การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารที่กลับมาเติบโตด้วยตัวเลขดับเบิลดิจิต โดยเฉพาะช่องทางการรับประทานที่ร้าน หรือ dine in จากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการเดินหน้าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ไมเนอร์ ฟู้ด ในเครือ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีร้านอาหารชื่อดังในพอร์ตโฟลิโอมากกว่า 10 แบรนด์ และมีรายได้รวมมากกว่า 27,000 ล้านบาท (ณ สิ้นปี 2565) หรือเพิ่มขึ้น 29% และสร้างรายได้ให้บริษัทเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 21% รองจากธุรกิจโรงแรม ที่มีรายได้ 91,228 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 73% ที่ได้ประกาศเดินหน้าขยายธุรกิจร้านอาหารในหลายมิติ จากเดิม ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 2,581 สาขา ใน 23 ประเทศทั่วโลก
วางโรดแมปบุกหนักไทย-เทศ
ชัยพัฒน์ ไพฑรูย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า สำหรับธุรกิจร้านอาหาร บริษัทยังจะขยายอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำแบรนด์ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เข้ามาเปิดในเมืองไทยมากขึ้น เช่นกรณีของร้าน Poulet (พูเลท์) แบรนด์ร้านอาหารสไตล์ฝรั่งเศสชื่อดังจากสิงคโปร์, Cafe Wolseley (คาเฟ่ วูสลีย์) จากอังกฤษ, ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า ร้านอาหารจีนสไตล์ฉงชิ่ง-เสฉวนชื่อดังจากประเทศจีน รวมถึงร้าน Benihana (เบนิฮานา) ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์เทปันยากิ ที่ตอนนี้มีประมาณ 19 สาขาใน 11 ประเทศ รวมถึงไทย ก็จะนำร้านเบนิฮานาขยายเข้าไปในสิงคโปร์ด้วย
ขณะเดียวกันก็จะมีการขยายฐานธุรกิจผ่านการทำ M&A (การควบรวมกิจการ) โดยปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ซื้อกิจการแฟรนไชส์ของแบรนด์ Sizzler ทั่วโลก ไม่รวมอเมริกา กัวเตมาลา และเปอร์โตริโก ซึ่งจะทำให้จากนี้ไปสามารถที่จะขยายซิซซ์เล่อร์ไปนอกประเทศไทย และหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้ซื้อหุ้นบอนชอนเพิ่มอีก 21% จากเดิมที่อยู่ที่ 79% ทำให้ตอนนี้ไมเนอร์ถือหุ้นบอนชอน 100% แล้ว (ไตรมาส 2/2566)
เป็นไปในทิศทางเดียวกับคำกล่าวของ วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ระบุว่า ที่ผ่านมา ไมเนอร์ ฟู้ด ยังได้ลงทุนในธุรกิจเครื่องดื่ม GAGA (Attitude In A Cup) ในสัดส่วน 50.1% ซึ่งเป็นการเข้าซื้อกิจการครั้งแรกของไมเนอร์ หลังจากสถานการณ์โควิด เนื่องจากการเล็งเห็นโอกาสที่จะขยายธุรกิจและผลักดันการเติบโตของกาก้า ทั้งในประเทศ (ปัจจุบันมี 31 สาขา) และต่างประเทศ รวมทั้งยังได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในเครือร้านอาหารระดับบนที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักร จาก 74% เป็น 100% ของเดอะ วูสลีย์ กรุ๊ป
กลุ่มแบรนด์ที่แข็งแกร่งและสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงดังกล่าว จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไมเนอร์ อินเตอร์ฯ ได้ในระยะยาว และช่วยให้บริษัทสามารถขยายแบรนด์ข้ามภูมิภาคได้ต่อไป
สิงคโปร์ ฮับส่งออกแบรนด์ดัง
รายงานข่าวจากบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ด ในประเทศสิงคโปร์ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง 17 แบรนด์ ซึ่งบริษัทสร้างขึ้นเองและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในสิงคโปร์ และยังอยู่ระหว่างการขยายสาขาไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยผ่านรูปแบบของแฟรนไชส์
ปัจจุบันร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ด ในสิงคโปร์ อาทิ XW Western Grill ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ตะวันตก, ThaiExpress ร้านอาหารไทย, Thai Noodle Bar ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อ, Sanook Kitchen ร้านอาหารไทยต้นตำรับ, ร้านโกอ่าง ข้าวมันไก่ประตูน้ำ, Pizzakaya พิซซ่าแป้งทำมือ, Mamma Mia Trattoria E Caffe ร้านอาหารสไตล์อิตาเลียน, La Bird ร้านอาหารสไตล์สเปน และคิเซกิ ร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น เป็นต้น
ขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ย้ำว่า นอกจากเปิดสาขาเพิ่ม การเปิดแบรนด์ใหม่เพิ่ม แต่ละแบรนด์ก็จะมีโปรดักต์ใหม่ ๆ ออกมาเป็นระยะ ๆ พร้อมกับจะมีการทำมาร์เก็ตติ้งแคมเปญใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างกรณีของเบอร์เกอร์คิง ที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ทำแคมเปญ Burger King Spider-Verse Store ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว แถมเบอร์เกอร์คิงยังมีการลอนช์โซเชียลมีเดียแคมเปญหลาย ๆ อย่าง เพื่อสร้างทอล์กออฟเดอะทาวน์ เช่น The Real Cheese Burger ที่ประสบความสำเร็จในด้านมาร์เก็ตติ้งเป็นอย่างดี
เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว บริษัทยังเพิ่มความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่มีอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ ด้วยการหาโปรดักต์ใหม่ ๆ เราหาแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ มาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงการทำ collaboration พาร์ตเนอร์ชิป เช่น เบอร์เกอร์คิง-สไปเดอร์แมน รวมทั้งการขยายสาขาในฟอร์แมตที่หลายรูปแบบ เพื่อเป็นการเพิ่ม productivity ต่อร้านต่อสาขา และเพิ่มรายได้ต่อร้านต่อสาขาให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน แต่ละแบรนด์ก็จะมีการขับเคลื่อน customer loyalty program ของแบรนด์เอง เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น
เป้า 3,400 สาขา ภายในปี 2568
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแบรนด์ร้านอาหารของไมเนอร์ ฟู้ด ที่เพิ่งนำเข้ามาเปิดในประเทศไทยล่าสุด คือริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช แอนด์ หม่าล่า ที่โด่งดังในประเทศจีน เปิดเป็นสาขาแรกในประเทศไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ (6 กรกฎาคม) ตามด้วยสาขาที่ 2 ที่เซ็นทรัล พระราม 9 (29 กรกฎาคม) ตั้งเป้าใน 3 ปี จะมีกว่า 10 สาขา หรือขยายสาขาปีละ 1-2 สาขา ใช้เงินลงทุนต่อสาขาอยู่ที่ 10-12 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีมากกว่า 140 ร้าน ทั้งในประเทศจีนและสิงคโปร์ 5 สาขา
ส่วนพูเลท์ แบรนด์ร้านอาหารสไตล์ฝรั่งเศสชื่อดังจากสิงคโปร์ เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ (29 กันยายน 2565) และสาขา 2 ที่เมกาบางนา (30 มิถุนายน 2566) เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูง ซึ่งดำเนินการเปิดร้านพูเลท์แล้ว 11 สาขาใน 2 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์และไทย
สำหรับเบนิฮานา แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นสไตล์เทปันยากิจากสหราชอาณาจักร ปัจจุบันในไทยมีอยู่ 4 สาขา คือ RIVERSIDE PLAZA, AVANI ATRIUM, AVANI PATTAYA และ JW MARRIOTT PHUKET
และอีก 15 สาขาใน 11 ประเทศ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา อินโดนีเซีย เลบานอน เม็กซิโก อังกฤษ และโรมาเนีย
หรือในส่วนของ The Pizza Company ปัจจุบันไมเนอร์ ฟู้ด ก็ได้ให้แฟรนไชส์ธุรกิจพิซซ่าในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และซาอุดีอาระเบีย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกลยุทธ์การเพิ่มแบรนด์และการขยายสาขา ทั้งนำแบรนด์ดังจากต่างประเทศเข้ามาเปิดในไทย และนำแบรนด์ดังจากไทยหรือสิงคโปร์ ไปเปิดในต่างประเทศดังกล่าว ไมเนอร์ ฟู้ด ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 จะมีสาขาของร้านอาหารในเครือมากกว่า 3,400 สาขา จาก ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,581 สาขา เป็นสาขาในประเทศไทยสัดส่วนประมาณ 23% และต่างประเทศ 77% หรือเพิ่มอีกมากกว่า 819 สาขา ภายใน 2-3 ปีจากนี้ไป
7/9/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 7 กันยายน 2566 )