเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งมันต้องอาศัยรอบของเครื่องยนต์

เพราะฉะนั้น อาการกินหน้ายางของรถ EV จะมีมากกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป ต้องใช้ยางที่เน้นคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งลูกค้าโรงงานยางกลุ่มนี้ก็คือ โรงงานที่ทำล้อรถยนต์เดียวกันกับล้อรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ก็จะมีการแบ่งไลน์ผลิตกันชัดเจน เราส่งให้กับโรงงานหลายแห่งอยู่แล้ว” นายชูวิทย์กล่าว

ยางเฉลี่ยราคาไม่ต่ำกว่า 65 บาท

ด้านราคายางในประเทศไทยดี โดยเฉพาะราคาในประเทศ ซึ่งห่างจากราคาต่างประเทศประมาณ 30 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยเฉลี่ยในผลิตภัณฑ์ยางทุกชนิด ดีกว่าราคาต่างประเทศ “ผลผลิตยางไทยลดลงจากภาวะเอลนีโญ 15% ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคายางขึ้นไปตั้งแต่ต้นปี ขณะที่แนวโน้มความต้องการยางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตล้อยาง ซึ่งปีที่แล้วมีเจ้ายักษ์ใหญ่ของจีนเข้ามาลงทุนเพิ่ม 1 ราย ซึ่งสต๊อกก็จะโตขึ้นไปตามยอดการผลิต

“ตามปกติ เราวางสต๊อกไว้ประมาณ 5 เดือน แต่ตอนนี้เราขายของเพื่อส่งมอบเดือน 6-7 ไปแล้ว ราคาส่งมอบตอนนั้นดีขึ้นมาก ๆ โดยราคายางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นตัวที่ใช้เป็นราคาอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 70 บาท/กก. ราคาขายก็ 77-78 บาทเท่านั้น ทำให้มองว่า จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60 บาท ไม่น่าต่ำกว่านี้ หรืออาจจะได้เห็นเฉลี่ย 65 บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี การไม่มีของทำให้ราคายิ่งพุ่งขึ้นตามดีมานด์-ซัพพลาย” นายชูวิทย์กล่าว

ความท้าทายต่อธุรกิจ

สำหรับปัจจัยเรื่องการปรับค่าแรงในช่วงกลางปี 2567 นั้น “ไม่มีผลกับธุรกิจ” เพราะบริษัทจ้างรายเหมาตาม Out Put พนักงานของโรงงาน NER ได้ค่าแรงวันละ 600 บาทมานานแล้ว ปัจจุบันมีแรงงาน 1,200 คน แต่ถ้าโรงงานใหม่เสร็จ คาดว่าจะมีการรับแรงงานเพิ่มอีก 700 คน รวมเป็น 1,900 คน โรงงานในไทยเป็นคนไทย 100%

ส่วนปัจจัยค่าพลังงาน เป็นส่วนที่ “เรากังวลมากกว่า” เพราะโรงงานใช้ไฟค่อนข้างมาก บริษัทจึงได้ปรับแผนผลิตพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ ทั้งโซลาร์เซลล์และไบโอก๊าซ ใช้ในโรงงาน ครอบคลุมประมาณ 20% ทำให้ประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 20% จากภาพรวมเรื่องค่าพลังงาน 200 ล้านต่อปี “ถือว่าดีขึ้นมาก”

ส่วนปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทได้มีการจองฟอร์เวิร์ดไว้ จึงไม่กระทบ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมที่จะช่วยเรื่องการส่งออกก็อยากได้ไม่ต่ำกว่า 35 บาท แต่ถ้ามองภาพรวมของประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานด้วย หากสามารถบาลานซ์ได้ประมาณ 35 บาทก็ถือว่าเหมาะสม

สำหรับเงินลงทุนที่จะก่อสร้างโรงงานใหม่ 1,700 ล้านบาทนั้น จะนำมาจากกำไรสะสมที่มี และมีการใช้เงินจากสถาบันการเงินบางส่วนเข้ามาเพิ่ม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ 4-6% สูงอยู่แล้ว ซึ่งเราบริหารจัดการความเสี่ยง แม้มีกู้บ้าง แต่โดยรวมคือใช้วงเงินแบงก์น้อย “เรื่องการออกบอนด์ ถ้าหากอีก 1-2 เดือน วงเงินแบงก์ช้าและราคายางวิ่งขึ้นเกิน 70 บาทเป็นเวลานาน เราอาจจะพิจารณาออกบอนด์ไว้สักก้อน เพื่อเป็นทุนสำรองในการเร่งซื้อยางประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทขายในประเทศ”

ลุยทำ EUDR

พร้อมกันนี้ยังเตรียมพร้อมเรื่องการใช้มาตรการคู่ค้า อย่างเรื่องมาตรการลดการปล่อยคาร์บอน หรือการห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยางจากการรุกป่า (EUDR) ทั้ง 2 เรื่องนี้มีผลต่อเรา ทางบริษัทปรับกระบวนการผลิต ปรับใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด และมีโครงการพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับ

และตอนนี้เริ่มทำเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” จะรับการอนุมัติจากหน่วยงานต่างประเทศผ่านในปีนี้ก็จะสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ซึ่งกระบวนการแอปพรูฟใช้เวลาพอสมควร คิดว่าจะเสร็จสิ้นในปีนี้ โดยมีสวนยางเบื้องต้นประมาณ 2,000-3,000 ไร่

“การทำเรื่อง EUDR ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เท่าที่ฟังก็คุ้มค่า เพราะผู้ซื้อยอมให้เราขึ้นราคาจากมาตรการตรงนี้ เขายอมซื้อ ตอนนี้เริ่มเห็นมีการรีเควสต์และจ่ายเพิ่มให้ 10-15% แล้วแต่ตกลง แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำสวนยาง แต่มีเครือข่ายสวนยางในพื้นที่ที่มีความพร้อมมาก” นายชูวิทย์กล่าว

6/3/2567  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 6 มีนาคม 2567 )

ช่องยูทูปของ iCONS