info@icons.co.th 02 810 8892-6 44.201.64.238

กทม. ฟื้นรถไฟฟ้า “LRT บางนา – สุวรรณภูมิ” เร่งสรุปผลศึกษา ม.ค. 65

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

กทม.ปัดฝุ่น “LRT บางนา – สุวรรณภูมิ” ศึกษาใหม่ทั้งหมด คาดสรุปผล ม.ค. 65 จ่อนำร่องระยะที่ 1 ทางยาว 14 กม. ก่อน

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สจส. จัดประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการ งานจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit: LRT) สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 19.7 กม.

ฟื้นโครงการ-เล็งทำ PPP

ปัจจุบันถนนบางนา-ตราด เป็นหนึ่งในทำเลศักยภาพที่มีถนนสายหลักใช้เดินทางสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและภาคตะวันออก นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมที่ค่อนข้างหนาแน่น แม้ว่าจะมีรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เชื่อมต่อการเดินทางมายังย่านบางนาและจ.สมุทรปราการ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เชื่อมสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

แต่ในพื้นที่ถนนสายบางนา-ตราด ยังไม่มีรถไฟฟ้าให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน ขณะเดียวกัน โครงการนี้เคยมีผลการศึกษาที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2556 ด้วยสถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนไป จึงควรจะนำโครงการนี้มาศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาทบทวนผลการศึกษาและดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงการรถไฟรางคู่ขนาดเบา สายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน

โดยมีขอบเขตการดำเนินโครงการ ได้แก่ 1.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 2.วิเคราะห์ความจำเป็นของโครงการ 3.ดำเนินการจัดทำรายงานหลักของโครงการร่วมลงทุนเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดให้พิจารณา 4.ดำเนินการจัดประชาสัมพันธ์และการทดสอบความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน (Market Sounding)

จุดสตาร์ต “สี่แยกบางนา”

สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ขนาดเบา สายบางนา-สุวรรณภูมิ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสี่แยกบางนา

จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันออก ตามทางคู่ขนานถนนบางนา-ตราด ผ่านทางแยกต่างระดับศรีเอี่ยม เข้าสู่เขต จ.สมุทรปราการ

ผ่านทางแยกต่างระดับกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันออก ทางแยกต่างระดับกิ่งแก้ว และบริเวณด้านหน้าโครงการธนาซิตี้ อันเป็นที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ

แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าตามแนวถนนสุวรรณภูมิ 3 และมาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิด้านใต้ รวมระยะทาง 19.7 กม. มี 14 สถานี

โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี ระยะทาง 14.6 กม. และระยะที่ 2 จากธนาซิตี้-สุวรรณภูมิด้านใต้ จำนวน 2 สถานี ระยะทาง 5.1 กม.และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณสถานีธนาซิตี้

เฟสแรก 14 กม.-สรุปผลศึกษา ม.ค. 65

เบื้องต้นกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดในการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) เฉพาะระยะที่ 1 ก่อน ส่วนรูปแบบการพัฒนาโครงการ เป็นรถไฟฟ้ารางเบา มีขนาดราง 1.435 เมตร มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ มีความเร็ว 80 กม./ชม.ใช้ระยะเวลาเดินทางไป–กลับ 56 นาที คาดว่าสามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 15,000 – 30,000 คน/ชั่วโมง

ทั้งนี้ ภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) และการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding Interview) ในช่วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม 2564

และจะจัดสัมมนาสรุปผลโครงการ ในช่วงในเดือนมกราคม 2565 เพื่อนำเสนอรายละเอียดผลการศึกษาข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง

6/9/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (6 กันยายน 2564)

Youtube Channel