info@icons.co.th 02 810 8892-6 3.90.33.254

“ศักดิ์สยาม” ลุย 1.4 ล้านล้าน 59 โปรเจ็กต์ “มอเตอร์เวย์-รถไฟฟ้า”

Transportation News / ข่าวหมวดระบบขนส่ง

คิกออฟเป็นที่เรียบร้อย แผนดำเนินการปี 2565 ของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.กระทรวงคมนาคม กับโปรเจ็กต์เก่า-ใหม่ 59 โครงการ วงเงิน 1.491 ล้านล้านบาท

3 กรมถนนคว้าไป 2.81 แสนล้าน

งานสร้างทาง 12 โครงการ 281,205 ล้านบาท งานเร่งกรมทางหลวง ได้แก่ 1.มอเตอร์เวย์ บางขุนเทียน-บางบัวทอง 36 กม. 56,035 ล้านบาท 2.ขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ รังสิต-บางปะอิน 22 กม. 27,000 ล้านบาท 3.เชื่อมมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา กับมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 4.28 กม. 4,700 ล้านบาท 4.มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 18 กม. 29,550 ล้านบาท 5.มอเตอร์เวย์นครปฐม-ปากท่อ 63 กม. 51,760 ล้านบาท รัฐลงทุนงานโยธา เอกชนลงทุนงานระบบแบบ PPP Gross Cost ก่อสร้างปี 2567-2570

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 1.ทางด่วนขั้น 3 เชื่อมเกษตร-นวมินทร์-วงแหวน ตอ. 18.4 กม. 37,870 ล้านบาท 2.ทางด่วนฉลองรัช จตุโชติ-วงแหวน 17 กม. 21,919 ล้านบาท 3.ทางด่วนกะทู้-ป่าตองภูเก็ต 3.98 กม. 14,470 ล้านบาท 4.ทางด่วนเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ภูเก็ต 30 กม. 30,456 ล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท 1.ถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม 23.102 กม. วงเงิน 1,600 ล้านบาท 2.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) จ.อุบลราชธานี 26 กม. วงเงิน 4,765 ล้านบาท และ 3.โครงการแต่งแต้มสีสันทางหลวง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว วงเงิน 280 ล้านบาท เป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานข้างต้น

งานกรมการขนส่งทางบก ได้แก่ ศูนย์ขนส่งสินค้าชายแดน จ.นครพนม 121 ไร่ วงเงิน 1,361.36 ล้านบาท กำลังคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เริ่มสร้างปี 2565 แล้วเสร็จปี 2567

“งานราง” มี 5 โครงการ วงเงิน 624,879 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมี 3 โครงการ คือ 1.รถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323.10 กม. 85,345 ล้านบาท 2.รถไฟทางคู่สายใหม่ บ้านไผ่-นครพนม 355 กม. 67,965 ล้านบาท 3.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2 โครงการ คือ 1.สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 122,067 ล้านบาท 2.สายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. 124,958 ล้านบาท

ทางน้ำ 2 โครงการ 7,561 ล้านบาท คือ 1.สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง อ.พระนครศรีอยุธยา 4 กม. วงเงิน 1,010 ล้านบาท เขื่อนป้องกันตลิ่ง อ.พระนครศรีอยุธยา-อ.นครหลวง 13 กม. 5,105 ล้านบาท และ 2.ฟื้นฟูชายหาดจอมเทียน เฟสแรก 586 ล้านบาทเฟส 2 วงเงิน 420 ล้านบาท ชายหาดบางแสน 440 ล้านบาท

ทางอากาศ 4 โครงการ 59,448.01 ล้านบาท บมจ.ท่าอากาศยาน ลงทุน 1.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เฟสแรก 15,818.51 ล้านบาท 2.ท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 วงเงิน 36,829.50 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน ลงทุนท่าอากาศยานชุมพร 3,250 ล้านบาท และท่าอากาศยานระนอง 3,550 ล้านบาท

13 โปรเจ็กต์เก่าไม่ตกขบวน

ยังมีโครงการสานต่อข้ามปี 2564-2565 อีก 13 โครงการ วงเงิน 516,956.01 ล้านบาท ดังนี้

1.มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย 16.4 กม. 32,220 ล้านบาท 2.ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2,864.73 ล้านบาท

งานราง 7 โครงการ 476,154.98 ล้านบาท เป็นรถไฟทางคู่ 3 โครงการ 88,511.98 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ทางคู่ลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม. 20,679.98 ล้านบาท 2.ทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางจิระ 132 กม. 27,454 ล้านบาท และ 3.ทางคู่นครปฐม-ชุมพร 421 กม. 40,378 ล้านบาท, รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. 179,413 ล้านบาท

รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 3 โครงการ 208,230 ล้านบาท ได้แก่ 1.สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 35.9 กม. 109,135 ล้านบาท 2.สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี 34.5 กม. 50,970 ล้านบาท สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง 30.4 กม. 48,125 ล้านบาท

งานพัฒนา 4 สนามบิน ลงทุน 5,716.30 ล้านบาท ได้แก่ 1.สนามบินขอนแก่น 2,004.90 ล้านบาท 2.สนามบินสุราษฎร์ธานี 169 ล้านบาท 3.สนามบินกระบี่ 2,923.40 ล้านบาท และ 4.สนามบินบุรีรัมย์ 619 ล้านบาท

“ทางหลวง” ผ่าทางตัน “นครปฐม-ชะอำ”

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ส่งเรื่องให้กรมทบทวน โดยแบ่งงาน นครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 60 กม.

