รถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดทดลองให้บริการวันนี้ (21 พ.ย. 2566) วันแรก เช็กเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทั้ง 30 สถานี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีอะไร และสถานที่ใกล้เคียงแต่ละสถานีที่น่าสนใจ มีอะไรบ้าง
รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายใหม่ที่หลาย ๆ คนต่างรอคอย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในย่านแคราย แจ้งวัฒนะ มีนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง และได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากมีการรายงานว่า รถไฟฟ้าสายดังกล่าว เตรียมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
ประชาชาติธุรกิจ รวบรวมเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทั้ง 30 สถานี ว่าเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายไหนได้ และสถานที่ใกล้เคียงมีอะไรบ้าง
รู้จัก รถไฟฟ้าสายสีชมพู
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกร่มเกล้าบริเวณซอยรามคำแหง 192 รวมมีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานี และศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง
ขณะที่ระบบรถไฟฟ้านั้น จะเป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับ ตลอดโครงการ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่เปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้
รถไฟฟ้าสายสีชมพูใกล้สถานที่สำคัญอะไรบ้าง
สำหรับสถานที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทั้ง 30 สถานี มีดังนี้
PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี : วัดบัวขวัญ ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลแขวงนนทบุรี ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี ศาลแรงงานกลาง (นนทบุรี) ศาลากลางเก่า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจังหวัดนนทบุรี เกาะเกร็ด กระทรวงสาธารณสุข โรงแรมไมด้า ห้างเอสพานาด
PK02 สถานีแคราย : สถาบันทรวงอก
PK03 สถานีสนามบินน้ำ : ตั้งอยู่บนถนนติวานนท์ใกล้กับสามแยกสนามบินน้ำ
PK04 สถานีสามัคคี
PK05 สถานีกรมชลประทาน
PK06 สถานีแยกปากเกร็ด
PK07 สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด : บิ๊กซี แจ้งวัฒนะ 2, โฮมโปร แจ้งวัฒนะ
PK08 สถานีปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ 28 : อาคารซอฟต์แวร์พาร์ค, กองดุริยางค์ตำรวจ, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
PK09 สถานีศรีรัช : หมู่บ้านเมืองทองธานี
PK10 สถานีเมืองทองธานี : สำนักงานซ่อมบำรุงกรมทางหลวง-ห้างแม็คโครซูเปอร์สโตร์ สาขาแจ้งวัฒนะ
PK11 สถานีแจ้งวัฒนะ 14 : บิ๊กซี แจ้งวัฒนะ 1
PK12 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ : ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถ.แจ้งวัฒนะ, กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงาน กสทช. ภาค 1, ศาลปกครองสูงสุด
PK13 สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ : บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพ), อาคาร ณ นคร
PK14 สถานีหลักสี่ : ศูนย์การค้าไอที สแควร์, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, วัดหลักสี่, โรงเรียนวัดหลักสี่
PK15 สถานีราชภัฏพระนคร : มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ : วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร, สถานีตำรวจนครบาลบางเขน, สวนรักษ์ธรรมชาติ, ที่ทำการไปรษณีย์รามอินทรา, มหาวิทยาลัยเกริก
PK17 สถานีรามอินทรา 3 : โครงการลุมพินี รามอินทรา-หลักสี่, ศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก และสนามมวยลุมพินี, เซ็นทรัล รามอินทรา
PK18 สถานีลาดปลาเค้า : บิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า รามอินทรา
PK19 สถานีรามอินทรา กม.4
PK20 สถานีมัยลาภ
PK21 สถานีวัชรพล : ตลาดนัดเลียบด่วนรามอินทรา
PK22 สถานีรามอินทรา กม.6
PK23 สถานีคู้บอน
PK24 สถานีรามอินทรา กม.9 : โรงพยาบาลสินแพทย์
PK25 สถานีวงแหวนรามอินทรา : ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และ The Promenade, สถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 8, สนามกอล์ฟปัญญาอินทรา
PK26 สถานีนพรัตน์ : โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี, อมอรินี่ รามอินทรา
PK27 สถานีบางชัน
PK28 สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ : โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
PK29 สถานีตลาดมีนบุรี : ตลาดมีนบุรี, ตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี
PK30 สถานีมีนบุรี : ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีชมพู, จุดจอดแล้วจร (Park and ride), บิ๊กซี ร่มเกล้า, ไทวัสดุ สุขาภิบาล 3, โลตัส สุขาภิบาล 3, เคหะรามคำแหง
รถไฟฟ้าสายสีชมพูเชื่อมสายสีอะไรบ้าง
มีจุดเชื่อมต่อที่สามารถเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสายอื่นได้ 4 จุด มีรายละเอียดดังนี้
PK01 สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
PK14 สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
PK16 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
PK30 สถานีมีนบุรี สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี
เช็กเวลาเปิด-ปิด ช่วงทดลองให้บริการ
เฟซบุ๊กแฟนเพจ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เปิดข้อมูลการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูในช่วงทดลองให้บริการ ทั้ง 30 สถานี ตั้งแต่ 21 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2566 โดยมีเวลาเปิด-ปิดให้บริการดังนี้อ วันที่ 21 พ.ย. 2566 : เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 15.00-20.00 น. (ให้บริการทุก 10 นาที) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2566-3 ธ.ค. 2566 : เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น. (ให้บริการทุก 10 นาที)
สำหรับวันที่ 4-17 ธันวาคม 2566 อาจมีการขยายเวลาการให้บริการ เช่นเดียวกับช่วงทดลองให้บริการ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยต้องรอการประชาสัมพันธ์จากผู้ให้บริการอีกครั้ง
ทั้งนี้ มีการระบุว่า ทางเข้า-ออกของบางสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ยังมีการปรับปรุงและยังไม่เปิดใช้ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566) ดังนี้
สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) : ทางเชื่อมสายสีม่วง
สถานีสามัคคี (PK04) : ลิฟต์ ทางออก 4 และบันไดเลื่อน ทางออก 3
สถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11) : ทางออก 3 และ 4
สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) : ทางออก 3 และ 4 และทางเชื่อมเข้าศูนย์ราชการ (ใช้ทางออก 2 เพื่อข้ามถนนไปยังศูนย์ราชการ)
สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) : ทางออก 3 และ 4
สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK 16) : ทางเชื่อมสายสีเขียว
สถานีวัชรพล (PK21) : ทางออก 1
สถานีนพรัตน์ (PK26) : ทางออก 1
โดยหากมีการปรับเปลี่ยนการให้บริการ จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
เชื่อม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นอกจากสถานีหลักของรถไฟฟ้าสายสีชมพูทั้ง 30 สถานีแล้ว ยังมีสถานีส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี โดยเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูที่สถานีเมืองทองธานี (PK10) โดยสถานีรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ประกอบไปด้วย 2 สถานี ระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร คือ
สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (MT01)
สถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02)
โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อตุลาคม 2566 โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีความก้าวหน้าด้านงานโยธา 41.76% งานระบบรถไฟฟ้า 23.34% ความก้าวหน้ารวม 35.56% และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
21/11/2566 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ( 21 พฤษจิกายน 2566 )