info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.144.42.205

ท็อป 3 อสังหาเชียงใหม่ “อรสิริน” บุกบ้าน-คอนโดชนบิ๊กแบรนด์

Residential News / ข่าวหมวดที่พักอาศัย

“อรสิริน โฮลดิ้ง” โชว์ทุนจดทะเบียนพันล้าน ติด 1 ในท็อป 3 เจ้าตลาดอสังหาฯเชียงใหม่ จ่อเข้าตลาดหุ้นพร้อมชนบิ๊กแบรนด์เมืองกรุง ยุคโควิด 2563-2565 ทำกำไรเบื้องต้น 38-42% กางแผน 2 ปีลอนช์โครงการใหม่ 5,165 ล้าน เจาะลูกค้าครบทุกเซ็กเมนต์ราคา 2-30 ล้าน

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อรสิริน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 1 ในท็อป 3 ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า อรสิรินกรุ๊ปดำเนินธุรกิจโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่งออก ธุรกิจโรงแรม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาอย่างยาวนาน 30-40 ปี วันนี้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยที่ปรึกษาทางการเงินเตรียมยื่นไฟลิ่งวันที่ 10 เมษายน 2566 นี้ (อ่านเพิ่มเติม “แลนด์ลอร์ดหมื่นไร่ บูรณุปกรณ์ ปั้นทุนเชียงใหม่แข่งอสังหาฯไทย” หน้า 6)

ทั้งนี้ อรสิริน โฮลดิ้ง มีทุนจดทะเบียน 1,093.5 ล้านบาท วางแผนกระจายหุ้นเพิ่มทุนสัดส่วน 27% จำนวน 406.5 ล้านบาท กำหนดราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท เท่ากับ 406.5 ล้านหุ้น มีผลทำให้การเพิ่มทุนหลัง IPO ทุนจดทะเบียนจะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านบาท

บุญเลิศ บูรณุปกรณ์

เงินที่ได้จากการเพิ่มทุน วัตถุประสงค์ไม่มีการนำไปชำระหนี้ แต่จะทำภารกิจ 2 ส่วนหลัก คือ 1.ซื้อแลนด์แบงก์เพิ่มเติม 2.ใช้ในการพัฒนาโครงการลดการพึ่งพาสถาบันการเงินในแต่ละสถานการณ์ เช่น แหล่งเงินลงทุนพัฒนาโครงการมีทางเลือกนอกจากขอสินเชื่อกับธนาคารแล้ว สามารถออกหุ้นกู้ได้ เป็นต้น

“ปัจจุบันต้นทุนการเงินจากการขอสินเชื่อเราถือว่าถูกที่สุดในเชียงใหม่ และอาจถูกที่สุดในภาคเหนือเลยก็ว่าได้ เฉลี่ยอ้างอิงดอกเบี้ย MLR -2.25% ความแข็งแกร่งทางการเงินของอรสิริน โฮลดิ้ง แต่ก่อนอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.25 ต่อ 1 ตอนนี้ทำคอนโดมิเนียมด้วยเพิ่มเป็น 0.4 ต่อ 1 เหตุผลที่ D/E ต่ำเพราะผมเป็นคนกลัวดอกเบี้ย ก็เลยไม่ได้ใช้เงินกู้มากนัก ใช้เงินตัวเองในการลงทุนเป็นหลัก”

สำหรับพอร์ตพัฒนาโครงการสะสม 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2549-2565 มีทั้งสิ้น 18 โครงการ มูลค่าสะสม 15,505 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นบ้านแนวราบ 11 โครงการ มูลค่ารวม 8,348 ล้านบาท กับคอนโดฯ 7 โครงการ มูลค่ารวม 7,157 ล้านบาท แสดงให้เห็นฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะถึงแม้จะลงทุนทำคอนโดฯ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง 1-2 ปีกว่าจะมีรายได้เข้ามา แต่อัตราหนี้สินต่อทุนก็ยังกดให้ต่ำกว่า 1 อยู่ที่ 0.2-0.4 เท่านั้น

บาลานซ์พอร์ตบ้าน-คอนโดฯ

นายปรีดิกร บูรณุปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อรสิริน โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า แผนลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ปี 2566 มีทั้งการลงทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าตลาดพรีเมี่ยมและลักเซอรี่ รวม 6 โครงการ มูลค่ารวม 3,225 ล้านบาท ปัจจุบันมีแบ็กล็อก (ยอดขายรอโอน) 114 ยูนิต มูลค่า 605 ล้านบาท

สำหรับแผนเปิดตัวใหม่ 6 โครงการ แบ่งเป็นคอนโดฯ 3 โครงการ ได้แก่ แบรนด์อะไรส์ เจริญเมือง มูลค่าโครงการ 1,050 บาท, เดอะเน็กซ์ เจ็ดยอด 119 ล้านบาท รอเปิดตัวไตรมาส 3/66 กับเดอะเน็กซ์ รวมโชค-ซิตี้ฮอลล์ 1 มูลค่าโครงการ 116 ล้านบาท วางแผนเปิดตัวไตรมาส 4/66

