เอ็ม บี เค มอบที่ดิน เอ็ม บี เค รีสอร์ท 36 ไร่ให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงพยาบาลที่วิทยาเขตภูเก็ต ขนาด 500 เตียง ดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อน ทั้งผลักดันภูเก็ตเป็นเมืองสุขภาพโลก ขานรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
วันที่ 3 เมษายน 2566 นายวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอ็ม บี เค ประกอบด้วยธุรกิจในเครือ 8 ธุรกิจหลัก คือ ศูนย์การค้า, โรงแรมและการท่องเที่ยว, อสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจการประมูล, ธุรกิจการเงิน, ธุรกิจกอล์ฟ, ธุรกิจอาหาร และศูนย์สนับสนุนองค์กร
โดยบริษัท เอ็ม บี เค รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ MBK-R เป็นบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจสนามกอล์ฟระดับพรีเมี่ยมในอำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่อสนามล็อค ปาล์ม กอล์ฟ คลับ (LOCH PALM GOLF CLUB) และเรด เมาเทิน กอล์ฟ คลับ (RED MOUNTAIN GOLF CLUB)
ทั้งนี้นอกจากสนามกอล์ฟ ภายในพื้นที่เดียวกันซึ่งมีขนาด 1,400 ไร่ยังมีธุรกิจอื่น ๆ ในเครือเอ็ม บี เค ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมทินิดีกอล์ฟ รีสอร์ท ภูเก็ต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ Loch Palm Residence และธุรกิจจำหน่ายน้ำดิบ โดยเราได้บริจาคที่ดิน 36 ไร่ อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสนามกอล์ฟ เรด เมาเทิน กอล์ฟ คลับ ซึ่งทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองและใกล้หาดป่าตองที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดภูเก็ต ใช้เวลาเดินทางเพียง 40 นาทีจากสนามบินนานาชาติภูเก็ต และเพียง 15 นาทีจากหาดป่าตอง
การส่งมอบที่ดินครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการตอบแทนสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ และการศึกษา เอ็ม บี เค ให้ความสำคัญมาต่อเนื่อง เพราะมองว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต ซึ่งการร่วมขับเคลื่อนโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย
การสร้างโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จะทำให้คนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และ 5 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ สตูล กระบี่ ระนอง ภูเก็ต พังงา ตรัง ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ดี เพราะการที่ประชากรมีสุขภาพที่ดีนับเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
รวมถึงนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต หรือจังหวัดอันดามันก็สามารถที่จะเข้ามารับบริการทางการแพทย์ได้ จึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน (ANDAMAN HEALTH AND WELLNESS CENTER) ในพื้นที่ตั้งของวิทยาเขตภูเก็ต เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน ในระดับชาติ และนานาชาติหรือ SDG ในส่วนของเป้าหมายที่ 3 Good Health and Well Being
โดยเน้นการส่งเสริมสุขภาพให้ประชากรทุกช่วงวัยมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวมูลค่าสูงในมิติการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จะขับเคลื่อนภารกิจ 5 ด้าน ได้แก่ การผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะไม่น้อยกว่า 197 คน/ปี และเป็นฐานในการอบรมและผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไม่น้อยกว่า 1,000 คน/ปี อีกทั้งจะลดการส่งต่อผู้ป่วยโรคซับซ้อนไปต่างพื้นที่ไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้ง/ปี
รวมถึงการรักษาผู้ป่วยในที่มีความซับซ้อนไม่น้อยกว่า 25,000 คน/ปี และผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 300,000 คน/ปี เราจะเป็นศูนย์วิจัย และสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพระดับแนวหน้าของโลก และเป็นฐานในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Medical Hub อีกด้วย
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะดำเนินการภารกิจนี้ และจะจัดตั้งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต โดยมุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคซับซ้อนเฉพาะทางที่มีขนาด 500 เตียง ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติงบประมาณก่อสร้าง วงเงิน 3,140 ล้านบาท เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งการก่อตั้งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต จะช่วยลดช่องว่างระบบสุขภาพในพื้นที่และการส่งต่อผู้ป่วย
ซึ่งจากนี้ไปภายในปี 2570 จะมีวิทยาลัยสุขภาพนานาชาติอันดามัน ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เพียงพอและตรงต่อความต้องการของพื้นที่แถบอันดามัน ปิดช่องว่างปัญหาการรักษาของพื้นที่อันดามันในอดีต
รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลศูนย์ทางการแพทย์เฉพาะทางขนาดใหญ่ เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในกลุ่มอันดามัน สามารถดูแลรักษาโรคซับซ้อนที่โรงพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรองรับได้ โดยมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยกับโรงพยาบาลต่าง ๆ และศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันที่ให้บริการครบวงจรการแพทย์เพื่อสุขภาพ ทั้งการตรวจ การรักษา การฟื้นฟู และการส่งเสริมสุขภาพ
โดยจะมีศูนย์ทันตกรรมดิจิทัลสงขลานครินทร์ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมทั่วไปและเฉพาะทางที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งโครงการทั้งสามส่วนนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ รวมทั้งเป็นการขยายศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญของโลกด้วย
3/4/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 3 เมษายน 2566 )