“ปากท่อ-ชะอำ” รอเจรจาหลังเคลียร์ปัญหากับประชาชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี คาดว่าจะเสนอข้อสรุปในเดือนธันวาคมนี้

“สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6” กำลังหารือแหล่งเงินทุน คาดลงนาม MOU ระหว่างไทย-สปป.ลาว ปี 2565 เริ่มสร้างปี 2567

การทางฯดัน 2 โปรเจ็กต์

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูนสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ กล่าวว่า ปีหน้าจะเร่งเปิดประมูลโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ “เกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก” 11.3 กม. ลงทุน 16,960 ล้านบาท หลังผ่านขั้นตอนแต่มีประเด็นคือ ค่างานโยธาเดิม 14,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ล้านบาท การทางพิเศษฯต้องหางบประมาณเพิ่มด้วยการออกพันธบัตรจำหน่าย

สำหรับทางด่วนสายฉลองรัช จตุโชติ-วงแหวนรอบที่ 3 กำลังสรุปผลจะแล้วเสร็จมีนาคม 2565 จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีรูปแบบที่วางไว้คือ ออกพันธบัตรจำหน่ายเพื่อระดมเงินลงทุน

ปีหน้าประมูลรถไฟฟ้า 3 สาย

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ปี 2565 ระบบรางจะประมูลรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่ สายสีส้ม สีม่วงใต้ และสีแดงส่วนต่อขยาย ในส่วนสีม่วงใต้ จะแยกงานระบบออกมาประมูลในรูปแบบ PPP และเดินหน้าพร้อมกับสายสีแดงส่วนต่อขยายอีก 4 เส้นทาง วงเงิน 6.7 หมื่นล้านบาทได้แก่ 1.สีแดงเข้ม รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2.สีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศาลายา 14.8 กม. วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท 3.สีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศิริราช 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และ 4.สีแดงอ่อน (Missing Link) บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท จะประมูลได้ในปี 2565

ชัดเจนเอา ART โละแทรม

รถไฟฟ้าในต่างจังหวัดสรุปว่า มีนำร่อง 3 แห่ง คือ ภูเก็ต นครราชสีมา และเชียงใหม่ รูปแบบจะเปลี่ยนจากรถไฟฟ้าล้อยาง (แทรม) เป็นรถเมล์ไฟฟ้า (ART) ที่คืบหน้ามากสุด คือ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบ เส้นทางก่อสร้างจากสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 42 กม. 21 สถานี วงเงิน 19,912 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จะแล้วเสร็จในปี 2564 โดยจัดทำรายงาน PPP เสร็จแล้ว

จ.เชียงใหม่ และ จ.นครราชสีมา ยังเป็นแนวเส้นทางเดิมคือ จ.เชียงใหม่ สายสีแดง โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี 15.8 กม. 16 สถานี 25,736 ล้านบาท และ จ.นครราชสีมา สายสีเขียว ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.15 กม. 21 สถานี 7,201 ล้านบาท

ทั้ง 2 จังหวัดอยู่ระหว่างนำผลศึกษาที่ใช้ใน จ.ภูเก็ต มาปรับเพิ่ม คาดใช้เวลาศึกษาตลอดปี 2565 ก่อนเสนอ 2 โครงการพ่วงไปกับโครงการของ จ.ภูเก็ต ตามแผนจะขออนุมัติในปี 2566

เสนอทางคู่เฟส 2 อีกครั้งปีหน้า

นายพิเชฐกล่าวอีกว่า ปี 2565 มีแผนเสนอรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีกครั้ง รวม 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กม. หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังไม่พิจารณาให้ความเห็นชอบ จากเหตุผลภาระงบประมาณของรัฐในช่วงโควิด-19 ได้แก่ 1.ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. 62,859.74 ล้านบาท 2.เด่นชัย-เชียงใหม่ 189 กม. 56,837.78 ล้านบาท 3.จิระ-อุบลราชธานี 308 กม. 37,527.10 ล้านบาท

4.ขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. 26,663 ล้านบาท 5.ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 168 กม. 24,294.39 ล้านบาท, 6.สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา 321 กม. 57,375.43 ล้านบาท และ 7.หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. 6,661.37 ล้านบาท

ชงไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2

ส่วนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-หนองคาย เฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย 350 กม. ลงทุนเบื้องต้น 350,000 ล้านบาท ขณะนี้ผลศึกษาโครงการเสร็จแล้ว จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในปี 2565 เช่นกัน

27/10/2564  ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (27 ตุลาคม 2564)

ช่องยูทูปของ iCONS