สถาปัตยกรรมใหม่ ออฟฟิศบิลดิ้งใหม่ คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ พระราม 3
เจ้าของโครงการตั้งใจพัฒนาให้เป็นสถาปัตยกรรมเคียงคู่กับสะพานภูมิพล และเป็นความภาคภูมิใจของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านพระราม 3 ซึ่งเป็นทำเลฐานรากธุรกิจเครือสหพัฒน์กว่า 80 ปีอีกด้วย
ธนินธร โชควัฒนา ผู้อำนวยการโครงการคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่มีต่อ KingBridge Tower ว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ สร้างชุมชนที่มีความสุข ย่านพระราม 3
อย่าลืมว่า พระราม 3 เป็นย่านที่เครือสหพัฒน์ก่อกำเนิดและเติบโตมากว่า 80 ปี ในอนาคตเครือสหพัฒน์ก็อยากเติบโตไปพร้อมกันกับทุกคนในทำเล จึงตั้งใจพัฒนา คิงบริดจ์ ทาวเวอร์ ให้เป็นสถาปัตยกรรมเคียงคู่กับสะพานภูมิพล และเป็นความภาคภูมิใจของคนพื้นที่
KingBridge Tower เป็นอาคารสูงแห่งแรกของเครือสหพัฒน์ ความตั้งใจสร้างให้เป็นบ้านหลังแรก เพื่อให้บริษัทในเครือได้มาอยู่ร่วมกัน เป็นพื้นที่ให้พันธมิตรได้มาพบปะ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับทุก ๆ องค์กรในเครือ
นำไปสู่แนวคิด The Spirit of Synergy เชื่อมทุกความสำเร็จอย่างยั่งยืน อีกทั้งเผื่อแผ่ไปถึงชุมชนและสังคมอีกด้วย
ในทางการออกแบบ เรามีโจทย์จะต้องไม่เบียดเบียน กล่าวคืออยู่ร่วมกับสะพานและบริบทโดยรอบอย่างกลมกลืน สอดประสานไปกับสะพานภูมิพล สอดคล้องไปกับบริบทโดยรอบของผู้คนในชุมชน
ผนึกสถาปนิก-วิศวกรรมระดับโลก
โปรเจ็กต์นี้ได้เลือกพันธมิตรชื่อดัง สถาปนิก A49 และได้ Mott Macdonald บริษัทวิศวกรที่ปรึกษาระดับโลก ผู้ออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างให้กับสะพานภูมิพล และผลงานระดับโลกหลายโครงการมาผนึกพลังร่วมกัน
รวมถึงพันธมิตรมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ บริษัท Thai Obayashi ผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก (Main Contractor), บริษัท Stonehenge Inter ผู้ควบคุมงาน, เครือ SCG, กลุ่มบริษัท YSH ผู้ดูแลงาน Facade เป็นต้น
เคียงคู่สะพานภูมิพล
ด้าน เมธินทร์ จันทรอุไร กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า มุมของนักออกแบบตั้งแต่การตีความคำว่า สถาปัตยกรรมเคียงคู่สะพานภูมิพล และการแก้โจทย์ ไม่เบียดเบียน แต่ กลมกลืน ไปกับบริบทและความงดงามของสะพานภูมิพล
คำว่า Iconic building คือ ต้องการสร้างอาคารที่มีเสน่ห์ อาจเป็นอาคารที่ไม่ได้หันมองทันทีก็ได้ แต่ถ้าได้หันมามองแล้วจะสะกดคุณได้ทันที โดดเด่นอยู่คู่กับสะพานภูมิพล ซึ่งเรียกว่าเป็น Harmonious Approach คือไม่ได้สร้างมาแข่งกัน แต่มาเสริมกัน
ส่วนคำว่า ไม่เบียดเบียน ต้องเริ่มต้นจากการที่อาคารต้องไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องความยั่งยืน จึงนำแนวคิด Passive Design สถาปัตยกรรมอาคารสูงที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
โดยออกแบบขึ้นจากสภาพแวดล้อมจริงในพื้นที่ เริ่มจากแรงต้านลมที่ปะทะตัวอาคาร ในระดับความสูงที่แตกต่างกัน การเปิดพื้นที่เพื่อต้อนรับธรรมชาติในทุกประสาทสัมผัส
ตัวอาคารมีลักษณะเหมือนเอียงสอบขึ้น แล้วโค้งตรงมุมปลายอาคารตามอากาศพลศาสตร์ เพื่อลดแรงต้านของลม ร่วมกับอาคารที่เปลี่ยนระนาบ 2 ช่วง ซึ่งออกแบบเป็นช่องลมลอดเพื่อลดแรงต้านอากาศ
ภูมิอากาศเมืองร้อนก็เป็นโจทย์ที่ส่งผลต่อโครงสร้างสถาปัตยกรรมของคิงบริดจ์ ทาวเวอร์ จึงติดตั้งฟินตามแนวนอนรอบอาคาร ที่ยื่นมากน้อยต่างกันไปตามระดับแสงแดดที่ส่องถึง เพื่อให้เป็นร่มเงาให้ตึก
ลดความร้อนที่เข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ใช้แอร์ลดลงและปล่อยความร้อนออกจากตัวอาคารน้อยลง
การออกแบบที่ตอบโจทย์แนวคิด Synergy สะท้อนผ่านพื้นที่ส่วนกลาง หรือ Re-tell (Retail) ดีไซน์ให้เป็น open space เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และทำกิจกรรม
มีการยกแคนทีนขึ้นมาบนชั้น 3 ซึ่งอยู่ระดับเดียวกับสะพานภูมิพล พร้อมสาธารณูปโภคส่วนกลางครบครัน ให้ผู้ใช้งานได้เห็นวิวโค้งน้ำ วิวเมือง กระโดงสะพาน
รายล้อมไปด้วยสวนธรรมชาติ ที่ปรับเปลี่ยนเป็นมุมรับประทานอาหารกลางวัน พื้นที่ระดมสมอง ประชุมกึ่งทางการ หรือจะวิ่งจ็อกกิ้งตอนเย็น
แนวคิด Synergy กินพื้นที่ไปถึงชั้นที่มี water scape ด้านบนที่เป็นพื้นที่กิจกรรมที่เป็นเหมือนกับสะพานที่ยื่นออกมา โดยมีฉากหลังเป็นวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
ในด้านคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ภายในอาคารติดตั้งระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศ MERV 14 กรองอากาศ ฝุ่นละออง และมลพิษ PM 2.5 ได้มากกว่า 90%
การันตีด้วยมาตรฐานสากลต่าง ๆ อาทิ LEED Gold, Fitwel ระดับสูงสุด 3 ดาว ประเภท multitenant base building อาคารแรกในไทยและในเอเชีย เพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคารระดับสากล
และเป็นโครงการต้นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ตามหลัก CECI หรือกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง
14/5/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 14 พฤษภาคม 2566 )