การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ท่อขนส่งน้ำมันและคลังน้ำมันปลายท่อสามารถใช้เป็นแหล่งสำรองน้ำมันในยามฉุกเฉิน ลดอุบัติเหตุจากการขนส่งโดยรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการลดความเหลื่อมล้ำด้านราคาน้ำมันระหว่างกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ
บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการโดยมุ่งยกระดับการให้บริการน้ำมันอากาศยานและขยายการลงทุนในกลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้ดำเนินการต่อเชื่อมระบบท่อส่งน้ำมันและสนับสนุนการเพิ่มทุนเพื่อเสริมความมั่นคงทางการเงินและการลงทุนผ่าน บริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จํากัด (BPT) ในโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันอ่างทอง-สระบุรี เข้ากับระบบคลังน้ำมันสระบุรีของ Thappline เพื่อขยายระบบขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ระยะที่ 3 เส้นทางสถานีแยกระบบท่ออ่างทอง คลังน้ำมันสระบุรี
ซึ่งมีการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ ประธานกรรมการ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ม.ร.ว. ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร BAFS และ ประธานกรรมการ BPT เป็นประธานในพิธี , ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS พร้อมด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ให้เกียรติร่วมพิธี
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BAFS กล่าวว่า โครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันอ่างทอง-สระบุรี เป็นการเชื่อมต่อระบบท่อส่งน้ำมันเข้ากับระบบคลังน้ำมันสระบุรีของ Thappline เพื่อขยายระบบขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ระยะที่ 3 เส้นทางสถานีแยกระบบท่ออ่างทอง คลังน้ำมันสระบุรี
ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือระยะที่ 1 จากคลังน้ำมันบางปะอินไปยังกำแพงเพชร-คลังน้ำมันพิจิตร และระยะที่ 2 กำแพงเพชร-คลังน้ำมันนครลำปาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งน้ำมัน จากโรงกลั่นน้ำมันศรีราชาและโรงกลั่นน้ำมันมาบตาพุดที่ออกไปยังเขตพื้นที่ภาคเหนือ ผ่านระบบท่อส่งใต้ดินทดแทนการขนส่งด้วยรถบรรทุกน้ำมัน
สำหรับความคืบหน้าโครงการจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 1/2568 ตั้งเป้าเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2569 โดยเริ่มรับน้ำมันจากคลังน้ำมันสระบุรีของThappline เชื่อมต่อกับระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือระยะที่ 1 บริเวณจังหวัดอ่างทอง ระยะทางประมาณ 52 กิโลเมตร
หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้ระบบท่อขนส่งน้ำมันของ BPT มีระยะทางรวม 726 กิโลเมตร นับเป็นท่อขนส่งน้ำมันที่ยาวที่สุดและทันสมัยที่สุดของประเทศ และเป็นระบบท่อส่งน้ำมันที่ยาวที่สุดในอาเซียน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบโครงข่ายท่อขนส่งน้ำมันของประเทศให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก สอดรับกับทิศทางและนโยบายของกระทรวงพลังงานที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ โดยคลังน้ำมันพิจิตรและคลังน้ำมันนครลำปาง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักในด้านการเก็บสำรองน้ำมันของภาคเหนือ และเป็นจุดจ่ายน้ำมันที่สำคัญไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือสามารถรับน้ำมันจากโรงกลั่นภาคตะวันออกอีก 5 โรงกลั่น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการบริการ
อีกทั้งช่วยลดปัญหาการจราจร ลดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการขับขี่ระยะไกล รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 50,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อย่างไรก็ดี เมื่อมีผู้ค้าน้ำมันใช้ระบบขนส่งทางท่อเพิ่มขึ้นในระยะยาว ต้นทุนทางขนส่งโลจิสติกส์ของผู้ค้าน้ำมันก็จะลดลง และจะสามารถทำให้ราคาน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือมีความใกล้เคียงกับราคาน้ำมันในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้
ปัจจุบันท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือของ BPT ที่มี BAFS เป็นผู้ร่วมทุน เราส่งน้ำมันปีที่แล้วประมาณ 1,221 ล้านลิตร เมื่อเกิดการเชื่อมต่อแล้ว เราเชื่อมั่นว่า จะสามารถรับน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันภาคตะวันออกมากกว่า 5 แห่ง และจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 780 ล้านลิตร ม.ล. ณัฐสิทธิ์กล่าว
OR-เชลล์ หนุนขนส่งทางท่อ
ด้าน ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งน้ำมันของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนผ่านการใช้ระบบขนส่งทางท่อแทนการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่
นอกจากนี้ยังช่วยให้ประเทศก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน อย่างไรก็ดี OR มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการยกระดับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศผ่านระบบการขนส่งทางท่อเพื่อทำให้การขนส่งน้ำมันของประเทศมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับ นางสาวอรอุทัย ณ เชียงใหม่ ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันนี้เป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ในนามบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจ และเติบโตคู่กับสังคมไทยมา 133 ปี มีสถานีบริการ 726 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงคลังน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือ ดังนั้น โครงการนี้จะมีประโยชน์กับเชลล์และประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ส่งต่อน้ำมันไปยังพื้นที่ภาคเหนืออย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุดทั้งในเรื่องของต้นทุน ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา BPT เน้นทำการตลาดเชิงรุกเพื่อส่งเสริมให้ลูกค้ามาใช้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อให้มากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องประมาณการว่าปริมาณขนส่งน้ำมันผ่านระบบท่อจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย BPT มีแผนการเพิ่มปริมาณน้ำมันผ่านท่อเพิ่มขึ้น โดยส่งเสริมให้คลังน้ำมันปลายท่อ ได้แก่ คลังน้ำมันพิจิตรและคลังน้ำมันนครลำปางเป็นจุดกระจายน้ำมันเพื่อการส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประมาณการปริมาณน้ำมันขนส่งผ่านระบบท่อไปยังคลังน้ำมันนครลำปางเพิ่มขึ้นถึง 40%
นอกจากนี้ อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ BPT คือการร่วมขับเคลื่อนสังคมสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่ง โดยเริ่มเปิดให้บริการระบบท่อขนส่งน้ำมันสายเหนือตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งน้ำมันด้วยรถบรรทุกไปแล้วกว่า 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
23/1/2568 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 23 มกราคม 2568 )