บ้านแนวราบอีก 3 โครงการ ได้แก่ ฮาบิแทท ซูเปอร์ไฮเวย์ มูลค่าโครงการ 1,266.05 ล้านบาท เปิดตัวไตรมาส 3/66, อรสิรินวิลล์ 375.49 ล้านบาท และอรสิรินวิลล์ ท่ารั้ว 299.49 ล้านบาท รอเปิดตัวไตรมาส 4/66

“บิสซิเนสโมเดลโครงการบ้านแนวราบจะเป็นบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย ส่วนคอนโดฯ เนื่องจากใช้เวลาก่อสร้าง 1-2 ปี จึงเปิดพรีเซลปกติ จุดเน้นอยู่ที่กำลังซื้อลูกค้าต่างชาติที่มีโควตาโอนกรรมสิทธิ์ได้ 49% มีดีมานด์เข้ามาต่อเนื่อง ดังนั้น การเปิดพอร์ตคอนโดฯใหม่เพื่อเติมแบ็กล็อกสินค้าแนวสูง มั่นใจว่าตอบโจทย์กำลังซื้อทั้งลูกค้าคนไทยและต่างชาติ”

ยุคโควิดกำไรขั้นต้น 38-42%

นายอรรคเดช อุดมศิริธำรง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย อรสิริน โฮลดิ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า บิ๊กดาต้าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตภาคเหนือ มีท็อป 5 จังหวัด เรียงจากเชียงใหม่ พิษณุโลก เชียงราย นครสวรรค์ ลำพูน ในจำนวนนี้ ตลาดโดดเด่นที่สุดอยู่ในเชียงใหม่ เพราะมีสัดส่วนลงทุนบ้านแนวราบ 60% และลงทุนคอนโดฯ 90% ของตลาดรวมในภาคเหนือ ในด้านซัพพลายเหลือขายก็มีสัดส่วน 70% ที่กระจุกตัวอยู่ในเชียงใหม่

“…ผมเชื่อว่าตลาดเชียงใหม่ยังเป็นพระเอกของการพัฒนาอสังหาฯในภาคเหนือ”

ในด้านสินค้าเปรียบเทียบยุคโควิดกับปัจจุบัน พบว่า บ้านเดี่ยวมียอดขายสม่ำเสมอที่สุด, บ้านแฝด-ทาวน์เฮาส์ขายดีขึ้น ส่วนคอนโดฯมีความหวือหวาตามภาวะเศรษฐกิจรุ่งเรืองหรือถดถอย กรณียุคโควิดที่ผ่านมา (2563-2564) เห็นได้ชัดเจนว่าตลาดคอนโดฯตกต่ำลงมาก เคยมีรายได้ 3,000 ล้านบาท ลดเหลือ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ปี 2566 ยังไม่ใช่จุดพีกของตลาดคอนโดฯ คาดว่าจะเห็นภาพบูมอีกครั้งในปี 2567-2568 เป็นต้นไป

จุดโฟกัสอยู่ที่ระดับกำลังซื้อ พบว่า เซ็กเมนต์ 3-5 ล้านบาท ในยุคก่อนโควิดมีสัดส่วน 33% ล่าสุดยุคหลังโควิดในปี 2565 พบว่าเพิ่มขนาดเป็น 44% จึงเป็นฐานตลาดที่กว้างและมีการแข่งขันสูง โดยอรสิรินทำยอดขายได้ดีมากในเซ็กเมนต์นี้ กลยุทธ์การแข่งขันในระยะยาวขยายไปยังเซ็กเมนต์ตลาดบน-ลักเซอรี่ ซึ่งจะเป็น key drivers ของบริษัท

แผนเติบโตยังรวมถึงสัดส่วนรายได้ ปี 2566 วางเป้าขาย 1,735 ล้านบาท ยอดโอน 1,471 ล้านบาท ลดลงจากปี 2565 เล็กน้อย ประเมินว่าในปี 2567-2568 อรสิริน โฮลดิ้งจะกลับมาเติบโต 20-25% ต่อเนื่อง โดยปี 2566 เป้ายอดขาย 1,735 ล้านบาท ปี 2567 เพิ่มเป้าเป็น 2,181 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 25% ด้านยอดโอนปี 2566 ตั้งเป้า 1,471 ล้านบาท ปี 2567 เพิ่มเป้า 1,759 ล้านบาท เติบโต 20%

“อรสิริน โฮลดิ้งพยายามจับเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ ในตลาดที่เราไม่เคยไป และเชื่อว่าจะทำได้ เพราะในอดีตเราทำได้เสมอ ในยุคโควิดที่เศรษฐกิจชะลอตัว เรายังคงอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 38-42% และกำไรสุทธิได้ค่อนข้างดีอยู่ที่ 15-18%” นายอรรคเดชกล่าว

5/4/2566  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 5 เมษายน 2566 )

ช่องยูทูปของ iCONS