info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.229.124.236

“TPIPP” กางแผนสร้างโรงไฟฟ้าขยะ 8.3 พันล้าน ลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

Power Plant News / ข่าวหมวดโรงไฟฟ้า

“TPIPP” เปิดแผนสร้างโรงไฟฟ้า-โรงแปรรูปขยะ 8.3 พันล้านบาท คาดแล้วเสร็จปี 68 เล็งตั้งเป้าปี 69 ลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ แนะภาครัฐรุกตลาดคาร์บอนในอนาคต

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัททีพีไอโพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวในงานสัมมนา ZERO CARBON หัวข้อเสวนา “ZERO CARBON” วิกฤติ-โอกาสไทย ว่า ปัจจุบันบริษัทมี 2 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจโรงไฟฟ้าและธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งหมด 8 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ในปี 2564 จากผลดำเนินงานของบริษัทพบว่า โรงไฟฟ้าแห่งที่ 1 และโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ไม่มีการปล่อบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 7 ไม่ได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทแม่ ซึ่งเป็นโรงงานปูนอยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงไฟฟ้าค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทไม่ได้มีการผลิตไฟฟ้า ขณะที่โรงไฟฟ้าแห่งที่ 8 มีการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่ ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.5 ล้านตัน

ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3-โรงไฟฟ้าแห่งที่ 6 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะที่ใช้พลังงานทดแทนถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานฟอสซิส เพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ทั้ง 4 โรงไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 7.5 ล้านตัน หากมีการปล่อยทิ้งขยะไปเฉยๆจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน น่ากลัวกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ซึ่งการใช้ขยะจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้

ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทฯมีแผนรับซื้อขยะจำนวน 8,600 ตันต่อวัน คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6.6 ล้านตัน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาบริษัทชนะการประมูลโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดสงขลา จำนวน 8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งอีกหลายโครงการที่บริษัทจะเข้าร่วมการประมูลในอนาคตด้วย คาดว่าปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าขยะรวม 582 เมกะวัตต์

นายภัคพล กล่าวต่อวว่า ปัจจุบันบริษัทมีแผนจะพัฒนาโรงไฟฟ้า 2 แห่ง และโรงแปรรูปขยะ 1 แห่ง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งที่ 7 เป็นโรงไฟฟ้าขยะ จากเดิมที่ไม่ใช่โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด วงเงินลงทุน 800 ล้านบาท 2.การพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ 8 เป็นโรงไฟฟ้าขยะ วงเงินลงทุน 3,000 ล้านบาท และ 3.การก่อสร้างโรงแปรรูปขยะ 4,500 ตันต่อวัน วงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จภายในปี 2568

หากในปี 2567 โรงไฟฟ้าแห่งที่ 7 ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 474 เมกะวัตต์ และทำให้การใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไม่สะอาดลดลงอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ จากเดิมที่มีการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงไม่สะอาด 220 เมกะวัตต์ เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะทำให้บริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดทั้งหมด 582 เมกะวัตต์ คาดว่าในปี 2569 บริษัทสามารถรับซื้อขยะ จำนวน 16,200 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 12.4 ล้านตัน

“ที่ผ่านมารัฐบาลเคยประกาศว่าปี 2593 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เราไม่กลัวเลย เพราะเราเดินหน้าไปก่อนแล้ว แค่ในปี 2569 บริษัทของเราก็ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์เกินไป 12.4 ล้านตันแล้ว ซึ่งเป็นแผนธุรกิจของเราที่ทำให้เราไม่กลัวในเรื่องนี้เลย โดยสิ่งที่ภาครัฐจะช่วยเรื่องนี้ได้คือ ตลาดคาร์บอน ปัจจุบันพบว่าแถบทวีปยุโรปมีการซื้อ-ขาย ในตลาดคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 90 ยูโรต่อตันคาร์บอน ส่วนจีนมีการซื้อ-ขาย ในตลาดคาร์บอน ราคาอยู่ที่ 7 เหรียญต่อตันคาร์บอน ซึ่งไม่ใช่ตลาดที่แปลกใหม่ เพราะประเทศทั่วโลกที่พัฒนาแล้วก็ดำเนินการเช่นกัน เพราะฉะนั้นไทยก็ควรมีและไม่ควรรอช้า”

11/5/2565  ฐานเศรษฐกิจ (11 พฤษภาคม 2565)

Youtube Channel