บ้านปู เทงบฯลงทุน 3 ปี 2,000 ล้านเหรียญ เพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาด จาก 30% เป็น 50% ในปี 2568 มุ่งสู่เป้าหมาย net zero ตั้งหน่วย corporate venture capital (CVC) ลุยธุรกิจ new S-curve
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2566-2568 บ้านปูใช้งบฯการลงทุนรวม 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เพื่อเปลี่ยนพอร์ตโฟลิโอไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) เน้นการลงทุนไปที่ธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีด้านพลังงานเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของ EBITDA ที่มาจากธุรกิจพลังงานสะอาด จาก 30% ให้มากกว่า 50% ของทั้งหมด
นับจากนี้จนถึงเป้าหมายในปี 2568 เราจะเห็นการเติบโตของพอร์ตโฟลิโอพลังงานที่สะอาดขึ้นและเทคโนโลยีพลังงานภายใต้กลยุทธ์ greener & smarter ผ่าน 4 เรือธงธุรกิจ และ 1 หน่วยงานคือ corporate venture capital (CVC) เพื่อดูแลการลงทุนในธุรกิจ new S-curve และมุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดเพื่อต่อยอดธุรกิจ
นายจามร จ่าเมือง ผู้อำนวยการสายวิศวกรรมเหมืองกล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีการลงทุนในธุรกิจถ่านหินเพิ่มเติม แต่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแหล่งเหมืองเดิม อย่างการติดตั้ง solar farm ในเหมืองที่อินโดนีเซียและออสเตรเลีย พร้อมกับกำลังศึกษาความเป็นไปได้เพื่อต่อยอดสู่ธุรกิจ strategic minerals ในลาว ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เน้นแร่แห่งอนาคต อาทิ ลิเทียม นิกเกิล และทองแดง
ปัจจุบันนี้บ้านปูมีโครงการ CCUS ทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการ Barnett Zero โครงการ Cotton Cove และโครงการ High West รวมทั้งเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตโดยบริษัทลูกในสหรัฐ โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี 2568
เป้าหมายสำหรับ scope 3 คือปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) สำหรับการปล่อยมลพิษตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ภายในปี 2573 ซึ่งคาดว่าต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 15-16 ล้านตันต่อปี แม้เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างใหญ่ แต่เราก็เชื่อว่าเราทำได้
นายกิรณ ลิมปพยอม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจพลังงาน บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจในโรงไฟฟ้าพลังงานที่สะอาดมากขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบ้านปูมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมด 4,974 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 4,008 MW และจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 966 MW ใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และล่าสุดกลุ่มบ้านปูได้มีการลงทุนพลังงานหมุนเวียนครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ผ่านบริษัท BKV Corporation (BKV) โดยภายในปี 2568 ตั้งเป้าว่าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมให้ได้ 6,100 เมกะวัตต์
ด้านนายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า เรามองตัวเองเป็น net-zero provider ซึ่งจะมีโซลูชั่นด้าน net zero ได้แก่ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและทุ่นลอยน้ำ ทั้งในไทย จีน เวียดนาม
ต่อมาคือธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เรามีการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ของตัวเองผ่าน durapower
ส่วนธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าตั้งเป้า 2,000 จิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และในอนาคตที่สหรัฐ
สำหรับธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน อย่างการทำระบบบริหารจัดการพลังงานอย่างระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (district cooling system) ที่ล่าสุดเราได้รับโปรเจ็กต์จากศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โซนซี ถือเป็นโปรเจ็กต์แรกร่วมกับพันธมิตรอย่าง บีเอ็นเอสพี สมาร์ท เทค จากสิงคโปร์ ในการทดลอง district cooling ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และสุดท้ายคือ ธุรกิจอีโมบิลิตี้ (e-Mobility) ที่ในอนาคตตั้งเป้าขยายให้บริการครบวงจรในรูปแบบ mobility as a service (MaaS) ในเอเชีย-แปซิฟิก และประเทศยุทธศาสตร์ของบ้านปูทั้งหมด
28/9/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 28 กันยายน 2566 )